ซูซูกิ เตรียมนำเข้า EV - Hybrid 4 รุ่น หลังประกาศปิดโรงงาน เลิกขาย อีโค คาร์

ซูซูกิ เตรียมนำเข้า EV - Hybrid 4 รุ่น หลังประกาศปิดโรงงาน เลิกขาย อีโค คาร์

หลังจาก ซูซูกิ มอเตอร์ ประกาศจะยุติสายการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) แจงแผนการเตรียมความพร้อม ยันไทยยังเป็นตลาดสำคัญ เดินหน้าทำตลาดต่อเนื่อง ขยายผลิตภัณฑ์ โชว์รูม ศูนย์บริการ 

ทั้งนี้ ซูซูกิ มีแผนที่จะยุติสายการผลิตโรงงานในจังหวัดระยองในช่วงสิ้นสุดปี 2568 โดยในช่วงเวลาที่เหลืออีกกว่า 1 ปี จะยังคงเดินสายการผลิตตามปกติต่อไป จนกว่าจะถึงเวลาดังกล่าว 

ทั้งนี้ปี 2568 ยังเป็นปีที่สิ้นสุดมาตรการส่งเสริมภาครัฐในโครงการ “อีโค คาร์” ซึ่งเป็นโครงการที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2550 และเป็นโครงการที่จูงใจให้ซูซูกิตัดสินใจเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตในไทย โดยเริ่มต้นเดินเครื่องในปี  2554 

ทั้งนี้ปัจจุบันการผลิตหลักๆ ของโรงงาน ระยอง เป็นการผลิต อีโค คาร์ ทั้ง 3 รุ่น ทั้ง สวิฟท์ (Suxuki Swift) ซึ่งเป็นรุ่นแรกของโรงงาน ตามมาด้วย เซียส (CIAZ) และ เซเลริโอ (Celerio)

หลังจากนั้น การทำตลาดจะหันไปนำเข้ารถจากต่างประเทศเข้ามาแทน หลักๆ คือ ฐานการผลิตในอินโดนีเซีย รวมถึงความเป็นไปได้ในการนำเข้าจาก อินเดีย ที่เป็นตลาด และฐานการผลิตที่เติบโตเร็ว รวมถึงจากญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นกับความเหมาะสม

ทั้งนี้ปี 2566 ที่ผ่านมา โรงงานอินโดนีเซีย ผลิตรถรวม 9.49 หมื่นคัน ขณะที่อินเดีย ผลิต 2 ล้านคัน และตั้งเป้าปี 2573 จะเพิ่มเป็น 4 ล้านคัน ส่วนญี่ปุ่นผลิต 2 ล้านคันในปีที่ผ่านมา

ขณะที่ไทยซึ่งอยู่ในช่วงที่อุตสาหกรรมรถยนต์หดตัว ซูซูกิ มียอดผลิต 1 หมื่นคันในปี 2566 ดังนั้นยิ่งเมื่อไม่มีโครงการอีโค คาร์ ก็เห็นว่าการเลิกผลิตแล้วหันไปนำเข้าจากโรงงานที่มีศักยภาพมากกว่าเป็นแนวทางที่ดี

ซูซูกิ เตรียมนำเข้า EV - Hybrid 4 รุ่น หลังประกาศปิดโรงงาน เลิกขาย อีโค คาร์

ทั้งนี้สำหรับการนำเข้าในอนาคต แนวทางของผลิตภัณฑ์ก็จะเปลี่ยนไป สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สอดคล้องกับกระแสโลกมากขึ้น โดยเฉพาะแนวคิดการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ซูซูกิที่จะมีบทบาทในอนาคตหลักๆ คือ

  • รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี (EV) 
  • รถยนต์พลังงานไฮบริด (Hybrid)

ซูซูกิ เตรียมนำเข้า EV - Hybrid 4 รุ่น หลังประกาศปิดโรงงาน เลิกขาย อีโค คาร์

ทั้งนี้สำหรับ อีวี เมื่อไม่นานมานี้ ซูซูกิ เพิ่งเปิดแผนธุรกิจ เตรียมการผลิตอีวีรุ่นแรกในปี 2568 โดยใช้ฐานการผลิตโรงงาน อินเดีย

สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะเปิดตัวกำหนดไว้เบื้องต้น 4 รุ่น โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป โดยทำตลาดควบคู่กับรถที่จำหน่ายในปัจจุบันซึ่งนอกจากอีโค คาร์ 3 รุ่น ก็ยังมี แคร์รี, เอ็กซ์แอล7 และ เออร์ติกา

ทั้งนี้สิ่งที่ซูซูกิ เร่งดำเนินการในช่วงนี้คือ การสร้างความเข้าใจ มั่นใจกับลูกค้า และเครือข่ายผู้จำหน่าย เพราะตั้งแต่มีข่าวการเตรียมหยุดการผลิต ทำให้เกิดความกังวลกับบางส่วน โดยเฉพาะประเด็นความต่อเนื่องในการทำตลาด 

โดยที่ผ่านมา ซูซูกิ ได้ชี้แจงกับผู้เกี่ยวข้องต่างๆ และได้รับการตอบรับที่ดี โดยล่าสุดยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายใหม่ ตัดสินใจเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่าย หรือ ดีลเลอร์ 6 ราย ใน 5 จังหวัด

