ตกงานเยอะ ค่าครองชีพสูง วัยทำงานญี่ปุ่น 78% วิตกกังวลสูงเป็นประวัติการณ์
รายได้ต่ำ ตกงานเยอะ ค่าครองชีพสูง วัยทำงานญี่ปุ่น 78% วิตกกังวลสูงเป็นประวัติการณ์ สาเหตุหลักๆ มาจากเศรษฐกิจผันผวน ค่าครองชีพสูง โอกาสในการทำงานที่ไม่แน่นอน และสถานการณ์ความไม่สงบของโลก
KEY
POINTS
- วัยทำงานชาวญี่ปุ่น 78% รู้สึกวิตกกังวลสูงเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่สำนักงานคณะรัฐมนตรีเริ่มดำเนินการสำรวจประจำปีในปี 1981 และสูงขึ้นจาก 75.9% ของปี 2023 อีกด้วย
- แรงงานญี่ปุ่นจำนวนมากรู้สึกว่า มาตรฐานการครองชีพของพวกเขากำลังลดลง คุณภาพชีวิตด้อยลง วัยทำงานญี่ปุ่น 46.3% ระบุว่าตนอยู่ในชนชั้นกลาง ซึ่งลดลงจาก 46.7% ของปีที่แล้ว ส่วนผู้ที่ระบุว่าตนอยู่ในชนชั้นต่ำสุดของสังคมญี่ปุ่น อยู่ที่ 8.7% เพิ่มขึ้นจาก 8.1% ของปีที่แล้ว
- ราคาสินค้าในร้านค้า รวมถึงราคาเชื้อเพลิงอย่างน้ำมันรถยนต์ ไฟฟ้า และแก๊สที่ใช้ภายในบ้าน ต่างก็พุ่งสูงขึ้นไม่หยุด ..สำหรับคนที่เกษียณแล้วและมีเงินออมจำกัด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก
ความวิตกกังวลในการทำงานและการใช้ชีวิต กลายเป็นปัญหาใหญ่ของวัยทำงานยุคดิจิทัลทั่วโลก เหตุเพราะแรงกดดันหลายๆ ด้านกระทบชีวิตคนทำงาน ทั้งในมิติสังคม เศรษฐกิจ การเมือง อย่างล่าสุดก็มีงานวิจัยใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ปี 2024 ที่ผ่านมาวัยทำงานชาวญี่ปุ่น 78% รู้สึกวิตกกังวลสูงเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มสูงขึ้นจาก 75.9% ของปี 2023
โดยสาเหตุหลักๆ มาจากเศรษฐกิจผันผวนรุนแรง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น โอกาสในการทำงานที่ไม่แน่นอน และสถานการณ์ความไม่สงบของโลก เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้พวกเขารู้สึกกังวลอย่างมาก
มาตรฐานการครองชีพญี่ปุ่นแย่ลง? คนชนชั้นกลางลดลง คนจนเพิ่มขึ้น!
วัยทำงานชาวญี่ปุ่นที่มีความกังวลต่อชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในปี 2024 นับตั้งแต่สำนักงานคณะรัฐมนตรีเริ่มดำเนินการสำรวจประจำปีในปี 1981 ขณะเดียวกันการสำรวจยังเผยให้เห็นด้วยว่า แรงงานญี่ปุ่นจำนวนมากรู้สึกว่ามาตรฐานการครองชีพของพวกเขากำลังลดลง โดยพบว่า พนักงานกลุ่มตัวอย่าง 46.3% ระบุว่าตนอยู่ในชนชั้นกลาง ซึ่งลดลงจาก 46.7% ของปีที่แล้ว
ถัดมา 14.2% รายงานว่าตนเองอยู่ในระดับชนชั้นกลางค่อนสูง ซึ่งลดลงจาก 14.7% ของปีที่แล้ว ในขณะที่ 28.1% ระบุว่าตนอยู่ในชนชั้นกลางค่อนล่าง ซึ่งลดลงจากร้อยละ 25.5% ของปีที่แล้ว ส่วนผู้ที่ระบุว่าตนอยู่ในชนชั้นต่ำสุดของสังคมญี่ปุ่น อยู่ที่ 8.7% เพิ่มขึ้นจาก 8.1% เมื่อปีที่แล้ว
ทั้งนี้ตามรายงานยังพบข้อมูลเกี่ยวกับความกังวลด้านการเงินของพวกเขาอีกว่า..
- 64% กังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง
- 62.8% กลัวว่าจะจัดการชีวิตหลังเกษียณอย่างไร
- 58% กังวลเกี่ยวกับรายได้และเงินออมในอนาคต
- 64.5% ไม่พอใจกับรายได้ปัจจุบันของตนเอง (ลดลง 3.5% จากปีก่อน)
ญี่ปุ่นอาจเจอยุคข้าวยากหมากแพงของจริง ค่าอาหารค่าเชื้อเพลิงแพงขึ้น!
