ฮอนด้า ซีวิค 1.5 เทอร์โบ แรงได้ ประหยัดได้ ตัวเลือก ซี-เซ็กเมนต์
ฮอนด้า เริ่มขายซีวิคตั้งแต่ปี 2515 ปัจจุบันเเจเนอเรชั่น 11 เปิดตัวในไทย 6 ส.ค. 64 ด้วยรุ่น 1.5 เทอร์โบ ก่อนจะตามด้วยไฮบริด หรือ e:HEV มิ.ย. 65 พร้อมปรับไลน์อัพ รหัส RS ใน1.5 เทอร์โบ ย้ายไปอยู่ที่ไฮบริดแทน ล่าสุดสิงหาคาที่ผ่านมา ฮอนด้าปรับโฉม ซีวิค และเขย่าตลาดใหม่อีกครั้ง
โดยการปรับโฉมและเขย่า ฮอนด้า ซีวิค ครั้งล่าสุด ลดเหลือ 3 รุ่นย่อย โดยรุ่น 1.5 เทอร์โบ เหลือแค่รุ่นย่อยเดียวคือ EL+ และเป็นรุ่นเริ่มต้น ส่วนอีก 2 รุ่น เป็น ไฮบริด หรือ e:HEV (อี:เอชอีวี) โดยราคาทั้ง 3 รุ่นประกอบด้วย
- EL+ 1,039,000 บาท
- e:HEV EL+ 1,099,000 บาท
- e:HEV RS 1,239,000 บาท
วันนี้ผมพาไปขับหนึ่งเดียว เทอร์โบกันครับ
ก่อนอื่นไปดูกันว่า EL+ ปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง
เริ่มจากภายนอก
- เปลี่ยนกระจังหน้าและกันชนหน้าใหม่
- ไฟท้ายแอลอีดี รมดำ เพื่อเติมอารมณ์สปอร์ตมากขึ้น
- เพิ่มขนาดล้ออัลลอยจาก 215/55 R16 เป็นขนาด 17 นิ้ว พร้อมยาง 215/50 R17 ซึ่งเป็นขนาดเท่ากับที่เคยใช้ในรุ่น 1.5 เทอร์โบ RS ก่อนหน้านี้
- เพิ่มทางเลือกสีตัวถังใหม่ คือ น้ำเงินแคนยอนริเวอร์
ภายในห้องโดยสาร
- ปรับเปลี่ยนเป็นเบาะหนังแท้และหนังสังเคราะห์สีดำ
- ช่องปรับอากาศสำหรับผู้โดยสารตอนหลัง
- เบาะหลังพับได้แบบ 60:40
- แผงบังแดดคู่หน้าพร้อมกระจกแต่งหน้าแบบมีฝาปิดพร้อมไฟส่องสว่าง
- ติดตั้งกูเกิล บิวท์อิน ช่องเชื่อมต่อยูเอสบี ไทป์ C 4 ช่อง อยู่ด้านหน้า 2 ช่อง ด้านหลัง 2 ช่อง
ฮอนด้า ซีวิค 1.5 เทอร์โบ แม้จะเป็นรุ่นเริ่มต้น แต่ก็ใส่ออปชั่นให้มาไม่น้อย รวมถึง ฮอนด้า เซนส์ซิ่ง (Honda SENSING) ที่ทำงานผ่านกล้องมุมมองกว้างด้านหน้า แต่การปรับโฉมครั้งนี้ รุ่น เทอร์โบ ไม่ได้เพิ่มเซ็นเซอร์ด้านหน้า 4 จุด ด้านหลัง 4 จุดมาให้เหมือนรุ่นไฮบริด
โดยฟังก์ชันการทำงานของฮอนด้า เซนส์ซิ่ง คือ
ระบบเตือนการชนพร้อมระบบช่วยเบรก ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน พร้อมระบบปรับความเร็วตามรถยนต์คันหน้าที่ความเร็วต่ำ ระบบเตือนและช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ (Road Departure Mitigation System with Lane Departure Warning: RDM with LDW) ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ (Lane Keeping Assist System: LKAS) ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ และระบบเตือนเมื่อรถคันหน้าเคลื่อนที่
