ทำไม "Toyota" ถึงยอมตกขบวน ไม่ผลิต EV ทั้งคันออกมาขาย?
ชวนอ่านเบื้องลึก! ทำไม "Toyota" เบอร์หนึ่งค่ายรถยนต์โลก ถึงยอมตกขบวน ไม่ผลิตรถ EV ทั้งคันออกมาขาย ทั้งที่กระแสรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวี มาแรงสุดๆ
ท่ามกลางกระแส "EV" ที่ใครๆ ก็พูดถึง ค่ายรถทั้งรายเก่าและหน้าใหม่ตบเท้าลงสนามเพียบ แต่สำหรับ “Toyota” ค่ายรถที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดในโลก ด้วยยอดขายสูงถึง 10.5 ล้านคัน ในปี 2021 กลับมีสัดส่วนการผลิตรถที่ใช้เชื้อเพลิงเดิม ซึ่งก็คือ "น้ำมัน" เป็น “ส่วนใหญ่” หรือไม่ก็เป็น "รถไฮบริด" ลูกผสมระหว่างเชื้อเพลิงกับไฟฟ้า โดย EV หรือ “รถไฟฟ้า 100%” ที่เราเห็นจาก Toyota กลับมีเพียงแค่รุ่น bZ4X เท่านั้น ในขณะที่คู่แข่งกลับมีหลายรุ่นมากมาย อย่างค่าย GM วางเป้าหมายหยุดผลิตรถดีเซลเบนซินภายในปี 2035 และแทนที่ด้วยรถไฟฟ้าทั้งหมด บริษัท Cadillac กับ Buick ในเครือ GM ก็วางเป้าแทนที่ด้วยรถไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2030 เช่นกัน
Toyota Mirai รถพลังไฟฟ้าจากไฮโดรเจน | ภาพ : AFP (11 เม.ย.64)
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคำถามตามมาว่า Toyota บริษัทรถยิ่งใหญ่ระดับโลก เหตุใดจึง “ตกขบวน” ไม่ผลิตรถ EV ทั้งคันออกมา ทั้งที่กระแสรักโลกก็มาแรง
..หรือนี่ คือ สิ่งที่ Toyota "เลือก" เอง?
ภาพเเสดงยอดขายรถ EV สูงขึ้นเรื่อยๆ (ภาพ:EV Volumes)
บทความนี้จะพาไปค้นหาเหตุผลกัน โดยเราได้พบว่ามีอยู่ 4 เหตุผลหลักที่ Toyota ไม่ผลิต EV ทั้งคันออกมา ดังนี้
1. รถไฟฟ้าไม่ได้รักโลกจริง
เรามักได้ยินกันว่าถ้าอยากรักโลก ให้ใช้รถ EV แต่ "อาคิโอะ โตโยดะ" ประธาน Toyata กลับมองว่า รถไฟฟ้าไม่ได้ช่วยโลกจริง เพราะเมื่อเราผลิตรถไฟฟ้าออกมามากขึ้นเท่าใด เราก็ต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นเท่านั้น และพลังงานที่ว่านี้ก็มาจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ อันเป็นตัวเร่งภาวะโลกร้อน เนื่องจากก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) ถือเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยสารมีเทน และคาร์บอนไดออกไซด์ทำลายบรรยากาศโลกได้ ในขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่แม้จะเป็นพลังงานสะอาดแต่ก็เสี่ยงรั่วไหล หากเกิดภัยพิบัติอย่างแผ่นดินไหว และสึนามิดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2554
2. โครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าเสี่ยงภัยพิบัติและลงทุนสูง
ประธาน Toyota มองว่า ถ้าต้องวางโครงสร้างในญี่ปุ่นให้ผลิตไฟฟ้าเพียงพอสำหรับรถทุกคันที่เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า จะต้องใช้งบสูงถึง 14-37 ล้านล้านเยน (3.6 – 9.5 ล้านล้านบาท) อีกทั้งเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนที่ใช้ไฟมาก หรือเกิดภัยพิบัติต่อโรงไฟฟ้าไม่ว่าสึนามิหรือแผ่นดินไหว ก็จะกระทบต่อการจ่ายไฟโดยรวมได้ ด้วยเหตุนี้ทางโตโยดะ จึงผลิตรถแบบไฮบริดแทน เพื่อกระจายความเสี่ยงมาอยู่ที่เชื้อเพลิงเดิมด้วย
3. วัตถุดิบแบตเตอรี่ EV ต่อไปจะขาดแคลน