ยกตัวอย่างเคสของ “โทโมโกะ โอโนะ” พนักงานธนาคารที่เกษียณอายุแล้วจากจังหวัดไซตามะ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของโตเกียว เธอให้ข้อมูลผ่าน This Week in Asia ว่า “ดูเหมือนสิ่งต่างๆ ในชีวิตจะเปลี่ยนไปมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มจากการระบาดใหญ่ และฉันไม่เห็นว่ามันจะดีขึ้นเลย”
เธอบอกอีกว่าราคาสินค้าในร้านค้า รวมถึงราคาเชื้อเพลิงอย่างน้ำมันรถยนต์ ไฟฟ้า และแก๊สที่ใช้ภายในบ้าน ต่างก็พุ่งสูงขึ้นไม่หยุด ..สำหรับคนที่เกษียณแล้วและมีเงินออมจำกัด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก
ขณะที่ “เคน คาโตะ” เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กจากโตเกียวก็แสดงความเห็นคล้ายกันว่า ภรรยาของเขาตกใจกับราคาข้าวของที่สูงขึ้นเป็นประจำเช่นกัน ทุกครั้งที่เธอกลับมาจากซูเปอร์มาร์เก็ต เธอมักจะพูดว่า 'ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าทุกอย่างจะแพงขึ้นขนาดนี้' อีกทั้งพวกเขาสองคนยังกังวลเรื่องการขาดแคลนอาหารจากภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว อีกด้วย
ความกังวลสำคัญอีกประการของคาโตะคือ สถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เลวร้ายลงในโลก ตั้งแต่ยูเครนไปจนถึงกาซา คาบสมุทรเกาหลี และคำถามเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ชุดใหม่ในกรุงวอชิงตัน
“สถานการณ์นี้ทำให้ชาวญี่ปุ่นรู้สึกวิตกกังวลไปทั่วทั้งประเทศ ผมเองก็เป็นห่วงแผนการของจีนและเกาหลีเหนือ ว่าจะทำอะไรกับขีปนาวุธพิสัยไกล และการเป็นพันธมิตรกับรัสเซียอาจส่งผลกระทบระยะยาว สิ่งเหล่านี้ทำให้ทุกคนในญี่ปุ่นเป็นกังวล และผมก็เป็นห่วงลูกๆ ของผมด้วย”
โลกโซเชียลญี่ปุ่นวิจารณ์ดุเดือด การจ้างงานลดลง ค่าจ้างแย่ลง
ไม่เพียงเท่านั้น ในโลกโซเชียลมีเดียของญี่ปุ่นก็ดุเดือดไม่แพ้กัน มีหลากหลายความเห็นที่โพสต์กล่าวโทษนักการเมืองว่าเป็นสาเหตุของปัญหาที่น่าวิตกกังวลของประเทศญี่ปุ่น เพราะเข้ามามีอำนาจในภาครัฐแล้วแต่กลับไม่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการจ้างงาน ค่าจ้างขั้นต่ำ หรือช่วยเหลือด้านค่าครองชีพ ฯลฯ
ยกตัวอย่างบางโพสต์ในโลกโซเชียล เช่น “นับตั้งแต่พรรคเสรีประชาธิปไตยเข้ามามีอำนาจ ค่าจ้างก็แย่ลงและความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติของญี่ปุ่นก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ” และ “ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงและภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนลำบากกว่าที่เคย แต่นักการเมืองกลับพยายามขอรับเงินบริจาคจากบริษัทและองค์กรต่างๆ”
ชาวเน็ตหลายรายสะท้อนมุมมองว่า พวกเขาคาดการณ์ว่าค่าครองชีพในญี่ปุ่นจะพุ่งสูงต่อเนื่องในปี 2025 ซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตให้แย่ลง ทั้งการขึ้นภาษีและค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง ทำให้สินค้าที่นำเข้ามากมายมีราคาแพงขึ้นไปอีก และอีกหนึ่งความเห็นที่สะท้อนถึงความกังวลและความสิ้นหวังขั้นสุดของวัยทำงานชาวญี่ปุ่น ก็คือ
“ฉันเอาชนะความวิตกกังวลและยอมแพ้แล้ว ฉันตัดสินใจว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ร่างกายของฉันเหนื่อยล้ามาก และทุกๆ วันก็ล้วนแต่เป็นงานหนัก และไม่มีอะไรสนุกให้ทำ ฉันไม่มีอะไรเหลือให้ทำในชีวิต และฉันไม่เสียใจ ฉันไม่สนใจว่าเมื่อถึงเวลาของฉัน ตราบใดที่ฉันไม่ต้องทนทุกข์อีกต่อไป ฉันทิ้งชีวิตของฉันไปแล้ว ถ้าฉันยอมแพ้ขนาดนั้น ก็ไม่มีอะไรต้องกลัวในยุคสมัยนี้”