ทั้งนี้ปัจจุบัน ซูซูกิ มีเครือข่ายรวม 92 แห่ง แบ่งเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล 26 แห่ง ภาคกลาง และภาคตะวันออก 21 แห่ง ภาคเหนือ 10 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 แห่ง และภาคใต้ 15 แห่ง และยังมีศูนย์ซ่อมสี และตัวถังรวม 32 แห่ง 

สำหรับภาพรวมตลาด "ทาดาโอะมิ ซูซูกิ" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดยังคงซบเซา ช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน ที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์รวมมียอดขาย 307,995 คัน 

และในส่วนของซูซูกิ ยอดขายรวม 3,791 คัน ลดลง 54% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566

ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ตลาดยังคงหดตัวคือ สภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ส่งผลให้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และค่าครองชีพสูงขึ้น กระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินชัดเจน 

“แม้จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้น สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว จนส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ในภาพรวม และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญซูซูกิยังมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศไทยต่อไปอย่างมั่นคง”

โดยแผนการดำเนินธุรกิจที่พร้อมรองรับต่อการแข่งขันในอนาคต ยังคงอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ “Enhancing the Ability to Compete in the Upcoming Automotive Market เพิ่มขีดความสามารถสู่การแข่งขันในอนาคต”    ที่ได้ทำการประกาศแก่ผู้จำหน่ายช่วงต้นปีที่ผ่านมา

โดยแผนการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่จะเกิดขึ้นภายใต้แคมเปญ “SUZUKI WORRY FREE” ซึ่งจะเป็นการยกระดับงานบริการในทุกด้าน

"วัลลภ ตรีฤกษ์งาม" รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่จะให้ซูซูกิสามารถดำรงอยู่ได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในประเทศไทยคือ การปรับปรุงแผนและพัฒนาการดำเนินงานเพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ แคมเปญ “SUZUKI WORRY FREE” จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่บริษัทเชื่อมั่นว่าจะสามารถรองรับการดูแลลูกค้า ซึ่งรายละเอียดจะประกอบไปด้วย 7 หัวข้อ 

ซูซูกิ เตรียมนำเข้า EV - Hybrid 4 รุ่น หลังประกาศปิดโรงงาน เลิกขาย อีโค คาร์

1.ฟรีค่าแรงเช็กระยะ สูงสุด 3 ปี สำหรับลูกค้าที่นำรถเข้าเช็กระยะต่อเนื่องตามกำหนดกับศูนย์บริการ ฟรีค่าแรงเช็กระยะ สูงสุด 3 ปี หรือ 60,000 กิโลเมตร 

2.ขยายการรับประกันอะไหล่ และงานบริการโดยขยายการรับประกันงานซ่อม และอะไหล่แท้ทุกชิ้นเป็น 1 ปี หรือ 20,000 กิโลเมตร จากเดิม 3 เดือน หรือ 5,000 กิโลเมตร 

3. บริการพิเศษรถสำรองใช้ระหว่างซ่อม สำหรับรถยนต์ที่อยู่ในระยะรับประกัน 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร จะได้รับบริการพิเศษ รถสำรองใช้ระหว่างซ่อม  สำหรับรถที่ต้องใช้เวลาตรวจเช็กมากกว่า 1 วัน (ไม่รวมระยะเวลาวิเคราะห์ปัญหา) และไม่รวมกรณีรถเกิดอุบัติเหตุ

4. HELLO SUZUKI APPLICATION ยกระดับงานบริการแบบ S-Solution เป็น แอปพลิเคชัน ที่จะเชื่อมต่อข้อมูลการทำงานกับลูกค้า อำนวยความสะดวกสบาย และความมั่นใจในงาน ทั้งการนัดหมายนำรถเข้ารับบริการ หรือติดต่อสอบถามข้อมูล รายงานการการตรวจสอบ และดูแลรถทุกขั้นตอน รวมถึงสิทธิพิเศษอื่น  ด้วยการสะสมคะแนนจากค่าใช้จ่ายในการเข้าซ่อมบำรุงตามระยะอย่างต่อเนื่อง หรือซ่อมแซมที่ศูนย์บริการของซูซูกิ

5. ระบบการจัดการอะไหล่ มีเป้าหมายรองรับบริการได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยซูซูกิมีคลังอะไหล่ 2 แห่ง ทั้งที่คลังอ่อนนุช กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่จัดเก็บขนาด 1,216 ตารางเมตร  และคลังอะไหล่ จังหวัดระยอง มีพื้นที่จัดเก็บขนาด 4,076 ตารางเมตร รวมถึงคลังอะไหล่ของผู้จำหน่ายทั่วประเทศ มีอะไหล่จัดเก็บรวมมากถึง 741,000 ชิ้น โดยมีเป้าหมายรองรับความต้องการของลูกค้าได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันที่สิ้นสุดการผลิต

6. ศูนย์บริการครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 

7. ศูนย์บริการซ่อมสี และตัวถังตามมาตรฐานของซูซูกิ

ทั้งนี้ ซูซูกิ มีแผนที่จะขยายงานบริการศูนย์ซ่อมตัวถัง และสีตามมาตรฐานของซูซูกิ เพิ่มอีกจำนวน  9 แห่ง ทั้งในจังหวัดนนทบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสุโขทัย จังหวัดอยุธยา จังหวัดลพบุรี และจังหวัดขอนแก่น ภายในปี 2567 อีกด้วย 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์