อีก 2 ปี เตรียมรับมือ! ‘แบตฯ EV’ อาจแพงขึ้นอีก เพราะ ‘ลิเทียม’ ขาดแคลนในปี 68
“ลิเทียม” วัตถุดิบสำคัญสำหรับผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อาจถึงคราวขาดแคลนทั่วโลกภายในปี 2568 เร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดคิด จนทำให้ราคาแบตเตอรี่แพงขึ้นได้ โดยบรรดานักวิเคราะห์มีมุมมองต่อความขาดแคลนเช่นนี้อย่างไรบ้าง
Key Points
- ภายในปี 2573 องค์กร World Economic Forum คาดการณ์ว่า ความต้องการแร่ลิเทียมของโลกจะมากกว่า 3 ล้านตัน
- ความต้องการลิเทียมมีแนวโน้มสูงขึ้นมาก จนขาดแคลนแร่ 40,000 - 60,000 ตันภายในปี 2568 และจะขยายขึ้นเป็น 768,000 ตันภายในปี 2573
- ราคาลิเทียมเคยขึ้นแตะระดับสูงสุดที่เกือบ 600,000 หยวนต่อตันใน เดือน พ.ย. ปี 2565 สูงกว่าราคาเดือน ม.ค. ปี 2564 ถึงกว่า 12 เท่า
เดิมนั้น หลายคนเชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) และแบตเตอรี่ EV มีแนวโน้มราคาถูกลงเรื่อย ๆ จากจำนวนรถ EV ที่ผลิตออกมามากขึ้น อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว CNBC รายงานว่า “แร่ลิเทียม” (Lithium) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของการผลิตแบตเตอรี่ EV มีแนวโน้มขาดแคลนภายในปี 2568 โดย BMI Research บริษัทวิจัยด้านเศรษฐกิจมหภาคมองว่า ทั่วโลกอาจขาดแคลนแร่ลิเทียม ภายในปี 2568
- รถ EV (เครดิต: Freepik) -
- “ลิเทียม” ไม่เพียงพอกับความต้องการ
รายงานของ BMI Research คาดการณ์ว่า ความต้องการแร่ลิเทียมของจีนจะเติบโตเฉลี่ยต่อปี อยู่ที่ 20.4% ในช่วงปี 2566-2575
ขณะเดียวกัน การผลิตแร่ลิเทียมของจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตแร่ลิเทียมใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก จะโตเพียง 6% ในช่วงเวลาเดียวกัน ด้วยความไม่สอดคล้องนี้ จึงสามารถนำมาสู่ “ภาวะขาดแคลนลิเทียม”
สำหรับการผลิตแร่ลิเทียมของทั้งโลก คือ 540,000 ตันในปี 2564 และภายในปี 2573 องค์กร World Economic Forum คาดการณ์ว่า ความต้องการแร่ลิเทียมของโลกจะมากกว่า 3 ล้านตัน
นอกจากนั้น จากแผนจำลองอนาคตของบริษัท S&P Global Commodity Insights ผู้ให้ข้อมูลสินค้าโภคภัณฑ์ ระบุว่า ยอดขายรถ EV จะขึ้นแตะ 13.8 ล้านคันในปี 2566 และจะขึ้นทะยานสู่จำนวนมากกว่า 30 ล้านคันภายในปี 2573
คอรีนน์ แบลนเชิร์ด (Corinne Blanchard) นักวิเคราะห์แห่งศูนย์วิจัยหุ้นเทคโนโลยีพลังงานสะอาด และลิเทียมของธนาคาร Deutsche แสดงความเห็นว่า “เราเชื่ออย่างหนักแน่นว่า ลิเทียมจะขาดแคลน โดยความต้องการแร่นี้จะสูงขึ้นมากจนขาดแคลนแร่ 40,000 - 60,000 ตันภายในปี 2568 และจะขยายขึ้นเป็น 768,000 ตันภายในปี 2573”
- แร่ลิเทียม (เครดิต: Tawana Resources) -
- นักวิเคราะห์มอง ยังไม่ขาดแคลนในเร็วๆ นี้
นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า ลิเทียมยังไม่ขาดแคลนในเร็ว ๆ นี้ แต่อาจไม่เพียงพอในช่วงปลายทศวรรษ โดย Rystad Energy บริษัทวิจัยด้านพลังงาน ให้ความเห็นว่า เนื่องจากเหมืองลิเทียมและโครงการสำรวจแร่มีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงช่วยรองรับความต้องการแร่ขาขึ้น และยืดระยะเวลาขาดแคลนออกไปอีก 2-3 ปี
