โลกการค้าเสรี มาถึงจุดเปลี่ยน? เมื่อสหรัฐอาจตั้งกำแพงภาษีสูงสกัด 'รถจีน'
เมื่อสหรัฐกำลังเสียส่วนแบ่งการค้าให้จีนมากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากยอดขายรถแบรนด์สหรัฐของโลกได้ตกอันดับลง จนหันมาขึ้นกำแพงภาษีแทน สิ่งนี้จะนำไปสู่ “จุดสิ้นสุด” ของระเบียบการค้าเสรีที่นานาชาติยึดถือหรือไม่
Key Points
- อีลอน มัสก์ ซีอีโอของ Tesla กล่าวว่า “อุตสาหกรรมรถของประเทศต่าง ๆ จะถูกรถจีนบดขยี้เกือบหมด ถ้าไม่ตั้งกำแพงภาษี”
- ในปี 2566 จีนเป็นประเทศที่ส่งออกรถยนต์ “มากที่สุดในโลก” ด้วยจำนวนมากกว่า 5 ล้านคันจนแซงหน้าญี่ปุ่น
- คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังสอบสวนค่ายรถจากจีน ในประเด็น “ตั้งราคารถถูกเกินจริง” เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด และได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลปักกิ่ง
แต่ไหนแต่ไรมา ระเบียบโลกที่นานาประเทศ รวมถึง “ไทย” ยึดถือมาโดยตลอด คือ “การค้าเสรี” จนเกิดเป็นองค์การค้าโลก (WTO) ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้แต่ละประเทศลดกำแพงภาษีหรือถึงขั้นทลายกำแพงระหว่างกัน ให้การค้าขายเป็นไปอย่างคล่องตัว และช่วยลดต้นทุนสินค้าด้านภาษีด้วย
แต่ในปัจจุบัน ระเบียบโลกดังกล่าวกำลัง “กลับทิศ” เมื่อสหรัฐ ผู้นำระเบียบโลกและเคยเป็นตัวตั้งตัวตีของระเบียบนี้ ได้ขึ้นกำแพงภาษีสินค้าจากจีนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ พลาสติก เคมีภัณฑ์ รวมถึงล็อบบี้ประเทศพันธมิตรไม่ให้ส่งออกชิปขั้นสูงไปยังจีน และสหภาพยุโรป (EU) ก็สนับสนุนมาตรการดังกล่าว ซึ่งการปิดกั้น ขึ้นกำแพงภาษี และพยายามแยกฐานผลิตออกจากจีน ได้ท้าทายการค้าเสรีที่เป็นอยู่ และกำลังทำให้ระเบียบโลกเดิมเปลี่ยนไป
- สหรัฐ-ยุโรป ถูกจีนรุกคืบทางเศรษฐกิจ
สำหรับจุดเปลี่ยน คือ ในการค้าขายระหว่างสหรัฐ-ยุโรปกับจีน สหรัฐกับยุโรปเริ่มขาดดุลการค้าให้จีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมในประเทศที่ถูกบรรดาบริษัทแดนมังกรเข้ามาชิงส่วนแบ่ง ด้วยคุณภาพสินค้าใกล้เคียงกัน แต่ราคาสินค้าจีนกลับจับต้องได้มากกว่า
หนึ่งในอุตสาหกรรมที่เห็นชัดที่สุด คือ “รถยนต์” โดยข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ในจีน (CAAM) ระบุว่า ในปี 2566 จีนเป็นประเทศที่ส่งออกรถยนต์ “มากที่สุดในโลก” ด้วยจำนวนมากกว่า 5 ล้านคันจนแซงหน้าญี่ปุ่น
ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐ (U.S. Bureau of Economic Analysis) ระบุว่า ยอดส่งออกรถของสหรัฐนับตั้งแต่ปี 2559 ที่เป็นจุดสูงสุด จนถึงปี 2565 “ลดลง” มากถึง 25% และในปี 2566 สหรัฐตกอยู่ในอันดับ 6 ของโลกด้านการส่งออกรถ
