เบนซ์ แจงเหตุ เลื่อนแผนเปิดตัว "อีวี"

เบนซ์ แจงเหตุ เลื่อนแผนเปิดตัว "อีวี"

ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา โรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน มีประเด็นที่น่าสนใจคือ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี ที่เจรจารายละเอียดบางอย่างกับภาครัฐไม่ลงตัว ทำให้แผนการที่จะเปิดตัว "อีคิวซี" ต้องเลื่อนออกไป

     อย่างไรก็ตามข่าวสารที่เผยแพร่ออกไป มีทั้งการระบุว่าเบนซ์ยกเลิกการลงทุน ดังนั้นเมื่อกันอีกครั้งในงาน มหกรรมยานยนาต์ โฟล์เกอร์ จึงมีคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

      ประธานบริหาร เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทชะลอการเปิดตัวจริง และการพูดคุยกับภาครัฐที่ไม่ลงตัวก็เป็นเรื่องจริง แต่ว่ายังไม่ได้พับแผน เพราะขณะนี้การเจรจาก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้นในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการถึงระดับบริหาร และเจรจากันบ่อยแทบจะสัปดาห์ละครั้งหรืออย่างน้อย 2 สัปดาห์ หารือ 1 ครั้ง 

157503798822

       ประเด็นที่ยังค้างคากันก็คือ จำนวนรถยนต์ที่จะนำเข้ามาในรูปแบบรถสำเร็จรูป (CBU) โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุน ที่บริษัทยื่นขอและได้รับการส่งเสริมโครงการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ แล้ว ซึ่งมีข้อหนึ่งที่เปิดให้ผู้ที่ได้รับอนุมัติสามารถนำรถเข้ามาทำตลาดได้จำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นการทดลองตลาด สร้างการรับรู้ให้กับตลาด ก่อนเปิดตัวรุ่นผลิตในประเทศหรือ CKD โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ระยะเวลา 15 เดือน ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภครู้ว่าเมื่อเปิดตัวรุ่นซีเคดี ราคาจะอยู่ประมาณเท่าไร 

       แต่สิ่งที่ยังมองไม่ตรงกันคือ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยื่นขอนำเข้า อีคิว ซี 500-600 คัน ขณะที่ภาครัฐให้น้อยกว่านี้ โดยทางค่ายรถจากเยอรมนีบอกว่าแต่เพียงว่าน้อยกว่าที่ยื่นขอไปมาก 

157503797733

       เมอร์เซเดส-เบนซ์มองว่าจำนวนที่ยื่นขอไปนั้นมีความเหมาะสม เพราะปัจจุบันบริษัทมีเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายรวม 34 แห่ง ที่จะต้องกระจายรถไปให้ ดังนั้นหากมีจำนวนที่น้อย ก็จะเหลือแห่งละไม่กี่คัน ซึ่งไม่คุ้มค่ากับการลงทุนเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงจุดชาร์จ และที่สำคัญก็คือ การลงทุนด้านบุคลากร เพราะ อีวี จะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคนิคครั้งสำคัญ จากเครื่องยนต์มาเป็นระบบไฟฟ้า

       ขณะที่ภาครัฐมองจำนวนรถซีบียูที่จะอนุมัติให้นำเข้ามาผ่านเงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญคือ มูลค่าการลงทุนในโครงการนี้ และเห็นว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ มีการลงทุนไม่สูงนัก

       โฟล์เกอร์ กล่าวว่า บริษัท พยายามชี้แจงประเด็นนี้ให้ภาครัฐเห็นว่า อาจจะดูว่าบริษัทลงทุนไม่มากนัก แต่นั่นเป็นการลงทุนโดยตรง แต่จริงๆ แล้วบริษัทลงทุนทางอ้อมจำนวนมาก ผ่านทางพันธมิตรที่สำคัญก็คือ กลุ่มธนบุรีประกอบรถยนต์ ที่รับจ้างประกอบรถยนต์ให้กับเมอร์เซเดส-เบนซ์

       แต่ทั้งนี้ที่ผ่านมาแม้บริษัทจะจ้างธนบุรีฯ แต่บริษัทก็เป็นผู้สนับสนุนการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการปรับสายการผลิต การพัฒนาโรงงานใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันที่เคยรับจ้างประกอบรถยนต์ยี่ห้ออื่นเพื่อเพิ่มการผลิตเมอร์เซเดส-เบนซ์ นอกจากนี้ก็ยังลงทุนโรงงานประกอบแบตเตอรีไปแล้ว และเริ่มต้นผลิตป้อนให้กับการประกอบรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอนาคต ตามแผนคือป้อนให้กับรถ อีวี 

157503797755

       ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องการให้รัฐเห็นถึงแนวทางการดำเนินงาน การลงทุนของบริษัทที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ทั้งปลั๊กอิน-ไฮบริด และ อีวี 

       "เป้าหมายของพวกเราก็คือ ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิต และส่งออก และแสดงให้บริษัทแม่ที่เยอรมนีเห็นว่า เรามีความพร้อม ประเทศไทยมีความพร้อม และเมื่อเกิดความล่าช้าขึ้น พวกเราทุกคนที่ทำงานที่นี่ก็ยังคงเป้าหมายเดิมคือผลักดันไทยต่อไป แต่มุมมองของบริษัทแม่นั้นเราไม่รู้ว่าเมื่อยืดเยื้อออกไป เขาจะมองเรื่องนี้อย่างไร"

       ทั้งนี้คาดว่ามุมมองของบริษัทแม่ก็มีหลายแนวทาง และเป็นไปได้ที่จะมองการใช้สิทธิพิเศษด้านภาษีจากข้อตกลงเขตการค้าเสรี อาเซียน-จีน ที่ไม่มีภาษีนำเข้ารถพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากขณะนี้ เดมเลอร์ เอจี ก็มีแผนที่จะเข้าไปลงทุนผลิต อีวี ในจีน เช่นกัน 

       สำหรับเขตการค้าเสรี อาเซียน-จีน ขณะนี้มีผู้ที่ใช้สิทธิแล้วคือ เอ็มจี ที่นำเข้า แซดเอส อีวี โดยไม่เสียภาษีนำเข้า

       โฟล์เกอร์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หน้าที่หลักของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ก็คือ จะต้องพยายามเดินหน้า ผลักดันให้โครงการผลิต อีวี เกิดในประเทศไทยให้ได้

***** 

157503797766