บุกห้องลับ ถิ่นเกิด Toyota Hilux GR Sport ดูเหตุผลเลือกออสเตรเลีย พัฒนาปิกอัพ
แม้ว่าโตโยต้า หยุดสายการผลิตรถยนต์ในออสเตรเลียเมื่อปี 2560 แต่โตโยต้าก็ยังไม่ทิ้งฐานผลิตแห่งนี้ โดยตัดสินใจให้ที่นี้เป็นศูนย์นวตกรรม รวบรวมทีมวางแผน การออกแบบ วิศวกรรม ประเมินผล และหนึ่งในผลผลิตสำคัญคือ ปิกอัพ สมรรถนะสูง ไฮลักซ์ จีอาร์-สปอร์ต (Hilux GR Sport)
สำหรับ ศูนย์นวตกรรม ที่ออสเตรเลีย ที่รวบรวมทีมวางแผน การออกแบบ วิศวกรรม ประเมินผล ก็เพื่อออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดออสเตรเลียและตลาดโลก เรียกว่าเป็น Centre of Excellence (CoE) ตั้งอยู่ใน อัลโทน่า ย่านชานเมือง เมลเบิร์น รัฐวิคตอเรีย
ที่นี่มีบทบาทสำคัญในการวิจัย พัฒนา ออกแบบ และทดสอบรถยนต์หลายๆ รุ่น รวมถึงรุ่นที่เกี่ยวข้องกับไทยอย่างเช่น รถปิกอัพ ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ได้รับความนิยมสูงทั้งในออสเตรเลีย และตลาดประเทศไทย
จุดเด่นอย่างหนึ่งของออสเตรเลีย คือ มีพิ้นที่ที่หลากหลาย เหมาะกับการศึกษา ทดสอบรถยนต์
โดย เรย์ มันเดย์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ออสเตรเลีย หรือ TMCA ระบุว่า สภาพแวดล้อมของโลก 80% หาได้ในออสเดรเลีย จะยกเว้นก็คือ ภูเขาสูงๆ เท่านั้น
โดยพื้นที่ทางตอนใต้ เช่น เมลเบิร์น จะมีสภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง และมีภูเขาหินและป่าโคลนจำนวนมากในบริเวณใกล้เคียง
ขณะที่ใจกลางของประเทศเป็นพื้นที่ทะเลทราย ซึ่งมีฟาร์มขนาดใหญ่และชุมชนห่างไกลหลายแห่ง พื้นที่เหล่านี้มีความร้อนที่สูงมาก ฝุ่น และหิน
ทางตอนเหนือของออสเตรเลียจะมีสภาพอากาศเป็นแบบเขตร้อน คล้ายกับประเทศไทย โดยมีความชื้นและความร้อนสูงและยังมีจระเข้อีกด้วย
และนอกจากเรื่องของสภาพภูมิศาสตร์ และอากาศหากมองในกลุ่มรถที่รองรับการขับขี่ที่หลากหลาย อย่างเช่นปิกอัพ ออสเตรเลียซึ่งมีพื้นที่มากกว่าไทย 15 เท่า แต่มีประชากรน้อยกว่ามาก ประมาณ 26 ล้านคน มีถนนที่เป็นถนนลูกรังมากกว่า 60% ของถนนทั้งหมด ซึ่งแน่นอนเหมาะกับปิกอัพ
ขณะเดียวกัน ในด้านลูกค้า หลายคนที่ใช้รถนอกจากเพื่อกการบรรทุกแล้ว ยังใช้รถในการเดินทางไกล รวมถึงการลากจูงด้วย
ดังนั้นตลาดออสเตรเลียจึงเป็นพื้นที่สำคัญ สำหรับปิกอัพ โดยขณะนี้การออกแบบต่างๆ ของปิกอัพโตโยต้า เกิดขึ้นที่นี่ ซึ่งดูเหมือนจะตรงใจกับลูกค้ามากกว่าการออกแบบจากญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ เนื่องจากญี่ปุ่นไม่ใช่ตลาดหลักของปิกอัพ ทำให้การเข้าใจผู้บริโภคสู้ที่ออสเตรเลียไม่ได้
ก่อนหน้านี้ รถที่เป็นผลงานจากที่นี่ในตลาดประเทศไทย เช่น ปิกอัพ ไฮลักซ์ รีโว่ ร็อคโค่ หรือ รถพีพีวี ฟอร์จูนเนอร์ ลีเจนเดอร์ และผลงานล่าสุดที่เปิดตัวในประเทศไทย คือ ปิกอัพ สมรรถนะสูง “ไฮลักซ์ จีอาร์ สปอร์ต” (Hilux GR Sport)
เรย์ ระบุว่าสภาพแวดล้อมและการใช้งานของลูกค้าของออสเตรเลียนั้นได้รับการยอมรับจากโตโยต้า ว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการทดสอบรถออฟโรด และการใช้งานของลูกค้าถือเป็นสภาพแวดล้อมที่รุนแรงที่สุดในโลก
ทั้งนี้แผนงานของ ไฮลักซ์ ระดับโลก ทดสอบและพัฒนาในออสเตรเลียมาเป็นเวลาหลายปี เช่นเดียวกับ แลนด์ครุยเซอร์ 70, 300 และซีรีส์ 250 ใหม่
โครงการ ไฮลักซ์ จีอาร์ สปอร์ต การพัฒนารถคันนี้ เกิดขึ้นจาก ทีเอ็มซีเอ ชื่นชอบทีมแข่งแรลลี ผลงานความสำเร็จในหลายรายการ รวมถึงรายการหฤโหด ดาการ์ แรลลี จึงมีความคิดที่จะสร้างปิกอัพที่ถ่ายทอดอารมณ์ของรถแข่งมาเป็นรถที่สามารถใช้งานได้ทุกวัน