แม้ว่าในขณะนี้ รถจีนจะยังไม่สามารถตีตลาดสหรัฐได้ เพราะแบรนด์รถสหรัฐอย่าง GM (จีเอ็ม), Ford (ฟอร์ด) และแบรนด์ญี่ปุ่นกำลังครองตลาดอยู่ แต่เหล่าค่ายรถสหรัฐกลับเริ่มกังวลเกี่ยวกับกระแสนิยมที่สูงขึ้นของรถจากจีนแล้ว และมองว่าเป็นคู่แข่งอันดับ 1 ของตน
อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทรถ Tesla (เทสลา) กล่าวในสัปดาห์ที่แล้วว่า “อุตสาหกรรมรถของประเทศต่าง ๆ จะถูกรถจีนบดขยี้เกือบหมด ถ้าไม่ตั้งกำแพงภาษี”
อันที่จริง สหรัฐได้ตั้งกำแพงภาษีรถจากจีนแล้วตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์มาจนถึงยุคปัจจุบัน สูงถึง 27.5% แต่ยังไม่สามารถทำให้รถสหรัฐพอแข่งขันด้านราคากับจีนได้
รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กอย่าง BYD Seagull ของ BYD (บีวายดี) ค่ายรถสัญชาติจีน มีราคาเริ่มต้นที่ราว 11,400 ดอลลาร์ ขณะที่ราคารถ EV สหรัฐเริ่มต้นที่ราว 15,000 - 50,000 ดอลลาร์ สะท้อนว่า รถจากจีนก็ยังคงถูกกว่าสหรัฐ แม้จะถูกเก็บภาษีที่ 27.5% แล้วก็ตาม
- BYD Seagull (เครดิต: BYD) -
คริสติน ดีซิคเซค (Kristin Dziczek) ที่ปรึกษาด้านนโยบายยานยนต์ของธนาคารกลางสหรัฐในสาขาชิคาโก ถึงกับกล่าวว่า “รถยนต์จีน ถือเป็นคู่แข่งที่น่าสะพรึงกลัว พวกเรา (ค่ายรถสหรัฐ) จะลดราคาลงครึ่งหนึ่งได้อย่างไรกับต้นทุนที่มีอยู่ แต่จีนทำสำเร็จแล้ว”
- ความยิ่งใหญ่ค่ายรถจีน ไม่ใช่เพราะราคาถูกอย่างเดียว
ถ้ามองว่า “ราคาถูก” เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้รถยนต์จีนเติบโตไปทั่วโลก จนขึ้นเป็นผู้ส่งออกรถสูงสุดอันดับ 1 ของโลกแทนญี่ปุ่น คำตอบนี้อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะนอกจากเรื่องราคาถูกแล้ว “คุณภาพรถจีน” ยังได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย มีฟังก์ชันและลูกเล่นแบบจัดเต็มจนพอทัดเทียมค่ายรถตะวันตก ซึ่งสะท้อนถึงการบริหารต้นทุนผลิต และการวางโครงสร้างจัดการได้อย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ
ช่วงที่ BYD ค่ายรถชั้นนำของจีนนี้กำลังพัฒนาแบตเตอรี่รุ่นใหม่ บริษัทรถรายอื่นได้ถอยห่างจากแบตเตอรี่แบบ LFP เพราะมองว่าหนักและให้พลังงานไฟฟ้าที่ไม่ค่อยดี แต่ BYD กลับมองต่าง โดยนำมาพัฒนาต่อให้มีความหนาแน่นทางพลังงานสูง ช่วยให้ชาร์จไฟได้เร็ว และระบายความร้อนได้ดี จนกลายมาเป็นแบตเตอรี่รุ่นใหม่ที่ชื่อว่า “Blade Battery” สุดยอดนวัตกรรมจาก BYD
- Blade Battery ของรถ BYD (เครดิต: BYD Europe) -
