ส.อ.ท. หั่นเป้าผลิตรถยนต์ลงอีก 5 หมื่นคัน หลังอีวีตีตลาด-เข้มสินเชื่อรถ
กลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท. ปรับลดเป้าการผลิตรถยนต์ปี 66 เหลือ 1.85 ล้านคัน ลดลง 1.78% จากปีก่อน ลดเป้ายอดขายในประเทศ 50,000 คัน หลังอีวีนำเข้าตีตลาด บวกกับแบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อรถกระบะ ขณะที่คงเป้าส่งออกอยู่ที่ 1.05 ล้านคัน โดยยังต้องจับตาสงครามตะวันออกกลาง
เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2566 นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ได้ปรับเป้าประมาณการณ์ผลิตรถยนต์ในปี 2566 ลดลงอีก 50,000 คัน จากเดิม 1,900,000 คัน ทำให้คาดว่าการผลิตรถยนต์ในปีนี้ลดลงจากปีก่อน 1.78% อยู่ที่ 1,850,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 1,050,000 คันเท่าเดิม และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 800,000 คัน ปรับลดลงจากเป้าเดิม 5.88%
ทั้งนี้ในปี 2566 ส.อ.ท. ได้มีการปรับลดเป้าการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลงเป็นครั้งที่สอง โดยมีปัจจัยหลักจากการนำเข้ารถยนต์นั่งไฟฟ้า (อีวี) ที่เพิ่มมากขึ้น โดยในเดือนก.ย.รถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) มีสัดส่วนยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 11.08% จากยอดขายรถทั้งหมด
ขณะที่ยอดการจำหน่ายรถกระบะลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แม้จะยังมีดีมานด์อยู่แต่ไม่ผ่านเครดิตบูโร รวมถึงสถาบันการเงินบางแห่งยังกำหนดให้วางเงินดาวน์ถึง 30-40%
ขณะเดียวกันยังเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว การส่งออกหดตัว แรงงานมีรายได้ลดลง ขณะที่ค่าครองชีพอยู่ในระดับสูง
เมื่อพิจารณายอดการผลิตรถยนต์เดือน ก.ย.2566 มีทั้งสิ้น 164,093 คัน ลดลงจากปีก่อน 8.45% จากการผลิตเพื่อขายในประเทศลดลง 17.87% โดยเป็นการผลิตรถกระบะบรรทุกลดลง 47.13% และกระบะสี่ประตูลดลง 50.25% เพราะการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทำให้สัดส่วนการผลิตเพื่อขายในประเทศในเดือนก.ย. 2566 มีอยู่ที่ 36.56% เท่านั้น โดย 9 เดือนแรก (ม.ค.- ก.ย.2566) ผลิตรถยนต์ได้จำนวนทั้งสิ้น 1,385,971 คัน เพิ่มขึ้น 1.61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนก.ย. 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 62,086 คัน ลดลงจากปีก่อน 16.27% จากยอดขายรถกระบะที่ลดลง 45% เพราะความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินจากหนี้ครัวเรือนสูง รวมถึงยอดรถอีวีที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดรถยนต์นั่ง ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.2566) อยู่ที่ 586,870 คันลดลง 7.39% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
เมื่อแบ่งยอดขายรถเดือนก.ย. 2566 ตามประเภทเชื้อเพลิง ได้แก่
• รถยนต์สันดาปภายใน (ICE) 46,985 คัน ลดลงจากปีที่แล้ว 30.31%
• รถยนต์ไฟฟ้า (BEV) 6,881 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 437.16%
• รถยนต์ไฟฟ้าผสมแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) 74 คัน ลดลงจากปีที่แล้ว 81.07%
• รถยนต์ไฟฟ้าผสม (HEV) 8,146 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 61.18%
ขณะที่การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือนก.ย.2566 อยู่ที่ 97,476 คัน ลดลงจากปีก่อน 2.90% เนื่องจากปีที่แล้วเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมยานยนต์ทยอยได้รับเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เพิ่มขึ้นจึงมีการผลิตเพื่อส่งออกปริมาณสูง อย่างไรก็ตามในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.2566) มีการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 821,899 คัน เพิ่มขึ้น 16.34% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีมูลค่าการส่งออก 519,435.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.27%
“การส่งออกในปีนี้คาดว่ายังเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ที่ 1.05 ล้านคัน ทั้งนี้ยังจับตาสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางว่าจะมีการบานปลายและขยายวงกว้างขึ้นหรือไม่ เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกไปตลาดตะวันออกกลางกว่า 18% โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย และอาหรับเอมิเรตส์ แต่ส่งออกไปอิสราเอลไม่ถึง 1%”
ขณะที่ยอดการจดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) เดือนก.ย. 2566 ของรถยนต์นั่งไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) ยังคงเติบโตต่อเนื่อง อยู่ที่ 6,839 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 542.16% รวม 9 เดือนแรกปีนี้ อยู่ที่ 50,000 คัน เพิ่มขึ้น 757.63%
“แนวโน้มการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้ายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่นายกรัฐมนตรีย้ำว่าจะมีการส่งเสริมการลงทุนและการใช้รถอีวีในประเทศ รวมถึงการผลิตรถยนต์สันดาปภายในควบคู่กัน”
ทั้งนี้หากมีการอนุมัติมาตรการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV 3.5) ภายในสิ้นปีนี้ จะทำให้เกิดการลงทุนขนานใหญ่ขึ้นในไทยโดยตั้งแต่ปี 2567 จะเริ่มมีการผลิตรถอีวีในไทยเพื่อจำหน่ายในประเทศและเป็นการต่อยอดการส่งออกยานยนต์ซึ่งเป็นสินค้าอันดับหนึ่งของไทย โดยคาดว่าในปีหน้าเมื่อรวมรถอีวีและรถยนต์สันดาปภายในจะทำให้ไทยสามรถส่งออกรถยนต์ได้เกิน 1 ล้านคัน