ควรทำ หรือ ไม่ควรทำ

ปัจจุบันนี้ผู้ใช้รถยนต์สามารถหาข้อมูล หรือคำแนะนำจากแหล่งต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าในอดีตมาก
แต่ในขณะเดียวกันแหล่งข้อมูลหรือคำแนะนำเหล่านั้น ก็อาจจะมีเหตุและผลที่ทำให้เกิดความเห็นหรือคำแนะนำต่างกันออกไป ทั้งที่กำลังพูดถึงหรือให้คำแนะนำในเรื่องเดียวกัน
การสื่อสารที่คลาดเคลื่อนจนเข้าใจต่างกันนั้น หากเกิดขึ้นกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แม้จะปฏิบัติผิดพลาด ก็ไม่มีความเสียหายใด ๆเกิดขึ้น อย่างนี้ก็ไม่เป็นไร แต่หากเป็นความผิดพลาดแล้วมีความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือร่างกาย อย่างนี้ต้องใช้ความระมัดระวังในการอธิบาย หรือทำความเข้าใจในคำแนะนำให้ถ่องแท้
เมื่อจะพูดถึงเรื่องของรถยนต์ ผมจะพูดเสมอว่าระหว่างคำแนะนำ กับข้อบังคับ มันมีความหมายต่างกันมาก เช่น ควรทำ กับต้องทำ หรือ ไม่ควรทำ กับห้ามทำ ความหมายที่ต่างกันก็คือ ควรทำและไม่ควรทำนั้นเป็นคำแนะนำที่จะทำตามหรือไม่ได้ ไม่มีผลเสียหายใหญ่หลวง เช่น ควรตรวจแรงดันลมยางอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง หมายความว่า จะตรวจลมยางหรือไม่ตรวจก็ไม่เป็นไร เพราะหากลมยางอ่อนก็ยังแล่นต่อไปได้ ส่วนเรื่องของต้องทำหรือห้ามทำนั้น เช่น ทุกครั้งที่สตาร์ตเครื่องยนต์ เกียร์ต้องอยู่ในตำแหน่ง N หรือ P เท่านั้น เพราะมิเช่นนั้นอาจจะสตาร์ตเครื่องยนต์ไม่ได้ หรือบางครั้งสตาร์ตได้รถก็จะกระชากเคลื่อนที่ไปข้างหน้าจนเกิดอุบัติเหตุได้
วันนี้ผมมีเรื่องที่จะมา “แนะนำ” ว่าควรทำและไม่ควรทำอย่างไรบ้าง เพื่อลดความเสียหายหรือลดการสึกหรอลงไป อันจะส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา และซ่อมบำรุงได้มาก ประการแรกก็คือ ก่อนถึงจุดหมายปลายทางเล็กน้อย ควรปิดสวิตช์ทำความเย็นของระบบเครื่องปรับอากาศ เปิดเฉพาะพัดลมในระบบปรับอากาศเท่านั้น คำแนะนำเรื่องนี้ปัจจุบันมีผู้รู้หลายท่านออกมาโต้แย้งว่า เป็นคำแนะนำที่โบราณและเชยมากเพราะระบบปรับอากาศและระบบสตาร์ตเครื่องยนต์ในรถยนต์สมัยนี้ ไม่ได้ทำให้กระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่ถูกใช้งานมากจนแบตเตอรี่เสื่อมง่ายเหมือนเดิม
แต่เหตุผลที่ผมยังแนะนำ ก็คือ จะช่วยขับไล่ความชื้นออกจาครีบทำความเย็นในตู้แอร์ และหากมีหยดน้ำหลงเหลืออยู่ในระบบแอร์ น้ำก็หยดลงไปที่พื้นถนนจนหมดก่อนจะถึงจุดหมายปลายทาง ทำให้ลดกลิ่นเหม็นอับได้
อีกคำแนะนำก็คือ เมื่อได้ขับรถยนต์คันใหม่ ควรรันอินสักระยะหนึ่งก่อน ก็จะมีผู้รู้ออกมาโต้แย้งว่า วิวัฒนาการของเทคโนโลยียานยนต์ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องรันอินหรือรันนิ่งอินอีกแล้ว แต่เหตุผลที่ผมยังแนะนำคือ ความหมายของคำว่ารันอินในปัจจุบันนี้สำหรับผมแล้ว มันปรับเปลี่ยนไปตามเวลา ซึ่งหากจะไปใช้คำใหม่ก็จะยิ่งทำให้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนมากขึ้น ผมจึงยังคงใช้คำว่ารันอิน เพราะวิธีการรันอินยังคงเหมือนเดิม นั่นคือไม่ออกตัวกระโชกโฮกฮาก ไม่เบรกรถอย่างกระทันหันเอี๊ยดอ๊าดเป็นประจำ ไม่เร่งแซงแบบรวดเร็วหรือปรู๊ดปร๊าดบ่อยๆ
เหตุผลก็คือเพราะอุปกรณ์หรือตำแหน่งของคันบังคับต่าง ๆ อาจจะยังไม่คุ้นชิน อาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นมาได้ บวกกับหลายครั้งที่มีความผิดพลาด หรือบกพร่องจากสายพานการผลิต การขับรถแบบ “รันอิน” จะทำให้เกิดความเสียหายน้อยลง หรืออาจจะยับยั้งความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดนั้นได้ และคำแนะนำเรื่องการรันอินของผมนั้น ยังลามไปถึงการเปลี่ยนรถขับ ที่แม้จะเป็นรถที่ผ่านการใช้งานมานานแล้วก็ตาม แต่ไม่ใช่รถยนต์ที่เราใช้เป็นประจำในชีวิตประจำวัน
เพราะเมื่อเราเปลี่ยนไปขับรถยนต์คันอื่น เช่น เปลี่ยนไปขับรถยนต์ของพ่อหรือของลูกชั่วคราว หรือไปเช่ารถใช้เที่ยวต่างที่ต่างแดน สิ่งพบว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นบ่อยที่สุดก็คือ การใช้สวิตช์ไฟเลี้ยวกับสวิตช์ที่ปัดน้ำฝนสลับกัน หรือหลายครั้งที่โยกคันเกียร์อัตโนมัติผิดทิศทางกันเพราะบางยี่ห้อเมื่อต้องการเปลี่ยนให้เป็นเกียร์ต่ำ ใช้การผลักคันเกียร์ไปด้านหน้า เมื่อจะใช้เกียร์สูงก็โยกลงมาด้านหลัง แต่บางยี่ห้อจะเป็นไปในทิศทางที่ตรงกันข้าม ซึ่งหากโยกคันเกียร์ผิดทิศทาง อาจจะทำให้เกียร์เสียหาย หรืออาจจะเกิดอุบัติเหตุได้
คำแนะนำอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับพวงมาลัยและล้อรวมไปถึงศูนย์ล้อ ผมจะแนะนำเสมอ ๆ ว่า อย่าหักพวงมาลัยขณะจอดหยุดนิ่งและล้อยังไม่ได้หมุนเคลื่อนที่ เพราะจะทำให้ระบบบังคับเลี้ยวต้องทำงานหนักและสึกหรอเร็วกว่าปรกติ อีกทั้งการสึกของหน้ายางที่ล้อหน้าก็ จะไม่สึกไปตามรูปแบบที่ควรเป็น ดังนั้นเมื่อต้องการหักพวงมาลัยเพื่อเลี้ยวรถ ก็ควรเคลื่อนที่รถไปเล็กน้อย แล้วจึงค่อยหักพวงมาลัยไปตามต้องการ
และเมื่อรถจอดหยุดนิ่งอยู่กับที่ก็ไม่ควรหักพวงมาลัยจนสุด เช่น กรณีที่จอดรถรอจังหวะเลี้ยวกลับรถ เมื่อต้องหักพวงมาลัยแล้วรู้สึกว่าหักจนสุดมีอาการสะดุดเกิดขึ้น ให้คืนพวงมาลัยกลับมาเล็กน้อย จนช่วยป้องกันการเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อีกทั้งเมื่อต้องจอดรถก็เช่นกัน ให้ตั้งล้อตรงทุกครั้งเมื่อจอดรถ เพราะหากจอดรถโดยล้อรถไม่อยู่ในทิศทางตรง น้ำหนักของตัวรถจะกดลงไปบนช่วงล่างด้านหน้า และระบบบังคับเลี้ยวมากเกินไป หากทำบ่อย ๆ ทำซ้ำ ๆ ก็อาจจะทำให้ศูนย์ล้อชำรุดเร็วกว่าปรกติ ช่วงล่างและระบบบังคับเลี้ยวก็จะเสียหายได้
ไม่ควรเร่งเครื่องยนต์แบบที่เรียกกันว่าเบิ้ลเครื่องบ่อย ๆ เพราะจะทำให้ลูกยางแท่นเครื่องฉีกขาดเสียหายเร็วขึ้น และไม่ควรปล่อยให้มีของหนักอยู่บนรถเป็นเวลานาน ๆ เช่น บางท่านอาจจะมีกระเป๋าสัมภาระ หรือของหนักอื่นอยู่ในฝากระโปรงท้ายตลอดเวลา เพราะจะทำให้ระบบช่วงล่างด้านท้ายยุบตัวนานเกินจนเสียหายขึ้นมาได้
ท้ายที่สุดเมื่ออยู่ในช่วงอากาศเย็น หรือเมื่อต้องจอดรถไว้นานเกิน ๓ วัน เวลาสตาร์ตเครื่องยนต์ ไม่ควรเคลื่อนรถออกไปทันที ควรปล่อยให้เครื่องยนต์ทำงานแบบที่เรียกว่าอุ่นเครื่องไปสัก ๑ หรือ ๒ นาที เพื่อให้น้ำมันเครื่องถูกสูบฉีดขึ้นไปเลี้ยงชิ้นส่วนด้านบนจนทั่วถึงก่อน
การทำเช่นนี้จะช่วยลดการสึกหรอ จากการเสียดสีของชิ้นส่วนต่างๆลงไปได้ครับ