แท็กซี่ อีวี AION ES พร้อมบริการปลายปี จับมือ 8 พันธมิตร ซ่อมบำรุง-ไฟแนนซ์
อีวี มี พลัส (EVme) ผู้ให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ให้เช่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี (EV) ขยายแผนธุรกิจ เข้าสู่ตลาด แท็กซี่ อีวี ก่อนหน้านี้ โดยร่วมกับ ไอออน ส่ง ไอออน อีเอส (AION ES) เข้าสู่ตลาด ล่าสุดจับมือพันธมิตร 8 ราย ด้านบริการ ซ่อม บำรุง การเงิน
หลังจากการประกาศรุกตลาด แท็กซี่ อีวี (EV) แล้ว บริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVme) ก็มีคำสั่งซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี (EV) คือ ไอออน อีเอส (AION ES) จำนวน 850 คัน
โดยรถดังกล่าว อีวี มี พลัส จะนำไปเป็นแท็กซี่ พร้อมขับ ที่ติดตั้งอุปกรณ์เกี่ยวข้องกับแท็กซี่ รวมถึงประกันภัย และที่สำคัญคือ การรับประกันแบตเตอรี 9 ปี หรือ 900,000 กม.
โดย AION ES สำหรับแท็กซี่มีราคาจำหน่าย 929,000 บาท ขณะที่ รุ่นสำหรับขายให้กับประชาชนทั่วไป ราคา 850,000 บาท แต่จะไม่มีอุปกรณ์แท็กซี่ และการรับประกันแบตเตอรีเหลือ 8 ปี หรือ 200,000 กม.
โดย อีวี มี พลัส ระบุว่า แท็กซี่ อีวี มีรถพร้อมส่งภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ โดยช่วงนี้บริษัทเตรียมความพร้อมให้บริการ โดยประกาศความร่วมมือกับพันธมิตร 8 ราย ประกอบด้วยพันธมิตรที่ให้บริการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ตัวถังและทำสี ได้แก่
- สหกรณ์สหมิตร
- สหกรณ์สุขสวัสดิ์
- สหกรณ์แท็กซี่อาสาสมัคร
- ไทยสมาย ลีสซิ่ง
นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรด้านการบริการสินเชื่อ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเงิน ประกอบด้วย
- ธนาคารทิสโก้
- มี แคปปิตอล
- มิตรสิบ ลิสซิ่ง
จิระพงศ์ เลาห์ขจร ประธานเจ้าหน้าที่การพาณิชย์ บริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVme) เปิดเผยว่า AION ES เพื่อการขนส่งสาธารณะ ได้รับกระแสตอบรับอย่างดี แลการจับมือกับ 7 พันธมิตรชั้นนำ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ อย่างจริงจัง พร้อมทั้งสร้างระบบ eco-system สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร
“เรามุ่งมั่นขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย (EV Adoption) ส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มุ่งสู่เป้าหมายของกลุ่ม ปตท. และประเทศในการส่งเสริมสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065”
ทั้งนี้ EVme มีเป้าหมายเจาะเข้าสู่ตลาดแท็กซี่ ทดแทน แท็กซี่ เดิมที่จะปลดระวางปีหน้า
โดยแท็กซี่มีอายุการใช้งานตามกฎหมาย 9 ปี มีจำนวนปลดระวางเฉลี่ยปีละ 6,000 คัน และจากการศึกษาข้อมูลพบว่า แท็กซี่ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยปีละ 6 ตัน/คัน
สำหรับ แรงจูงใจอย่างหนึ่งที่จะทำให้ผู้ขับเปลี่ยนมาใช้ แท็กซี่ อีวี คือ การประหยัดต้นทุนพลังงาน โดยพบว่า ต้นทุนค่าไฟอยู่ที่กิโลเมตรละ 0.75-1 บาท ซึ่งมีราคาถูกกว่าพลังงานอื่นๆ เช่น
- ก๊าซธรรมชาติ หรือ CNG มีต้นทุนประมาณกิโลเมตรละ 1.2 บาท
- ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG ประมาณกิโลเมตรละ 1.8 บาท
สำหรับ บริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVme Plus) จัดตั้งขึ้นโดย บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้ ปตท. เพื่อดำเนินธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าผ่านการให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม สอดคล้องตามกลยุทธ์ New S-Curve เพื่อสนับสนุนการขยายแผนการลงทุนในธุรกิจ EV ของ ปตท. เช่น
- บริการให้เช่ายานยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบบุคคลทั่วไป (B2C) และแบบองค์กร (B2B)
- จัดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าทั้งรถยนต์ และจักรยานยนต์ บริการข้อมูลเกี่ยวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า
- บริการสมาชิก EVme Club เพื่อดูแลและรองรับผู้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า
- EVme Subs บริการสัญญาเช่ารถยนต์ไฟฟ้าระยะยาวปัจจุบัน บริษัทฯ มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ และได้ขยายพื้นที่บริการไปยังจังหวัด เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต