‘อีโค คาร์’เล็งเสริมพลังงานไฟฟ้า  รับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่

‘อีโค คาร์’เล็งเสริมพลังงานไฟฟ้า   รับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่

ตลาดรถยนต์อีโค คาร์  เสริมศักยภาพ ปรับตัวรับมือโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่เริ่มปี 2569 ยกเลิกคำจำกัดความเฉพาะ “อีโค คาร์” หันใช้เกณฑ์ร่วมรถยนต์นั่ง ยึดค่าการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก คาดดึงพลังงานไฟฟ้าเข้ามาใช้รับแต้มต่อภาษี

รถยนต์อีโค คาร์ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นในปี 2550 เมื่อรัฐบาลต้องการสร้างโปรดักต์ แชมเปียน ตัวใหม่ให้ต่อเนื่องจากความสำเร็จของรถปิกอัพที่เป็น โปรดักต์ แชมเปียนรุ่นแรก และดึงดูดการลงทุนที่แข่งขันกับเพื่อนบ้านที่ต้องการการลงทุนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย ที่ต้องการผุดโครงการในแนวทางเดียวกันนี้เช่นกัน 

ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการที่ผลิตและทำตลาดอีโคคาร์ ประกอบด้วย โตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน มิตซูบิชิ มาสด้า และซูซูกิ  

โดยปัจจุบัน อีโค คาร์ และตลาดรถเล็กในกลุ่ม บี-เซกเมนต์ เป็นตลาดสำคัญของตลาดรถยนต์นั่ง เนื่องจากมีระดับราคาที่ไม่สูงเกินไป ตัวรถรองรับการใช้งานได้เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นขนาดตัวถัง พื้นที่ห้องโดยสาร สมรรถนะการขับขี่ ออปชันต่างๆ 

โดยช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. เฉพาะ อีโค คาร์ มียอดจดทะเบียนรวมกัน 5.44 หมื่นคัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 53% ในตลาดรถยนต์นั่ง บ่งบอกถึงความสำคัญและความนิยมในตลาดนี้

สำรวจผลกระทบ อีวี 

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือ อีวี จำนวนมาก  โดยที่หลายรุ่นมีระดับราคาที่ใกล้เคียงกับ อีโค คาร์ รวมถึงยังมีเกมสงครามราคา และเมื่อรวมกับสถานการณ์ล่าสุดที่ซูซูกิ ประกาศยุติการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยสิ้นปี 2568 ทำให้ อีโค คาร์ ถูกจับตามองมากยิ่งขึ้นว่าเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบจาก อีวี โดยเฉพาะอีวีราคาต่ำจากจีน ที่ได้สิทธิประโยชน์ไม่เสียภาษีนำเข้าจากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน 

ทั้งนี้ เพราะ ซูซูกิ ตัดสินใจเข้าสู่ตลาดประเทศไทยก็จากแรงจูงใจของโครงการ อีโค คาร์ โดยตั้งบริษัทในปี 2553 จากนั้น โรงงานที่ลงทุนก็เปิดสายการผลิตในปี 2554  นับรวมถึงปีหน้าที่จะยุติสายการผลิตรวม 14 ปี และมีการผลิตอีโค คาร์ มากถึง 3 รุ่นในไทยคือ สวิฟท์ เซียส และเซเลริโอ 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นกับซูซูกิอาจจะไม่สามารถเชื่อมโยงกับ อีวี ได้ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสม เช่น ยอดขายที่ไม่สูงนัก และปัจจุบันซูซูกิมีฐานการผลิตใหญ่ๆ ใกล้ไทยหลายแห่ง เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันก็ส่งรถมาจำหน่ายในไทยอยู่แล้ว หรือ โรงงานในอินเดียที่มีปริมาณการผลิตขนาดใหญ่ ทำให้ได้เปรียบเรื่องของต้นทุนต่อหน่วย ซึ่งซูซูกิเอง ก็ให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ว่าจะเปลี่ยนไปนำเข้ารถเข้ามาทำตลาดแทน ทั้งจากญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และอินเดีย