จากนั้นได้นำเสนอแนวคิดโครงการไปยัง โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น หรือ TMC ซึ่งก็เห็นดีเห็นงามในทันที พร้อมระบุว่าให้พัฒนาเพื่อรองรับตลาดอื่นๆ ด้วยไม่เฉพาะออสเตรเลีย รวมถึงตลาดประเทศไทย
และการเดินทางมาออสเตรเลียของสื่อมวลชนประเทศไทยครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้เข้าไปดูห้องแห่งความลับที่ไม่เคยเปิดให้สื่อที่ใด รวมถึงสื่อในออสเตรเลียเองได้เห็นมาก่อน
เพียงแต่เป็นการเข้าไปดูด้วยตา ห้ามการบันทึกใดๆ ดังนั้นำภาพที่ได้มาจึงมีแค่บางส่วนจากทีมงานออสเตรเลียที่ยินยอมให้เผยแพร่เท่านั้น
ซึ่งภายในพื้นที่หวงห้ามดังกล่าว เราได้เห็นการทำงานของทีมงานในบรรยากาศที่ค่อนข้างผ่อนคลาย มีการจัดพื้นที่ให้ดูปลอดโปร่ง ไม่อึดอัด น่าจะเป็นการคิดวางแปลนเพื่อให้บรรดาทีมงาน สมองแล่นได้เต็มที่
ที่นี่เราได้เห็นกระบวนการทำงาน ตั้งแต่การออกแบบ ในคอมพิวเตอร์ มีทั้งนั่งทำงานหน้จอ ยืนทำงานหน้าจอ จากนั้นมาสู่การปั้นเป็นรูปร่างด้วยดินน้ำมันชนิดพิเศษ ราคาแพง และต้องเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 60 องศา
ขั้นตอนนี้เรียกว่า เคลย์ โมเดล (clay model) ซึ่งทีมงานนี้ต้องมีความรู้ทั้งด้านวิศวกรรม และงานหัตศิลป์ไปควบคู่กัน
การสร้างเคลย์ โมเดล เริ่มจากงานปั้นเป็นแบบจำลองขนาดเล็กก่อน และหลังจากผ่านกระบวนการทุกอย่างจนลงตัว ทั้งรูปร่าง เส้นสาย รายละเอียด หลักการอากาศพลศาสตร์ แล้วจึงค่อยปั้นออกมาเป็นคันขนาดเท่าคันจริงที่ผลิตออกมา
ส่วนสีสันของรถที่เห็นก็เป็นการติดฟิล์มชนิดพิเศษลงไปบนดิน เพื่อเป็นตัวอย่างสีสันที่จะเกิดขึ้นจริง เมื่อมองเผินๆ ก็นึกว่าเป็นโลหะของจริงเช่นกัน
ส่วนการสร้างเคลย์ โมเดลนั้น วิศวกรสร้างขึ้นมาแค่ครึ่งคัน และให้ตรงกลางติดอยู่กับกระจกเงา ดังนั้นจึงสามารถมองเห็นภาพรวมของรถทั้งคันได้
ส่วนการสร้างขนาดเท่าคันจริง เริ่มจากการสร้างโครงสร้างภายในที่เป็นโฟมชนิดพิเศษ แกะรูปทรงด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า ซีเอ็นซี ที่มีควมแม่นยำสูงมาก จากนั้นจึงปั้นด้วยดินทับไป ก่อนจะใช้เครื่องมือ ซีเอ็นซี ในการแกะ สกัด ให้ได้รูปทรงตามที่วิศวกรออกแบบเอาไว้ และเช่นกัน งานนี้นักปั้นดินน้ำมันก็ปั้นแค่ครึ่งคัน ที่เหลือ ซีเอ็นซี เป็นคนจัดการ ทำให้ได้สมมาตรทั้ง 2 ด้าน
และที่ Centre of Excellence แห่งนี้ ก็จัดแสดงต้นแบบ เคลย์ โมเดล ตัวจริงของ ไฮลักซ์ จีอาร์ สปอร์ตเอาไว้ โดยจัดแสดงให้เห็นถึงโครสร้างด้านในที่เป็นโฟม ตามมาด้วยชั้นดิน ที่ยังไม่ได้แต่งให้ได้รูปทรง ไปจนถึงที่ได้รูปทรงแล้ว และอีกซีกหนึ่ง คือตัวอย่างของสีซึ่งเป็นสีแดงที่ติดไว้ด้วยฟิล์ม ซึ่งดูเหมือนของจริงมาก
นอกจากนั้นที่ศูนย์แห่งนี้ยังจัดแสดงรถโตโยต้ามากมายหลายรุ่น ทั้งรถยนต์นั่ง ปิกอัพ และเอสยูวี ซึ่งหลายๆ รุ่น หลายคนไม่เคยรู้จักมาก่อน
และสำหรับการเดินทางมาออสเตรเลียครั้งนี้ของผม นอกจากมาเยี่ยมชมศูนย์แห่งนี้ ยังจะได้ทดลองขับ ไฮลักซ์ จีอาร์ สปอร์ต ในถิ่นกำเนิดโดยตรง (แต่ผลิตโดยโรงงานบ้านโพธิ์ ประเทศไทย) ซึ่งตัวรถนั้นหลักๆ แล้วก็เหมือนกับที่จำหน่ายในไทย แตกต่างกันบางส่วน ซึ่งการขับขี่จะเป็นอย่างไร เส้นทางเป็นอย่างไร จะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไปครับ