สเตลแลนทิส เสริมแกร่งตลาดเอเชีย รุกล่างขึ้นบน ดีลเลอร์ มัลติแบรนด์
รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี (EV) แม้ว่าช่วงนี้ความร้อนแรงจะลดลงไป แต่ก็ยังคงได้รับความสนใจจากผู้บริโภค และผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเสริมรถรุ่นใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด หรือ การเตรียมเข้ามาของรายใหม่ รวมถึง สเตลแลนทิส ที่เตรียมเปิดตัว Leapmotor ในไทย
ซึ่งในส่วนของรายใหม่ เร็วๆ นี้ก็จะได้เห็นการมาของ ริดดารา (Riddara), จีลี่ (Geelee) รวมถึง ลีปมอเตอร์ (Leapmotor)
ซึ่งความเคลื่อนไหวของตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี (EV) ที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ ก็ได้เห็นแบรนด์ใหม่เข้ามาเปิดตัว อย่าง ริดดาร่า (Riddara) และอีกไม่นานก็จะเป็น จีลี่ ออโต้ (GEELEE AUTO) ซึ่งอยู่ในกลุ่ม จีลี่ โฮลดิ้ง เหมือนกับ ริดดาร่า หรือว่าแบรนด์ที่ล่วงหน้ามาก่อนแล้ว อย่าง ซีเกอร์ (Zeekr)
และอีกแบรนด์หนึ่งที่ประกาศแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายในไทยเรยบร้อยแล้ว อย่าง ลีป มอเตอร์ (Leap Motor) ก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ
โดยก่อนหน้านี้ “สเตลแลนทิส” (Stellantis) กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ที่เกิดจาการรวมตัวกันระหว่างเฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิลส์ (รวมตัวกันระหว่างเฟียต กรุ๊ป อิตาลี กับ ไครสเลอร์ กรุ๊ป อเมริกา) และ พีเอสเอ กรุ๊ป จากฝรั่งเศส ทำให้มีแบรนด์ในเครือ 16 แบรนด์ ได้เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร
การร่วมมือระหว่างลีป มอเตอร์ กับสเทลแลนติส มี 2 ส่วน ส่วนแรก สเตลแลนทิส เข้าถือหุ้นในลีป มอเตอร์ ประเทศจีน 20% แต่ก็มีมูลค่าลงทุนไม่น้อย เฉียด 6 หมื่นล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งคือ การร่วมกันตั้งบริษัทใหม่ คือ ลีป มอเตอร์ อินเตอร์เนชันแนล (Leapmotor International B.V.) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 โดยความร่วมมือส่วนนี้ พันธมิตรจากโลกตะวันตกถือหุ้นใหญ่ 51%
บทบาทของบริษัทใหม่แยกจากบริษัทเดิมชัดเจน โดยลีปมอเตอร์ อินเตอร์เนชันแนล จะรับผิดชอบการจำหน่าย ส่งออก และการผลิตนอกประเทศจีน
ดังนั้นการเข้ามาทำตลาดในไทย ก็อยู่ในการดูแลของบริษัทใหม่ ที่มีสเตลแลนทิสเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
นี่เป็นความเคลื่อนไหวอีกครั้งที่สำคัญของสเทลแลนติส และเป็นหนึ่งในแนวทางที่กลุ่มต้องการสร้างความแข็งแกร่งผ่านการมีตัวเลือกที่หลากหลาย และการร่วมมือกับลีปมอเตอร์ ก็เป็นการเร่งการขยายตลาดอีวีให้เติบโตรวดเร็วยิ่งขึ้น แม้ว่าปัจจุบันบางแบรนด์ในเครือจะมีอีวีทำตลาดอยู่แล้วก็ตาม แต่หากมองความเป็นตลาดใหญ่ หรือ mass market ลีปมอเตอร์น่าจะตอบโจทย์ได้ดีกว่า
และสำหรับการทำตลาดในไทย สเตลแลนทิส แต่งตั้งกลุ่มทุนยานยนต์ที่มีประสบการณ์มานานคือบริษัท พระนครยนตรการ จำกัด (PNA) เป็นผู้ทำตลาด ลีปมเตอร์ ส่วนตัวแทนจำหน่ายหรือ ดีลเลอร์ ก็จะต้องขึ้นกับ พีเอ็นเอ ส่วนการคัดเลือกดีลเลอร์จะพิจารณาร่วมกันระหว่าง พีเอ็นเอ และ สเทลแลนทิส
ธวัชชัย จึงสงวนพรสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท พระนครยนตรการ จำกัด กล่าวว่า การที่พีเอ็นเอได้รับเลือกเป็นผู้ทำตลาดเป็นเพราะการมีประสบการณ์ในธุรกิจนี้อย่างยาวนานและมีระบบนิเวศที่ดี รวมถึงโรงงานประกอบรถยนต์บางชัน เยเนอเรล เอเซมบลี ที่ปัจจุบันรับจ้างผลิตให้กับบางยี่ห้อ
และแม้ว่าในช่วงนี้จะยังไม่มีการพูดคุยกันถึงเรื่องการประกอบรถกับสเตลแลนทิสก็ตาม แต่ในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ที่จะได้ใช้โรงงานแห่งนี้
โดยแผนการทำตลาดลีปมอเตอร์ เบื้องต้น พีเอ็นเอ จะสร้างโชว์รูมเอง 1 แห่ง ที่ถนนพหลโยธิน ฝั่งตรงข้ามตึกช้าง เพื่อเป็นแฟลกชิป โชว์รูม พร้อมแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย 12 แห่งในปีนี้ ช่วงแรกเน้นกรุงเทพฯ 7 แห่ง ที่เหลืออยู่ในปริมณฑล
รถรุ่นแรกที่จะเปิดตลาดคือ ซี 10 (C 10) รถในตลาด ดี-เอสยูวี ซึ่งเป็นอีกตลาดที่ได้รับความนิยม ซึ่งคู่แข่งก็เช่น ดีพอล เอส 07 เป็นต้น
เป้าหมายการจำหน่ายเบื้องต้นตั้งเป้าปีละ 1,500 คัน/โมเดล/ปี ซึ่งในอนาคต มีแผนที่จะเปิดรุ่นใหม่ปีละ 1 รุ่น
ธวัชชัย มั่นใจว่า ซี 10 แม้จะเป็นผู้มาใหม่ที่มีผู้เล่นในตลาดนี้จำนวนมาก ทั้งรถทั่วไป และอีวีจากจีน แต่หากลุกค้าได้สัมผัสกับตัวรถจะชื่นชอบ
“ซี 10 ไม่ได้ผลิตออกมาเพื่อตลาดจีน และเป็นเวิลด์ คาร์ การออกแบบเน้นไปทางยุโรป ระบบช่วงล่างก็พัฒนาโดยมาเซราติจากอิตาลี ที่อยู่ในกลุ่ม สเตลแลนทิสเช่นกัน และลีปมอเตอร์ก็ส่งออกไปจำหน่ายที่ยุโรปแล้วในขณะนี้”
กลับมาที่ภาพรวมของ พีเอ็นเอ ธวัชชัย ระบุว่าการทำตลาด ลีปมอเตอร์ ทำให้ พีเอ็นเอ ที่เคยเป็นผู้แทนจำหน่ายหรือ Distributor ก่อนจะลดบทบาทมาเป็นตัวแทนจำหน่าย หรือ Dealer กลับมาดำเนินธุรกิจ Distributor อีกครั้ง เป็นการเติมเติมธุรกิจของกลุ่ม
ทั้งนี้ในอดีต พีเอ็นเอเป็น ดิสทริบิวเตอร์ รถหลายยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็น โอเปิล,อัลฟ่า โรเมโอ, เฟียต, ฮุนได หรือว่า โปรตอน
ส่วนธุรกิจดีลเลอร์ประกอบด้วย อีซูซุ ฮอนด้า มิตซูบิชิ มาสด้า วอลโว่ ฟอร์ด โอโมดาแอนด์เจคู และเกรท วอลล์ รวมถึงเคยเป็นดีลเลอร์ เชฟโรเลต ก่อนจะถอนตัวออกจากตลาดประเทศไทยไป
นอกจากนี้การเข้ามาทำตลาด ลีปมอเตอร์ เพราะพีเอ็นเอ สนใจนโยบายของสเทลแลนติส ที่ต้องการขยายตลาดทั่วโลกและภูมิภาคนี้มากขึ้น และหนึ่งในแนวทางที่สำคัญคือ การสร้างความแข็งแกร่งให้กับดีลเลอร์ ด้วยนโยบายให้สิทธิ์ดีลเลอร์จำหน่ายรถทุกแบรนด์ในกลุ่มได้
เช่น ในประเทศไทย ซึ่งปัจุบันมีรถในกลุ่มสเตลแลนทิสจำหน่ายประกอบด้วย มาเซราติ เปอโยต์ จี๊ป ภายใต้กลุ่ม มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) หรือ เอ็มจีซี-เอเชีย ธุรกิจรายใหญ่ของไทย และลีป มอเตอร์ โดยพีเอ็นเอ ดังนั้นดีลเลอร์ลีปมอเตอร์ก็มีสิทธิที่จะขอจำหน่าย เปอโยต์ จี๊ป หรือ มาเซราติได้
รวมถึงในอนาคต สเทลแลนติสมีแผนที่จะเพิ่มแบรนด์เข้ามาทำตลาดในไทยเพิ่มเติม ทำให้ดีลเลอร์จะมีโอกาสในการขยายแบรนด์มากขึ้น
สำหรับแบรนด์ที่อยู่ในมือ สเตลแลนทิส ปัจจุบัน ประกอบด้วย อบาร์ธ, อัลฟ่า โรเมโอ, ไครสเลอร์, ซีตรอง, ดอดจ์, ดีเอส ออโตโมบิลส์, เฟียต, จี๊ป, แลนเซีย, มาเซราติ, โอเปิล, เปอโยต์, แรม, วอกซ์ฮอลล์, ฟรีทูมูฟ (Free2move) และ ลีสซีส์ (Leasys)
แนวคิดนี้เป็นแนวคิดใหม่ที่เริ่มต้นใช้ในเอเชีย ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ดีลเลอร์มีความแข็งแกร่งจากการเลือกแบรนด์รถที่เหมาะกับตลาดหรือความถนัดของตนเอง เรียกว่าเป็นแนวทางสร้างความแข็งแกร่งจากล่างขึ้นบน
และเมื่อดีลเลอร์มีธุรกิจที่แข็งแกร่งก็จะทำให้ภาพรวมทั้งกลุ่มแข็งแรง รองรับการแข่งขันที่มีความเข้มข้นมากขึ้นโดยตลอด