อีโค คาร์ มาตรฐานสากล

นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธาน บริหารอาวุโส  บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า อีโค คาร์ ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากอีวีมากนัก เพราะเป็นตลาดที่มีความชัดเจน และได้รับการยอมรับในระดับสากล เพราะอีโค คาร์ ที่เกิดขึ้นจากภาครัฐกำหนดกฎเหล็กหลายข้อ ทั้งเรื่องของการประหยัดเชื้อเพลิงที่เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการที่ผู้บริโภคหลายคนตัดสินใจซื้อ อีวี 

นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนดอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เข้มข้น ไม่เกิน 120 กรัม/กม. สำหรับ อีโค คาร์ เฟส 1 และ ปัจจุบัน เฟส 2 ไม่เกิน 100 กรัม/กม

นอกจากนี้ยังกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยทั้งป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และการลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ (active/passive safety) ทั้งการทดสอบการชน มาตรฐานความปลอดภัยต่อคนเดินเท้า ระบบเบรก หรือการมีระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว เป็นต้น 

การกำหนดมาตรฐานที่เข้มข้นทำให้ อีโค คาร์ จากประเทศไทย สามารถส่งออกไปทำตลาดได้ทั่วโลก รวมถึงส่งกลับไปทำตลาดในญี่ปุ่นอีกด้วย ซึ่งการเป็นรถที่ได้รับการยอมรับมายาวนาน เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่มีความจำเป็นในการใช้งานในระดับราคาที่ไม่สูงนัก

ขณะที่รถอีวีแม้จะมีจุดเด่นหลายอย่าง โดยเฉพาะด้านความประหยัดพลังงาน แต่ก็มีผู้บริโภคบางส่วนที่ยังไม่พร้อมใช้งาน จากข้อกังวลทั้งด้านความสะดวกในการใช้งาน การชาร์จ รวมไปถึงราคาขายต่อในอนาคต 

นั่นทำให้ที่ผ่านมา อีวี เป็นรถที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ที่มีรถใช้งานมากกว่า 1 คัน 

‘อีโค คาร์’เล็งเสริมพลังงานไฟฟ้า   รับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่

ปรับตัวรับกระแสพลังงานไฟฟ้า-ภาษีใหม่ 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบัน อีวี จะส่งผลกระทบกับอีโค คาร์ รวมถึงรถในตลาดอื่นๆ ไม่มากนัก แต่ทิศทางของโลกที่ให้ความสำคัญกับพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ก็เชื่อว่าผู้ประกอบการที่มีสินค้ากลุ่มเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ ICE ก็จะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับกระแสดังกล่าวเช่นกัน เช่น มาสด้า ที่บริษัทแม่ญี่ปุ่น มีแนวทางชัดเจนในด้านนี้เช่นกัน แต่จะไม่มุ่งไปที่ทางใดทางหนึ่ง แต่จะนำเสนอทางเลือกที่หลากหลายให้กับผู้บริโภค 

นอกจากนี้ ยังมีอีกปัจจัยที่ทำให้อีโค คาร์ ต้องเตรียมความพร้อมรับมือ คือ การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ที่ออกมาก่อนหน้านี้ เกี่ยวข้องกับรถทุกประเภท รวมถึง อีวี และอีโค คาร์ 

โดยในส่วนของอีโค คาร์ ซึ่งปัจจุบัน อีโค คาร์ เฟส 2 ได้สิทธิพิเศษด้านภาษีสรรพสามิตในอัตรา 12% นั้น แต่ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ จะไม่มีการจำกัดความ อีโค คาร์ โดยเฉพาะ แต่จะถูกจัดเข้าไปอยู่รวมกับกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 10 ที่นั่งแทน และใช้พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเท่ากัน ขึ้นอยู่กับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 

