ศูนย์ทดสอบแบตฯ “อีวี” พร้อมบริการปีหน้า

ศูนย์ทดสอบแบตฯ “อีวี” พร้อมบริการปีหน้า

สมอ. จับมือสบาบันยานยนต์ ยกระดับอุุตฯ ยานยนต์ไฟฟ้า

       รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามีบทบาทมากขึ้นในตลาดบ้านเรา แม้ว่าในกลุ่มที่เป็นพลังงานไฟฟ้า 100% หรือ อีวี จะยังมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็เริ่มมีทิศทางที่เด่นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะเอ็มจี แซดเอส อีวี ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ถึงปัจจุบันมียอดจอง 2,200 คัน โดยทางเอ็มจีสามารถส่งมอบได้แล้ว 1,000 คัน 

       แต่พลังงานไฟฟ้าในรถยนต์ ยังรวมไปถึงรถไฮบริด และ ปลั๊ก-อินไฮบริด ที่ขณะนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

       หัวใจหลักของรถทั้ง ไฮบริด ปลั๊กอิน ไฮบริด และ อีวี คือ แบตเตอรีพลังงานสูง ซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้น และขณะนี้ก็เริ่มมีการประกอบในประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้นหน่วยงานรัฐจึงต้องขยับตัวให้ทันกับเรื่องนี้มากขึ้นเช่นกัน 

      ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และ สถาบันยานยนต์ ได้ร่วมมือกันสร้าง ศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า” โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการทดสอบมาตรฐานและความปลอดภัยแบตเตอรี่ครบวงจรแห่งแรกในอาเซียน ด้วยมาตรฐานระดับสากล UNECE R100 และ R136 ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2563 

      ทั้งนี้สถาบันยานยนต์ หน่วยงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการทดสอบตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2017 จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อเป็นหน่วยบริการทดสอบมาตรฐานยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ให้เป็นไปตามที่กำหนด จะเป็นผู้ดำเนินการ โดยได้รับสนับสนุนจาก สมอ.และ บริษัท ทูฟ ซูด พันธมิตรผู้เชี่ยวชาญ การทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก มีเป้าหมายร่วมกัน เพื่อผลักดันอุตสาหกรรม

       ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศไทยให้ให้เป็นแนวหน้าของอาเซียนอย่างยั่งยืน

       ศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า จะตั้งอยู่ในศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา

       วันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า อุตสาหกรรรมยานยนต์กำลังเปลี่ยนแปลงสู่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่” มุ่งสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ภารกิจของ สมอ. ที่ต้องการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภายในประเทศ และตรวจรับรองผลิตภัณฑ์ให้เกิดความปลอดภัย ตามมาตรฐานสากล จึงได้สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ให้มีความพร้อมและสามารถรองรับการทดสอบชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ ให้คำปรึกษาแนะนำการทดสอบ การวิจัยและนวัตกรรมภายในประเทศ 

       “ศูนย์ทดสอบยานยนต์แบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งนี้ จึงควรได้รับการสนับสนุนเต็มที่เพื่อช่วยส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ โดยเฉพาะการช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และประหยัดเวลา สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบยังต่างประเทศและยังสามารถเป็นที่ปรึกษาและฐานข้อมูล เพื่อเสริมสร้างความรู้ทางเทคนิควิชาการ งานวิจัย และนวัตกรรมใหม่ๆ โดยความร่วมมือจากภาครัฐบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง"

       อดิศักดิ์ โรหิตะศุน ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า การก่อสร้างศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าได้ดำเนินการตามแผนการ เช่น การออกแบบที่ทันสมัย การคัดเลือกผู้รับเหมา และเริ่มดำเนินการก่อสร้างด้วยงบประมาณการลงทุนสำหรับอาคารและเครื่องมือทั้งโครงการเป็นจำนวนเงินกว่า 300 ล้านบาท โดยในระยะแรกสามารถให้บริการทดสอบแบตเตอรี่ได้ทันที 5 รายการ จาก 9 รายการทดสอบ ตามมาตรฐานสากล UNECE R100 ได้แก่ ชุดทดสอบความแข็งแกร่งของโครงสร้างชุดแบตเตอรี่ (Mechanical integrity Test) ชุดทดสอบการลัดวงจร (External short circuit protection) ชุดทดสอบระบบป้องกันการชาร์จเกิน (Overcharge protection) ชุดทดสอบระบบดิสชาร์จเกิน (Over-discharge protection) และชุดทดสอบการป้องกันอุณหภูมิเกิน (Over-temperature protection Test)

       ส่วนการให้บริการทดสอบครบทุกรายการจะเกิดขึ้นภายในปี 2564 ซึ่งจะทำให้เป็นศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่สามารถทำการทดสอบอย่างเต็มรูปแบบและครบวงจรที่สุดในอาเซียน

       "ห้องปฏิบัติการจะสามารถทดสอบความปลอดภัยของแบตเตอรี่ตามมาตรฐาน UNECE R100 สำหรับยานยนต์ และ UNECE R136 สำหรับรถจักรยานยนต์ รวมถึงสามารถทดสอบ เพื่อการวิจัยและพัฒนาในการปรับปรุงสมรรถนะของแบตเตอรี่ ในระดับเซลล์ (Cell) โมดูล (Module) และระบบ (System)" อดิศักดิ์กล่าว 

       ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ แบ่งเป็น โครงการผลิตรถไฮบริด 4 ราย ปลั๊ก-อิน ไฮบริด 4 ราย ยานยนต์ไฟฟ้า 1 ราย และยังรอการอนุมัติ 1 ราย นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนผลิตแบตเตอรี่เพื่อยานยนต์ไฟฟ้าเปิดทำการแล้ว อีก 4 ราย

 

อ่านข่าว-พพ.ระดมสมองศึกษาผลกระทบรถอีวี หวังปรับแผน