มองความพร้อม ฮุนได รุกตลาดไทย ผนึกบีโอไอ หาชิ้นส่วนรับแผนผลิตอีวี
เริ่มมีสีสันมากขึ้นสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรืออีวีในไทย หลังจากช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ภาพรวมถูกครอบคลุมด้วยอีวีจากจีน ทั้งความหลากหลายของสินค้า และสงครามราคา เพราะช่วงนี้เริ่มเห็นการขยับตัวของอีวีจากแหล่งอื่นๆ บ้าง
สำหรับสิ่งหนึ่งที่ทำให้บรรยากาศตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี (EV) คีกคักในช่วงที่ผ่านมา นอกจากทิศทางความนิยมที่เพิ่มขึ้นในหลายๆ ตลาดทั่วโลกรวมถึงไทย ก็ยังเป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมภาครัฐ ทั้งส่งเสริมการใช้งาน และส่งเสริมการลงทุน
รวมถึงสิ่งที่ผูกกันมานานชนิดหาคนลงนามไม่เจอคือ ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่ทำให้อีวีจากจีนนำเข้ามาโดยไม่เสียภาษีนำเข้า
ส่วนมาตรการส่งเสริมภาครัฐนั้นสิ่งที่รัฐอยากเห็นคือ การเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เชื่อมต่อการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี และพลังงานในอนาคต ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มมีผู้ที่เข้ามาลงทุน และเดินสายการผลิตบ้างแล้ว
บริษัทที่เปิดสายการผลิตอีวีในประเทศแล้ว มีทั้งรายเดิมที่ลงทุนผลิตรถอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว ก่อนจะขยายการผลิตมาสู่อีวี เช่น เอ็มจี และเกรทวอลล์ ส่วนรายใหม่ที่เริ่มต้นการผลิตในไทยเป็นครั้งแรกคือ เนต้า, บีวายดี และ จีเอซี ไออ้อน และในอนาคตตามแผนก็จะได้เห็น ฉางอัน, โอโมดา แอนด์ เจคู เป็นต้น
เป้าหมายการผลิตของทุกค่าย ระบุไว้ว่าจะผลิตเพื่อรองรับตลาดในประเทศ และส่งออกไปยังตลาดรถพวงมาลัยขวาเหมือนไทย ส่วนจะเริ่มต้นส่งเมื่อไร ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของตลาด และเวลา
แต่ล่าสุด บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์เอ็มจีที่ปัจจุบันเปิดสายการผลิต เอ็มจี 4 อีเลคทริค ประกาศเป้าหมายจะเป็นอีวี แบรนด์แรกที่ส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรปซึ่งเป็นตลาดที่ตอบรับอีวี และที่สำคัญยังตั้งกำแพงภาษีอีวีจากจีนที่สูง ทำให้เป็นโอกาสที่ฐานการผลิตในไทยจะมีโอกาสเข้าไปทำตลาด
ส่วนความเคลื่อนไหวของอีวีจากแหล่งอื่น ก่อนหน้านี้เราเห็นกาารผลิตของฮอนด้าที่โรงงานโรจนะ ปราจีนบุรี อย่างไรก็ตาม อีวี รุ่นแรกของแบรนด์ญี่ปุ่นที่ผลิตในไทยอย่าง “e:N1” ไม่ได้เปิดจำหน่ายทั่วไป แต่เป็นการให้บริการในรูปแบบการเช่าใช้ เหตุผลหลักคือ ฮอนด้าเอง ไม่ต้องการลงไปร่วมสมรภูมิสงครามราคา
และความเคลื่อนไหวล่าสุดที่ไม่ใช่แบรนด์จีนคือ ฮุนได จากเกาหลีใต้ ที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเอง ด้วยการตั้งบริษัท ฮุนได โมบิลิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อเดือนเม.ย.2566 ขณะที่ด้านผลิตภัณฑ์ฮุนไดทำตลาดรถหลายรุ่น รวมถึงอีวี ซึ่งปัจจุบันมี 2 รุ่นคือ IONIQ 5 และ IONIQ 6
และฮุนไดยื่นขอเข้าร่วมมาตรการ อีวี 3.5 ที่ส่งเสริมการใช้งานอีวีที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ด้วยเงื่อนไขการสนับสนุนหลายอย่างรวมถึงสนับสนุนเงินผู้ซื้อสูงสุด 1 แสนบาท ด้วยเช่นกัน นั่นหมายถึง ฮุนไดต้องเปิดสายการผลิตรถในประเทศไทย
