BYD ก๊อปปี้ พัฒนาและสร้างฝัน | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
เมื่อ 30 ปีก่อน ผมไปเที่ยวที่ “คุนหมิง” ประเทศจีน สภาพบ้านเมืองยังแย่และล้าหลังกว่าบ้านเราในสมัยนั้นมากมาย โดยเฉพาะห้องถ่ายทุกข์ ทำให้ผมท้องผูกเป็นอาทิตย์
แต่วันนี้ประเทศจีนเปลี่ยนไปมากมายแบบก้าวกระโดด คือ ถ้าหากจีนอยู่เฉยๆ ผมไม่แน่ใจว่าอีก 30 ปีข้างหน้า บ้านเมืองของเราจะทันเขาในสภาพวันนี้ไหม โดยเฉพาะเรื่องความทันสมัย เทคโนโลยี การก่อสร้าง และอุตสาหกรรม
เฉกเช่นเดียวกับ การเติบโตของรถ EV ภายใต้แบรนด์ BYD ภายในไม่กี่ปีเท่านั้นเอง
รถยนต์ BYD ก่อตั้งโดย “หวัง ชวนฟู” ที่มาจากครอบครัวชาวนาและเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่วัยรุ่น แต่วันนี้เขาประสบความสำเร็จอย่างยิ่งจนชื่อดังก้องโลก จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความมานะพยายาม
ก่อนที่ “หวัง ชวนฟู” (Wang Chuanfu) จะกลายมาเป็นมหาเศรษฐีอย่างที่โลกรู้จักกันอย่างทุกวันนี้ อาจไม่มีใครรู้ว่าเขาเคยลำบากยากแค้นมาก่อน ขนาดที่ว่าเติบโตมาแบบต้องลุ้นกันวันต่อวัน
หวัง ชวนฟู เกิดในครอบครัวชาวนาที่ยากจนมาก อยู่ในมณฑลอายฮุย ซึ่งเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศจีน เขากลายเป็นเด็กกำพร้าทั้งพ่อแม่ตั้งแต่ย่างเข้าวัยรุ่น โดยคนที่เลี้ยงดูเขาต่อจากนั้นก็คือพี่ชายและพี่สาวแท้ๆ ของเขา เขาต้องขอยืมเงินจากเพื่อนบ้านเพื่อมาเป็นทุนในการเรียนหนังสือ รวมทั้งค่าอาหารเล็กๆ น้อยๆ
ด้วยเงื่อนไขชีวิตที่ขาดแคลนหลายอย่าง ทำให้เขาเป็นคนที่ตั้งใจเรียนมาก ขยันและมีความมานะจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี ค.ศ.1987 ในด้านเคมีฟิสิกส์ของโลหะวิทยา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเซ็นทรัลเซาท์ และปริญญาโทในด้านวัสดุจากสถาบัน Beijing Non-Ferrous Research Institute ในปี ค.ศ.1990
เขาเริ่มทำงานในปี ค.ศ.1990 และมีโอกาสได้นั่งเป็นรองประธาน “สถาบันวิจัยโลหะที่ไม่ใช่กลุ่มเหล็ก” แห่งปักกิ่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของรัฐบาลจีน ประสบการณ์ 5 ปีจากที่นี่ทำให้เขาหันหน้าเข้าสู่วงการธุรกิจเต็มตัว
โดยเขาตัดสินใจก่อตั้งบริษัท “Shenzhen BYD Battery Company” ในปี ค.ศ.1995 โดยเริ่มจากการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่เป็นความถนัดของเขาก่อน
ชื่อบริษัท BYD ย่อมาจากคำว่า “Build Your Dream” (สร้างความฝันของคุณ)
เขามองว่าธุรกิจหลายอย่างมีโอกาสเติบโตสูงมากในจีนและตลาดโลก รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ซึ่ง BYD Battery เริ่มจากการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ตอนเริ่มต้น BYD Battery มีพนักงานเพียง 20 คน แต่ปัจจุบันมีพนักงานรวมทั้งหมดมากกว่า 230,000 คนแล้ว
หวัง ชวนฟู ให้สัมภาษณ์กับสื่อจีนด้วยการยอมรับตรงๆ ว่า ช่วงแรกที่ก่อตั้งบริษัทพัฒนาแบตเตอรี่ เขาจำเป็นต้องลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์จากชาติตะวันตก แต่สิ่งที่เขาทำมากกว่านั้น ก็คือ การทำวิจัยและพัฒนาต่อยอดให้เทคโนโลยีทันสมัยมากกว่า
โดยให้ทีมวิจัยของเขาแยกแบตเตอรี่ SONY หรือ SANYO ออกจากกัน แล้ววิเคราะห์ว่า พวกเขาประกอบกันอย่างไร จากนั้นก็สร้างแบตเตอรี่ที่คล้ายกัน แต่อยู่ภายใต้ชื่อของ BYD
“การลอกเลียนแบบจะเกิดขึ้นในช่วงแรกเท่านั้น ซึ่งเราไม่ต่างกับบริษัทอื่นในจีน แต่ที่เราทุ่มเทมากกว่านั้น คือ เงินเพื่อการวิจัยและเวลาเพื่อให้ทีม R&D ได้ศึกษาอย่างเต็มที่ เพื่อให้เราแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ของโลกตะวันตก คือ ผลิตภัณฑ์ของเราต้องดีกว่า และมีคุณภาพมากกว่า”