Rystad Energy ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ขณะนี้มีโครงการลิเทียมหลายร้อยโครงการ อยู่ในระหว่างการสำรวจ แต่ด้วยความซับซ้อนทางธรณีวิทยาและกระบวนการอนุมัติสำรวจแร่ที่ใช้เวลา จึงกลายเป็นความท้าทายอันสำคัญ
ข้อมูลจาก Refinitiv ผู้ให้บริการข้อมูลตลาดการเงิน ระบุว่า ทั่วโลกมีเหมืองลิเทียมเพียง 101 แห่งในปัจจุบัน ซึ่งซูซาน โจว (Susan Zou) รองประธานบริษัท Rystad Energy ประเมินว่า อุปทานเหมืองลิเทียมจะเพิ่มขึ้นเป็นรายปีที่ 30% และ 40% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยเหล่าบริษัทขุดจะเพิ่มการลงทุนในเหมืองใหม่และเหมืองที่กำลังขุด เพื่อสอดรับกับกระแสโลกที่เปลี่ยนไปสู่ยุค EV
โจวกล่าวว่า “ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ถึงแม้อุปทานลิเทียมอาจเพียงพอสำหรับชาวโลก แต่ในอนาคต โลกก็ไม่สามารถหลีกหนีความไม่สมดุลระหว่างอุปทานแร่กับอุปสงค์ได้” สะท้อนว่า ความสามารถในการขุดในภูมิภาคสหรัฐและยุโรป อาจไม่สามารถไล่ตามความต้องการแร่ เพื่อผลิตแบตเตอรี่ EV
จากฉากทัศน์ดังกล่าว โจวระบุว่า ราคาลิเทียมสามารถพุ่งแตะระดับสูงสุดในปี 2565 ทำให้ต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่สูงขึ้นตามไปด้วย โดยราคาลิเทียมเคยขึ้นแตะระดับสูงสุดที่เกือบ 600,000 หยวนต่อตันใน เดือน พ.ย. 2565 สูงกว่าราคาเดือนใน ม.ค. 2564 ถึงกว่า 12 เท่า
- สร้างเหมืองแร่ลิเทียม “ไม่ง่าย”
Wood Mackenzie บริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานคาดการณ์ว่า จะเห็นอุปทานลิเทียมล้นตลาดในเวลาอันใกล้นี้
ขณะที่อัลลัน ปีเดอร์เซน (Allan Pedersen) ผู้อำนวยการวิจัยวัสดุแบตเตอรี่และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ฉายมุมมองว่า ความต้องการลิเทียมที่เติบโต และโครงการผลิตแร่ที่น้อยลงในต้นปี 2573 สามารถทำให้แร่ขาดแคลน โดยความเสี่ยงสำคัญของแร่ลิเทียม มีแนวโน้มมาจากการทำเหมืองแร่ใหม่และกระบวนการอนุมัติที่ล่าช้า
ออสติน เดวานีย์ (Austin Devaney) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ (CCO) ของบริษัทเหมืองแร่ Piedmont Lithium ให้ข้อมูลว่า เหมืองลิเทียมใช้เวลา 10 ปีหรือนานกว่านั้น ตั้งแต่การสำรวจครั้งแรกจนถึงการขุดเหมืองอย่างเต็มรูปแบบ
- เหมืองแร่ลิเทียม (เครดิต: Freepik) -
นอกจากแร่ลิเทียมแล้ว แร่ตัวที่สองคือ “โคบอลต์” ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่ EV โดยมากกว่า 70% ถูกผลิตในประเทศคองโก สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดว่า มีโอกาสจะขาดแคลนภายในปี 2573 หรืออย่างเร็วที่สุดคือในปี 2568 และแร่ตัวที่สามสำหรับแบตเตอรี่ EV คือ “นิกเกิล” ผลิตมากที่สุดในอินโดนีเซีย มีแนวโน้มว่าจะขาดแคลนภายในปี 2583
อ้างอิง: cnbc, nytimes, steelnews