พูดถึงระบบช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกช่องทาง โดยปกติผมจะไม่ชอบใช้มันนัก เพราะหลายคันอารมณ์ไม่เป็นธรรมชาตินัก โดยเฉพาะการดึงพวงมาลัยแบบกระตุก และขืนแรงๆ
ทำให้บ่อยครั้งเลือกที่จะปิดระบบ เพราะเป็นที่รู้กันว่า การจะเปิดไฟเลี้ยวทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนช่องทางเพื่อให้ระบบรู้ว่าเราตั้งใจไป ไม่ใช่เผอเรอเป็นไปได้ยากในสภาพสังคมจราจรบ้านเราที่ขับกันเกะกะทุกช่องทาง ไม่สนระดับความเร็ว
แต่ระบบของฮอนด้าทำงานดีนะคับ แน่นอนแรงดึงนั้นมี แต่เป็นการดึงแบบนุ่มนวล ไม่ใช่แรงกระชาก ดึงให้ผู้ขับรู้ตัว แต่ถ้าจะผู้ขับจะยืนยันว่าจะไปทางนั้น ก็สามารถควบคุมพวงมาลัยได้ไม่ยาก เพราะฉะนั้นระบบนี้ของฮอนด้าทำให้สามารถเปิดทิ้งไว้ได้ครับ
ส่วนออปชั่นมาตรฐานอื่นๆ เช่น
ระบบช่วยเตือนความเหนื่อยล้าขณะขับขี่ กล้องมองภาพด้านหลังปรับมุมมอง 3 ระดับ เบรกเอบีเอส ระบบกระจายแรงเบรก (EBD) สัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติขณะเบรกกะทันหัน ระบบช่วยควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง
ระบบช่วยการออกตัวบนทางลาดชัน เบรกมือไฟฟ้า Auto Brake Hold ระบบล็อกรถอัตโนมัติเมื่อกุญแจรีโมทอยู่ห่างจากตัวรถ
มาตรวัดพร้อมหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบ TFT ขนาด 7 นิ้ว ถุงลม 6 ตำแหน่ง ลำโพง 8 ดอก เครื่องเสียงพร้อมหน้าจอสัมผัสขนาด 9 นิ้ว แบบ Advanced Touch รองรับการเชื่อมต่อ Apple CarPlay และ Android Auto แบบไร้สาย และระบบสั่งการด้วยเสียง Siri และ Android Auto
ระบบสตาร์ทเครื่องยนต์พร้อมเครื่องปรับอากาศด้วยกุญแจรีโมท เบาะนั่งด้านคนขับปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง พวงมาลัยปรับระดับได้ 4 ทิศทาง
ส่วนด้านเทคนิคไม่ได้เปลี่ยนอะไร เครื่องยนต์ยังเป็นตัวเดิม รองรับเชื้อเพลิงได้ถึง E85 ให้กำลังสูงสุด 178 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 240 นิวตันเมตร ที่ 1,700-4,500 รอบ/นาที ส่งกำลังผ่านเกียร์ ซีวีที อัตราสิ้นเปลืองตาม อีโค สติกเกอร์ ระบุไว้ที่ 17.2 กม./ลิตร
การลองขับ อัตราสิ้นเปลืองทีไ่ด้ถือว่าใกล้เคียงครับ ผมข้บจากกรุงเทพฯ ไปย่านปากช่อง ในรูปแบบของผมเอง ได้ตัวเลขที่ประมาณ 15.4 กม./ลิตร และขากลับลองขับกลมกลืนกับการจราจรทั่วไป ความเร็วไม่เกินกฎหมายกำหนด อาจจะมีเกินบ้างเล็กน้อยช่วงเร่งแซง หรือลงเนิน ก็ได้ตัวเลขที่ 17 กม./ลิตร ซึ่งอาจจะได้แรงหนุนจากภูมิศาสตร์ช่วงปากช่อง และช่วงมวกเหล็กที่เป็นเส้นทางลงเนินอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าสนใจ และน่าพอใจทีเดียวครับ