นอกจากนั้น Blade Battery ของ BYD ยังล้ำสมัยจน Mercedes-Benz (เมอร์เซเดส-เบนซ์) ค่ายรถหรูรายใหญ่ของเยอรมนี เตรียมนำมาใช้ในรถตัวเองภายในปี 2568 ไม่เว้นแม้แต่ค่ายรถอื่น ๆ อย่าง Tesla, Ford, Toyota และ Hyundai ก็มีรถ EV ที่ผลิตโดยใช้ Blade Battery จาก BYD แล้ว สะท้อนว่าค่ายรถอื่นกำลังตามจีนในตอนนี้
ในไตรมาส 4 ปี 2566 ยอดขายรถ EV ของ BYD ได้ขึ้นแซงหน้า Tesla และ ยูนิซ ลี (Eunice Lee) นักวิเคราะห์ด้านการลงทุนของบริษัท Bernstein คาดการณ์ว่า การเติบโตของ BYD ไปทั่วโลก จะทำให้บริษัทมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ของกำไรอยู่ที่ 29% ไปจนถึงปี 2568
- สหรัฐ-ยุโรป ร่วมใจหาทางสกัดรถแบรนด์จีน
การที่ค่ายรถจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด และอาจแซงชนะแบรนด์รถอเมริกันในสหรัฐ ทำให้รัฐบาลวอชิงตันเล็งเก็บภาษีรถยนต์จีนเพิ่ม โดยระบุเหตุผลว่า “รถ EV จากจีนส่อเป็นภัยความมั่นคงแห่งชาติขั้นร้ายแรง”
ไม่เพียงเท่านั้น คณะกรรมาธิการยุโรปก็กำลังสอบสวนค่ายรถจากจีน ในประเด็น “ตั้งราคารถถูกเกินจริง” เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด และได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งผลของการสอบสวน อาจทำให้ EU มีมาตรการทางภาษีตามมา
- สินค้าราคาถูกจากจีน อาจช่วยกดเงินเฟ้อ
แม้สินค้าราคาถูกจากจีนจะกระทบต่อผู้ค้าท้องถิ่น แต่ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญ คือ สินค้าจีนยังช่วยกดเงินเฟ้อด้วย เพราะสินค้าสำเร็จรูปต่าง ๆ ไม่ว่าโคมไฟ เสื้อผ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า ฯลฯ ถ้าไม่ได้ใช้วัตถุดิบที่ผลิตจากจีนแล้ว ราคาสินค้าเหล่านี้อาจจะสูงขึ้นไม่น้อย
ด้วยเหตุนี้ แม้การบังคับใช้มาตรการกำแพงภาษี จะช่วยชะลอสินค้าจากคู่แข่งต่างชาติ และปกป้องผู้ค้าในประเทศ แต่ผลกระทบที่ตามมา คือ ต้นทุนสินค้าต่าง ๆ มีแนวโน้มสูงขึ้น จนอาจกระทบต่อค่าครองชีพได้
อีกทั้งการขึ้นกำแพงภาษียังอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศสงครามทางการค้าด้วย เพราะประเทศที่ถูกตั้งกำแพง ก็อาจตอบโต้กลับด้วยมาตรการเดียวกัน กลายเป็นทำให้ต้นทุนสิ่งของโดยรวมแพงขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนจาก “การเปิดเสรี” มาเป็น “ตั้งกำแพงภาษี” ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ของผู้นำโลกอย่างสหรัฐ และยุโรป รวมถึงจีนก็ตอบโต้กลับด้วยการตั้งกำแพงตาม กำลังเปลี่ยนระเบียบโลกเดิมที่เป็นอยู่ และไทยต้องเตรียมรับมือ
อ้างอิง: กรุงเทพธุรกิจ, กรุงเทพธุรกิจ2, cnbc, cnbc(2), cnbc(3), cnbc(4)