ด้วยระยะเวลาเพียงไม่ถึง10 ปี BYD Battery ก็สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้กว่า 50% ในตลาดแบตเตอรี่สำหรับโทรศัพท์มือถือ และกลายเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟรายใหญ่ที่สุดในจีน แต่ความฝันของหวัง ชวนฟู ไม่ได้หยุดอยู่ที่การพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่เท่านั้น
หวัง ชวนฟู มองว่า การทำธุรกิจไม่สามารถหยุดอยู่ที่ธุรกิจประเภทใดประเภทหนึ่งได้ หมายความว่า ถ้าเขายังทำแบตเตอรี่อย่างเดียวต่อไป วันหนึ่งอาจจะมีคู่แข่งใหม่ๆ เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดนั้นได้
ตอนนั้น “ยานยนต์” คือ สิ่งที่เขาสนใจ เพราะเขาคิดว่า “อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง และน่าจะคู่ไปกับการพัฒนาแบตเตอรี่ได้ แต่สิ่งที่กังวลก็คือ ธุรกิจรถยนต์เป็นสิ่งที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก และมีความเสี่ยงสูงมากเช่นกัน”
อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ.2003 เขาตัดสินใจขยายไลน์ธุรกิจเป็น BYD Motor ภายใต้แนวความคิดของ “การเป็นยานยนต์พลังงานสะอาด” ที่จะมีทั้งรถยนต์ รถบัส รถตู้ รถบรรทุก เป็นต้น จึงได้เข้าซื้อกิจการ Tsinchuan Automobile มาเป็นบริษัทลูกของ BYD จากนั้นก็เปลี่ยนชื่อเป็น “BYD Auto”
ในปี ค.ศ.2008 BYD Auto สามารถผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบปลั๊กอิน-ไฮบริด (PHEV) เป็นคันแรกของโลก โดยตั้งชื่อว่า “BYD Auto’s F3DM PHEV-60 hatchback” นับว่าการเปิดตัวรถยนต์ไฮบริดครั้งนั้น ทำให้หลายประเทศเริ่มรู้จัก BYD มากขึ้น
ความสำเร็จของ BYD ไปถึงหูของ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” (Warren Buffett) นักลงทุนชื่อดังระดับโลกที่แสดงความสนใจอย่างมาก จนสุดท้าย วอร์เรน บัฟเฟตต์ เขาได้เข้าถือหุ้นในบริษัท BYD 10% ดังนั้น ถ้าจะบอกว่า BYD เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก เพราะวอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ไม่ผิด
ซึ่งเคยมีนักวิเคราะห์พูดไว้ว่า “BYD ต้องเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพมากหรือมีโอกาสเติบโตสูงมาก ถึงทำให้วอร์เรน บัฟเฟตต์ สนใจเข้าถือหุ้น”
หวัง ชวนฟู มักจะพูดเสมอเกี่ยวกับธุรกิจของเขาว่า “BYD ก็ยังเป็นการสร้างความฝันของผมอยู่ เพราะความพยายามและการพัฒนาอยู่เสมอของพวกเรา ทำให้ฝันกลายเป็นจริง แต่ผมจะยังพัฒนาต่อไปไม่หยุด เพราะสิ่งที่ทำนั้น มันสามารถต่อยอดเชื่อมหากันได้หมด”
ทุกวันนี้ ใครจะเชื่อว่า รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ชื่อ “BYD” ของจีน จะสามารถเขย่าอุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นและโลกตะวันตกจนสั่นสะเทือนได้เร็วและรุนแรงขนาดนี้
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ทำให้ได้ “ข้อคิดสำคัญ” ก็คือ จุดเริ่มต้นของทุกธุรกิจอุตสาหกรรม รวมทั้งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ หรือ นวัตกรรม มักจะมาจาก “การลอกเลียนแบบและพัฒนา” (CND : Copy And Development) ก่อน
ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนเป็น “การวิจัยและพัฒนา” (RND : Research And Development) เพื่อสร้าง “เอกลักษณ์” ที่โดดเด่นของสินค้าและบริการของตนเอง ที่จะต้องดีกว่าและมีคุณภาพมากกว่า
เรื่องของผู้ก่อตั้ง BYD นี้ จึงบอกใบ้ให้เรารู้ว่า “เทคโนโลยี” สามารถเพิ่มผลผลิต และสร้างนวัตกรรมในตัวสินค้าหรือบริการอย่างเห็นผลชัดเจน ส่วนจะลอกเลียนหรือสร้างขึ้นใหม่ ก็ไม่สำคัญ แต่ดีกว่าอยู่แบบเดิมๆ โดยไม่เปลี่ยนแปลงเลย ครับผม!