นายกใหม่ EVAT ชูนโยบายดันไทยฐานผลิต-ส่งออก อีวี หนุนใช้ชิ้นส่วนในประเทศ

นายกใหม่ EVAT ชูนโยบายดันไทยฐานผลิต-ส่งออก อีวี หนุนใช้ชิ้นส่วนในประเทศ

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เปิดตัวนายก และคณะกรรมการ ชุดใหม่ เปิดนโยบาย ส่งเสริมอุตสาหกรรม อีวี ดันไทยเป็นศูนย์กลาง การผลิต ส่งออกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สุโรจน์ เเสงสนิท รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด เป็นผู้ที่เข้ามานั่งในตำแหน่งนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ต่อจากกฤษฎา อุตตโมทย์  โดยรับการโหวตคัดเลือกจากคณะกรรมการสมาคม ให้ดำรงตำแหน่ง มีวาระ 2 ปี ตั้งเเต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2567

สุโรจน์ ระบุว่า  ซึ่งหน้าที่และภารกิจสำคัญที่สมาคมต้องการพุ่งเป้าคือการพัฒนาและผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในห่วงโซ่อุปทาน 

“ผมอยากเห็นอนาคตที่ไทยจะกลายเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่เป็นเทคโนโลยีเเห่งอนาคต นำมาสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับแรงงานไทย และพร้อมต่อยอดทักษะบุคลากรในประเทศให้มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในด้านการผลิต การพัฒนา และการซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านการเป็นพันธมิตรกับองค์กรภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ”

ทั้งนี้ มีความเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยยังมีพื้นที่การเติบโตอีกมาก หากได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม และผลักดัน จากทุกๆภาคส่วน และทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย พร้อมเป็นองค์กรประสานความร่วมมือในด้านต่างๆ กับองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศอย่างยั่งยืน และต่อยอดสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่

นายกใหม่ EVAT ชูนโยบายดันไทยฐานผลิต-ส่งออก อีวี หนุนใช้ชิ้นส่วนในประเทศ

อุเทน สุปัตติ อุปนายกฯ ฝ่ายวิชาการและการพัฒนาบุคลากร กล่าวว่า การพัฒนาทรัพยากรบุคคลและการเสริมสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยี อีวี เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออก อีวี ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสมาคมพร้อมสนับสนุนและผลักดันให้บุคลากรในอุตสาหกรรมมีทักษะและความเชี่ยวชาญที่ทันสมัย รองรับความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและสร้างความแข็งแกร่งให้กับไทยในตลาดโลกอย่างยั่งยืน”

สยามณัฐ พนัสสรณ์ อุปนายกฯ ฝ่ายอุตสาหกรรมและการพัฒนาธุรกิจ กล่าวว่า สมาคมสนับสนุนนโยบาย 30@30 ของรัฐ เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน การส่งเสริม อีวี  ไฮบริด รวมถึงส่งเสริมเชื้อเพลิง biofuel ล้วนมีส่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

ทั้งนี้สมาคมฯ มีพันธกิจสำคัญต่อเนื่อง คือส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิต อีวี รวมถึงการใช้ชิ้นส่วนและซัพพลายเชนในประเทศ

"หวังว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการส่งออก ให้เป็น product champion สร้างรายได้ให้ประเทศเช่นเดียวกับรถปิกอัพ”

โดยสมาคมเริ่มหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) และสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) ในการส่งเสริมการผลิต นอกจากนี้ยังร่วมมือกับบีโอไอดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่สนใจมาลงทุนในธุรกิจ EV หรือ Ecosystem อีกด้วย

จาตุรงค์ สุริยาศศิน อุปนายกฯ ฝ่ายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เผยว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม อีวี เป็นสิ่งที่เราต้องทำ เมื่อมีความต้องการจากผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นเห็นได้จากการเติบโตของจำนวนผู้ใช้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่รองรับการใช้ อีวี  ล้วนเป็นสิ่งจำเป็น 

ภารกิจและภาระหน้าที่ของสมาคมคือการผลักดันสิ่งอำนวยความสะดวกให้เกิดขึ้น และสนับสนุน พร้อมผลักดันนโยบายที่ยืดหยุ่นให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานพัฒนา ต่อยอด และสร้างประโยชน์ในห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง

ธมลวรรณ ชลประทิน อุปนายก ฝ่ายการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า ข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเปลี่ยนมาใช้ อีวี ภารกิจหลักของสมาคมคือการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสถิติจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ อีวี รุ่นและราคา สถานีชาร์จไฟฟ้าทั้งจำนวนและตำแหน่งที่ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมารยาทในการชาร์จ

ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของสมาคม เช่น Directory เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กับภารกิจและพันธกิจของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย”

สำหรับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเป็นสมาคมที่ไม่เเสวงหาผลกำไร โดยแนวทางของสมาคมมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการเเลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ยังรวมไปถึงการให้คำปรึกษาข้อบังคับมาตรฐาน และการดำเนินงานในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในไทย 

สมาคมมีสมาชิกที่มาจากภาคเอกชน สถาบันศึกษา รัฐวิสาหกิจ และบุคคลทั่วไปกว่า 390 ราย