จุดเด่นผมว่าตัวเครื่องยนต์ตอบสนองได้ดี ลื่นไหล และไล่ความเร็วขึ้นได้เร็ว ต่อเนื่องให้อารมณ์สปอร์ต โดยเฉพาะหากขับแบบเติมน้ำหนักคันเร่งแบบนุ่มนวล ตามที่เกียร์ ซีวีที ชอบอารมณ์แบบนี้ แม้จะมีจังหวะดีเลย์ให้รู้สึกบางแต่ก็เล็กน้อยและช่วงสั้นๆ เท่านั้น ไม่มีผลกับการขับขี่แต่อย่างใด
การไล่ความเร็วช่วงกลางซึ่งน่าจะป็นช่วงที่ใช้กันจริงบ่อยครั้งบนท้องถนน ระดับประมาณ 80 กม./ชม. ไปจนทะลุ 100 หรือ 120 ก็ทำได้ดี นั่นหมายความว่าในการใช้งานจริง จังหวะเร่งแซง หรือจังหวะปรับเปลี่ยนช่องทาง ทำได้อย่างเบาใจ
เดินทางไกลๆ แบบนี้คุมง่าย เพราะรถนิ่ง ไม่วอกแวก แค่จับแบบประคองๆ พวงมาลัยที่มีน้ำหนักดี ก็ทำให้การขับขี่เป็นไปแบบผ่อนคลาย
การดูดซับแรงสั่นสะเทือนน่าจะเป็นสิ่งที่ชื่นชอบสำหรับผู้โดยสาร เพราะผ่านช่วงเส้นทางขรุขระหรือเป็นหลุมเป็นร่องได้ดี
การควบคุมรถในทางโค้งก็ยังถือว่าจัดการได้ดี เข้า-ออก ได้แม่นยำ แม้จะรู้สึกถึงการให้ตัวของตัวถังบ้างจากความนุ่มนวลของช่วงล่าง แต่ยังอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ดี หน้ารถคม รักษาทิศทางที่ต้องการไปได้ดี ท้ายรถอาจจะมีอาการพยายามออกบ้าง แต่ก็เล็กน้อยและไม่สร้างปัญหาอะไร
แต่ต้องบอกว่านี่เป็นการลองขับที่ใช้ความเร็วที่สูงกว่าที่ควรใช้เล็กน้อย
การยึดเกาะถนนทำได้ดี อาจมีอาการท้ายออกหรือหน้าดื้อบ้างเล็กน้อยในโค้งที่แคบมากๆ แต่แทบจะไม่ต้องแก้อาการอะไร เพราะเพียงแวบเดียวรถก็กลับมาอยู่ในภาวะปกติ
อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากการขับเส้นทางแบบนี้คือ ความแม่นยำของพวงมาลัย ช่วยให้การควบคุมรถทำได้ง่าย แม้ว่าน้ำหนักพวงมาลัยอาจจะรู้สึกเบาๆ ไปบ้าง แต่ก็นิ่งและมีความแม่นยำ ก็ช่วยให้การควบคุมรถไม่เครียด
ส่วนอาการโยนของตัวถังมีบ้างเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับจะเป็นปัญหาในการขับขี่ ยังคงสามารถควบคุมรถในขณะที่ใช้ความเร็วได้ดี
โดยรวม ซีวิค 1.5 เทอร์โบ เป็นรถในกลุ่ม ซี-เซ็กเมนต์ ที่น่าใช้ ห้องโดยสารกว้างขวาง นั่งได้สบาย ตำแหน่งผู้ขับขี่นั่งแล้วรู้สึกกระชับมีความเป็นส่วนตัว การออกแบบภายในดูแกรนด์ ไม่รกเลอะ การใช้งานมีความนุ่มสบาย และอารมณ์สปอร์ตที่สามารถผสมผสานกันได้ ขับในเมืองก็คล่องตัว เดินทางไกลก็ไม่เหนื่อยครับ