ทั้งนี้ฮุนไดนำเข้าอีวี จากเกาหลี ซึ่งต้องเสียภาษีนำเข้า 80% หากไม่เข้าร่วมโครงการภาครัฐ นั่นจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันกับรถจากจีนแทบจะเรียกว่าเป็นไปไม่ได้
ขณะที่หลายคนสงสัยว่า ฮุนไดมีสายการผลิต IONIQ ที่โรงงานอินโดนีเซีย สามารถนำเข้ามาโดยใช้สิทธิพิเศษด้านภาษีจากเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ได้ เพราะการผลิตที่อินโดนีเซียใช้ชิ้นส่วนท้องถิ่น หรือ ASEAN content ไม่ถึงกำหนด
แต่อย่างไรก็ตาม การที่ตัดสินใจจะผลิตในประเทศไทย ไม่ได้มาจากปัญหาในส่วนนี้ เพราะตั้งแต่ฮุนไดเริ่มต้นเข้ามาทำตลาดในไทยเอง ฮุนไดระบุตั้งแต่ช่วงแรกๆ แล้วว่า ต้องการเข้ามาลงทุนในไทย เพราะมองเห็นศักยภาพหลายอย่าง ขณะที่ตลาดอีวีเอง ก็มั่นใจว่าจะแข่งขันกับจีนได้ และในช่วงเวลานั้นผู้บริหารจากเกาหลีใต้ก็มีการเจรจาหารือกับหน่วยงานของไทยหลายครั้ง ไม่เฉพาะอีวี แต่รวมไปถึง สมาร์ท ซิตี้
ส่วนการที่ก่อนหน้านั้นฮุนไดไม่ได้ทำตลาดเอง และตลาดในไทยก็มีขนาดเล็ก ผู้บริหารระบุว่าเป็นเพราะโฟกัสตลาดในประเทศเป็นหลัก และเมื่อมีความแข็งแกร่งพร้อมบุกตลาดโลก ก็เริ่มต้นในยุโรป และอเมริกาก่อน และปัจจุบันมีเครือข่ายขนาดใหญ่ทั่วโลก ทั้งการผลิต การวิจัยและพัฒนา และการตลาด
ส่วนตลาดประเทศไทยยังมีข้อมูลหรือ data ไม่มากนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปถึงปัจจุบันฮุนไดยืนยันว่าพร้อมแล้ว และด้วยข้อมูลที่มีจะทำให้สามารถเพิ่มอัตราเร่งในการทำตลาดได้
และสำหรับแผนการผลิตในไทยฮุนไดยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ซึ่งล่าสุดได้รับการอนุมัติโครงการลงทุนมูลค่า 1,000 ล้านบาท โดยบริษัท ฮุนได โมบิลิตี้ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด
ฮุนไดระบุว่าการลงทุนครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการเร่งการเปลี่ยนถ่ายตลาดรถยนต์ของประเทศไทย เข้าสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้าอย่างรวดเร็วขึ้น ด้วยการเพิ่มทางเลือก IONIQ ที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ
เจ กิว จอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฮุนได โมบิลิตี้ แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะแบรนด์ผู้นำด้านนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าระดับสากลจากเกาหลีใต้ ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอย่างยาวนาน บริษัทเชื่อมั่นในศักยภาพ และกำหนดให้ประเทศไทย เป็นหนึ่งในทำเลยุทธศาสตร์ของฮุนไดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาอย่างต่อเนื่อง
"เราได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากบีโอไอ ในการลงทุนเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า IONIQ และแบตเตอรี่ครบวงจร นับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของฮุนได"
อย่างไรก็ตาม การลงทุนครั้งนี้ที่มีมูลค่าไม่สูงนัก เพราะฮุนไดไม่ได้ลงทุนโรงงานเอง แต่ใช้ความร่วมมือกับพันธมิตรโรงงานประกอบรถยนต์ โดยตั้งเป้าหมายเริ่มการผลิตในช่วงต้นปี 2569
อย่างไรก็ตาม ฮุนไดยืนยันถึงการให้ความสำคัญกับการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ โดยอยู่ระหว่างการร่วมมือกับบีโอไอ พิจารณาแผนจัดหาชิ้นส่วน จากกลุ่มผู้ผลิตในประเทศไทยอีกด้วย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์