รถ EV ก็มีปัญหากฎหมาย | พิเศษ เสตเสถียร
“รถยนต์ไฟฟ้า” หรือรถ EV เป็นนวัตกรรมใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นทุกวัน จากข้อมูลผู้ร่วมกิจกรรม “ซื้อรถ...ชิงรถ” ในงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 40”
เมื่อต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า “มีผู้ร่วมกิจกรรมสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว 22.4% โดยเป็นรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป 61.6% และเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 38.4%” แต่ก็เป็นที่แน่นอนเหมือนกันว่า อะไรที่มียอดขายเพิ่มขึ้นก็จะต้องมีปัญหากฎหมายตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รถยนต์ไฟฟ้า” ซึ่งเป็นของใหม่ก็จะมีปัญหากฎหมายใหม่ๆ ตามมาด้วย
เป็นที่ทราบกันดีว่า รถยนต์ไฟฟ้านั้นไม่มีเครื่องยนต์ มีแต่ตัวแบตเตอรี่ที่ให้พลังงานไฟฟ้าแก่รถยนต์ และเมื่อเกิดอุบัติเหตุอย่างรุนแรงขึ้นก็เป็นไปได้ว่าแบตเตอรี่นั้นถูกกระทบกระเทือนจนเกิดไฟไหม้รถยนต์
คดีที่ฮือฮามากในสหรัฐเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางรถยนต์ (แต่ไม่ได้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า) คือ คดี Grimshaw v. Ford Motor Company คดีนี้เกิดขึ้นในปี 2524 โดยมีข้อเท็จจริงคือ นาง Lily Gray ขับรถยนต์ Ford Pinto แบบ hatchback ถูกรถยนต์อื่นมาชนท้ายและเกิดเพลิงไหม้ นาง Gray ถูกไฟไหม้อย่างรุนแรงทั่วร่างกายและส่งผลให้เธอเสียชีวิต
ส่วน Richard Grimshaw วัย 13 ปี ซึ่งเป็นผู้โดยสารได้รับความทุกข์ทรมานจากแผลไหม้ทั่วร่างกายอย่างรุนแรงและถาวร สาเหตุของไฟไหม้นั้นเกิดจากการออกแบบรถยนต์ Ford Pinto ที่ต้องการประหยัด
จึงได้ออกแบบรถยนต์ให้เป็นท้ายแบบ hatchback และวางตำแหน่งถังน้ำมันไว้ตอนท้ายรถยนต์ ดังนั้น เมื่อรถยนต์ถูกชนท้ายจึงทำให้ถังน้ำมันได้รับความกระทบกระเทือนและเกิดไฟไหม้ขึ้น ศาลตัดสินว่าบริษัท Ford เป็นฝ่ายผิดและให้ชดใช้ค่าทดแทนให้กับโจทก์เป็นเงิน 3.5 ล้านดอลลาร์
ส่วนที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าก็มีเช่นคดีที่เกิดขึ้นในศาล Broward County รัฐ Florida เมื่อเดือน ต.ค.2562 เมื่อนาย Omar Awan ขับรถยนต์ Tesla Model S ชนต้นไม้ แบตเตอรี่เกิดไฟลุกไหม้ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถช่วยนาย Awan ออกจากรถยนต์ได้เพราะที่เปิดประตูของรถยนต์ Tesla เป็นแบบพับเก็บได้ (retractable) ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ไม่รู้ว่าจะเปิดอย่างไรในเวลาฉุกเฉิน ทำให้นาย Awan ต้องเสียชีวิตในที่สุด
เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ก็เกิดเพลิงไหม้ใหญ่ที่สนามบิน Luton ประเทศอังกฤษ เพลิงไหม้ครั้งนี้ทำความเสียหายแก่โครงสร้างของอาคารจอดรถทำให้ถล่มลงมา มีรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายกว่า 1,500 คันและมีผู้บาดเจ็บหลายคน
เพลิงไหม้ครั้งนี้เชื่อกันว่าเกิดจากแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าเกิดระเบิด แม้ทางเจ้าหน้าที่ของสนามบินจะออกมาแถลงว่าจากหลักฐานที่พบเชื่อว่าเกิดจากรถยนต์ธรรมดาก็ตาม
แต่คุณรู้ไหมครับ เขาว่ากันว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะมี “กล่องดำ” (black box) เหมือนกับเครื่องบินที่จะเก็บข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับผู้ใช้รถและการขับรถ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและบริษัทรับประกันภัย ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เป็น “ข้อมูลส่วนบุคคล” อย่างหนึ่ง
การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลก็ต้องทำตามกฎหมายคือ “พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562” ด้วยนะครับ ไม่ใช่ทำได้ตามใจชอบ