วัตถุดิบผลิตแบตเตอรี่ที่สำคัญมีอยู่ 3 อย่าง หากขาดไปจะผลิตแบตเตอรี่ไม่ได้เลย คือ 1.ลิเธียม 2.โคบอลต์ 3.นิกเกิล เหล่านี้เป็น “แร่ที่มีจำกัด และหมดไปได้”
แร่ตัวที่หนึ่ง ลิเธียม เป็นโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก(Non-Ferrous Metal) หรือที่เรารู้จักกันว่า “ทองคำขาว” โดยสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ(IEA) คาดว่าจะเกิดความขาดแคลนลิเธียมภายในปี 2025
ความต้องการลิเธียมสูงขึ้นเรื่อยๆตามกระเเสโลก จนเสี่ยงที่อนาคตอันใกล้จะขาดเเคลน | ภาพ: Statista
แร่ตัวที่สอง โคบอลต์ โดยมากกว่า 70% ถูกผลิตในประเทศคองโก และสำนักงาน IEA ก็คาดว่ามีโอกาสจะขาดแคลนภายในปี 2030 อย่างเร็วคือในปี 2025
แร่ตัวที่สาม นิกเกิล ถูกผลิตมากที่สุดในอินโดนีเซีย (นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมอินโดฯถึงเนื้อหอมจน Tesla เข้ามาตั้งฐานผลิต EV และแบตเตอรี่ EV ในอินโดนีเซีย) โดยคาดกันว่า โลกจะขาดแคลนแร่นิกเกิล ภายในปี 2040
ดังนั้นแม้ว่าอนาคต ความต้องการรถ EV จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่จะประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบผลิต ซึ่ง Toyata ไม่ต้องการเจอความเสี่ยงนี้ในระยะยาว อีกทั้งยิ่งมีผู้เล่น EV ในตลาดมาก การแย่งชิงทรัพยากรก็สูงขึ้นตามไปด้วย
4. Toyota ไม่ต้องการแข่งในสนาม Red Ocean
เราจะเห็นได้ว่ารถเกือบทุกค่ายต่างลงมาทำรถ EV นั่นจะทำให้การแข่งขันดุเดือดอย่างมาก อีกทั้งยังมีเจ้าดังอย่าง Tesla ครองตลาดอยู่ด้วย จึงย่อมไม่ใช่เรื่องดีต่อ Toyota นักที่จะแข่งในตลาด Red Ocean เช่นนี้ ดังนั้น Toyotaจึงหันมาลงตลาด Blue Ocean แทนที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จักกันอย่าง “รถไฮโดรเจน”
รถไฮโดรเจนยังมีผู้เล่นไม่กี่เจ้า หลักใหญ่มีเพียงเเค่ Hyundai กับ Toyota | ภาพ: SNE Research
รถไฮโดรเจน ก็คือรถที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เป็นธาตุที่พบมากที่สุด สามารถสกัดได้จากน้ำ จึงไม่มีวันหมดสิ้นและเป็นพลังงานสะอาดอีกด้วย โดยรถไฮโดรเจนในตลาดปัจจุบันมีเพียง 2 เจ้าหลัก คือ Toyota Mirai และ Hyundai Nexo
ในปีนี้ 2022 Toyota เพิ่มการทุ่มพัฒนาถังเชื้อเพลิงไฮโดรเจนให้มีขนาดเล็กลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ภาพเเสดงเเนวโน้มความต้องการใช้ไฮโดรเจนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในอนาคต | ภาพ: Hydrogen Council
โดยสรุปแล้วก็คือ Toyota มองว่า การจะลงสนามผลิตรถ EV ในระยะยาวนั้น มีความเสี่ยงขาดแคลนวัตถุดิบทำแบตเตอรี่ การผลิตไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอ อาจมีปัญหาเมื่อต้องเจอภัยพิบัติ และยังเป็นตลาดแข่งขันสูง ด้วยเหตุนี้ Toyota จึงไม่ทุ่มที่จะเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมดตามกระแส แต่เลือกที่จะ “กระจายความเสี่ยง” ผลิตรถที่ใช้ทั้งน้ำมันสลับกับไฟฟ้าได้ พร้อมกับแสวงหาตลาดใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก นั่นก็คือตลาดรถไฮโดรเจน!
อ้างอิง : cnbc(1) , nytimes , weforum , steelnews , cnbc(2) , japantimes