โดยอัตราเริ่มต้นคือ รถที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 100 กรัม/กม. หากเป็นรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ไม่เกิน 3,000 ซีซี จะเสียภาษี 13% เหมือนกัน จากนั้นขยับขึ้นอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 1%  ทุกๆ 2 ปี  

‘อีโค คาร์’เล็งเสริมพลังงานไฟฟ้า   รับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่

ซึ่งอัตราภาษีในส่วนนี้แม้จะเปิดกว้างกับหลายขนาดเครื่องยนต์ แต่หากมองสถานการณ์ปัจจุบันจะเข้ากับรถ อีโค คาร์ เฟส 2 มากที่สุด เพราะปัจจุบัน อีโค คาร์ เฟส 2 เสีย ปล่อยคาร์บอนได ออกไซด์ ไม่เกิน 100 กรัม/กม. (ทำให้อยู่ในกลุ่มที่จะเสียภาษีต่ำสุด แต่ก็ยังต้องขยับขึ้นจากขณะนี้ 1%

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างภาษีใหม่ยังเปิดช่องสำหรับพลังงานใหม่ คือ หากใครที่ผ่านมาตรฐานคาร์บอนไดออกไซด์ และนำระบบไฮบริดเข้ามาใช้จะได้รับอัตราภาษีที่ลดลง เช่นตั้งแต่เดือนม.ค.2569 จะเสีย 6% (ICE 13%) ตั้งแต่เดือน ม.ค.2571 เสีย 8% (ICE 14%) ตั้งแต่เดือน ม.ค.2573 เสีย 10% (ICE 15%) เป็นต้น 

ซึ่งแต้มต่อดังกล่าว เชื่อว่าจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตที่มีความสามารถในการผลิตรถที่ไม่ไอเสียต่ำอยู่แล้ว ตัดสินใจนำระบบไฮบริดเข้ามาใช้

และยังได้รับแรงหนุนทิศทางความสนใจของผู้บริโภคที่พบว่าปัจจุบันเทรนด์ของไฮบริดกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะให้ความประหยัดเชื้อเพลิงสู้อีวี ไม่ได้ แต่ก็มีเรื่องของความสะดวกในการใช้งานที่มากกว่าเข้ามาหักล้าง 

ไฮบริดทางเลือกที่มีศักยภาพ

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดูวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันมีรถจำหน่ายในตลาดครอบคลุมทั้ง เครื่องยนต์สันดาปภายใน ไฮบริด และ อีวี ที่มีหลายรุ่นหลายเซกเมนต์ เช่น เอ็มจี อีพี, เอ็มจี อีเอส, เอ็มจี แซดเอส อีวี, เอ็มจี4 อีเลคทริค, เอ็มจี 4 เอ็กซ์พาวเวอร์, เอ็มจี แม็กซัส9, เอ็มจี แม็กซัส 7 และ เอ็มจี ไซเบอร์สเตอร์ แต่ เอ็มจีก็เห็นว่าตลาดประเทศไทยยังเปิดกว้างสำหรับหลายเทคโนโลยี รวมถึงไฮบริด  

“พลังงานไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเป็นสี่เสาหลักในอุตสาหกรรมยานยนต์หรือ CASE คือ Connect, Autonomous, Shared และ  Electric แต่ไม่ได้หมายถึงต้องเป็น อีวี 100% ทั้งหมด แต่เทคโนโลยีอย่างไฮบริดก็จะได้รับความสนใจเช่นกัน”  

และหากมองถึงทิศทางในอนาคต ทั้งกระแสความนิยมที่เพิ่มขึ้น กระแสด้านสิ่งแวดล้อม และกระแสความนิยมของผู้บริโภค ทำให้หลายๆ ตลาดจะนำเทคโนโลยีไฟฟ้าเข้ามาใช้กับรถ รวมถึงรถขนาดเล็กด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอีวี หรือ ไฮบริดก็ตาม 

ทั้งนี้ในส่วนของเอ็มจี ก็เตรียมเปิดตัวรถไฮบริดรุ่นเล็ก อย่าง เอ็มจี 3 โฉมใหม่ เร็วๆ นี้