ญี่ปุ่นตั้งเป้าดึง Digital nomad เข้าประเทศมากขึ้น หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

ญี่ปุ่นตั้งเป้าดึง Digital nomad เข้าประเทศมากขึ้น หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

ญี่ปุ่นปูพรมต้อนรับ Digital nomad คนทำงานระยะไกลจากทั่วโลกซึ่งมีกำลังซื้อสูง หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ใช้ประโยชน์จาก Digital Nomad Visa 

KEY

POINTS

  • ญี่ปุ่นตั้งเป้าดึงดูดคนทำงานกลุ่ม Digital nomad ให้เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในประเทศมากขึ้น หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น
  • A Brother Abroad ประมาณการว่า ปัจจุบันมีกลุ่ม Digital Nomads ทั่วโลกประมาณ 35 ล้านคน โดยพวกเขาเป็นกลุ่มที่มีกำลังจ่ายสูง โดยเฉลี่ยใช้จ่ายค่ากินค่าอยู่ประมาณ 22,500 ดอลลาร์ต่อปี
  • ทางการญี่ปุ่นใช้ประโยชน์จาก “Digital Nomad Visa” เพื่อช่วยเปิดทางให้แรงงานทักษะสูงชาวต่างชาติ เข้ามาทำงานและพำนักในญี่ปุ่นมากขึ้น ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว

ปัจจุบันเทรนด์การทำงานแบบ Digital nomad หรือการทำงานได้จากทุกที่บนโลกผ่านออนไลน์ กำลังมาแรงและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะแรงงานทักษะสูงในสายงานด้านเทคโนโลยี วิศวกรซอฟต์แวร์ มาร์เก็ตติ้งออนไลน์ ฯลฯ มักจะตอบโจทย์การทำงานลักษณะนี้ได้เป็นอย่างดี โดยมีหลายๆ ประเทศเปิดต้อนรับวัยทำงานกลุ่มนี้เข้าประเทศมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศญี่ปุ่น

สำนักข่าว The Japan News รายงานว่า ปีนี้ญี่ปุ่นตั้งเป้าดึงดูดคนทำงานกลุ่ม Digital nomad ให้เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในประเทศมากขึ้น โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นได้ ท่ามกลางความท้าทายด้านขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่น

สำหรับ Digital nomad คือกลุ่มวัยทำงานที่มีรูปแบบการทำงานจากระยะไกล (Remote work) แบบ 100% โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลและการเชื่อมโยงเครือข่ายออนไลน์ในการทำงาน นับเป็นรูปแบบการทำงานที่เริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษปี 2000 เป็นต้นมา (แต่ช่วงแรกยังไม่แพร่หลายมากนัก) เนื่องจากการทำงานจากระยะไกลและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเริ่มแพร่หลายมากขึ้น

Digital Nomad กลุ่มวัยทำงานกำลังซื้อสูง ใช้จ่ายประมาณ 22,500 ดอลลาร์ต่อปี

เว็บไซต์ข้อมูลการท่องเที่ยว A Brother Abroad ประมาณการว่า ปัจจุบันมีกลุ่ม Digital Nomad ทั่วโลกประมาณ 35 ล้านคน โดยพวกเขาเป็นกลุ่มที่มีกำลังจ่ายสูง โดยเฉลี่ยใช้จ่ายเงินค่ากินค่าอยู่ประมาณ 22,500 ดอลลาร์ต่อปี ไม่รวมเงินที่ลงทุนในธุรกิจของตนเอง ซึ่งการจับจ่ายเหล่านั้นถือเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจในท้องถิ่นของประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่

ทั้งนี้ ทางการญี่ปุ่นใช้ประโยชน์จากการเปิดตัว “Digital Nomad Visa” ของญี่ปุ่น แบบใหม่ 6 เดือน เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การเปิดให้มีวีซ่าประเภทนี้ชี้ชัดว่าญี่ปุ่นต้องการดึงดูดแรงงานที่มีทักษะสูงที่ทำงานจากระยะไกล ให้เข้ามาอยู่อาศัยในญี่ปุ่นมากขึ้น นโยบายเหล่านี้ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญของประเทศในการแก้ไขปัญหาประชากรสูงอายุและปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว

วีซ่าดังกล่าวอนุญาตให้ผู้ถือวีซ่าพร้อมคู่สมรสและบุตรสามารถอยู่ในประเทศได้นานถึง 6 เดือน โดยต้องมีรายรับขั้นต่ำ 10 ล้านเยน (ประมาณ 66,700 ดอลลาร์) หลังจากระยะเวลานี้สิ้นสุดลงแล้ว พวกเขาจะต้องรออีกหกเดือนก่อนที่จะต้องยื่นคำร้องใหม่อีกครั้ง

Digital Nomad Visa ของญี่ปุ่น ช่วยเอื้อให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานและจับจ่ายในประเทศมากขึ้น

เรียว โอเซระ (Ryo Osera) เจ้าหน้าที่บริหารสมาคม Japan Digital Nomad เปิดเผยผ่าน The Japan News ว่า การจัดทำวีซ่าดังกล่าวถือเป็น “ก้าวสำคัญ” ที่รัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยระบุว่าวีซ่ามีระยะเวลาสั้นกว่าในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดว่าผู้ที่ถือวีซ่าดังกล่าวห้ามลงนามในสัญญาธุรกิจใดๆ กับบริษัทในท้องถิ่นอีกด้วย

โอเซระ ย้ำว่า การออกวีซ่าประเภท Digital Nomad Visa ดังนั้น จัดทำขึ้นเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาอยู่อาศัยระยะยาวในญี่ปุ่นมากขึ้น เพื่อให้เกิดการจับจ่ายและดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ ซึ่งอาจช่วยแก้ปัญหาของประเทศญี่ปุ่นที่ตอนนี้ต้องเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุขยายตัวมากขึ้นและอัตราการเกิดที่ลดลง

“จะดีกว่ามากหากดึงดูดกลุ่มคนทำงานแบบ Digital Nomad ที่มีศักยภาพ ให้เข้ามามีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นระยะยาว กล่าวคือในระยะ 10 ปีหรือ 20 ปีข้างหน้า” เขากล่าว

ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่น แต่ไทยและอินโดนีเซีย ก็เปิดต้อนรับชาวต่างชาติเข้ามาทำงานมากขึ้นเช่นกัน

นอกจากญี่ปุ่นแล้วยังมีประเทศในแถบเอเชียอื่นๆ ที่เปิดต้อนรับวัยทำงานชาวต่างชาติให้เข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้นเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทย ถือเป็นศูนย์กลางของ Digital Expat ยอดนิยม (คือกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานกับบริษัทในท้องถิ่นซึ่งเป็นรูปแบบงานประจำ ต่างจาก Digital Nomad ที่ทำงานระยะไกลและส่วนใหญ่เป็นงานฟรีแลนซ์)

โดยประเทศไทยมอบวีซ่าประเภท Digital Expat ให้แก่ชาวต่างชาติเพื่ออยู่พำนักในไทยได้ 6 เดือนต่อครั้ง แต่สามารถต่ออายุได้หนึ่งครั้งก่อนที่ผู้ถือวีซ่าดังกล่าวจะต้องออกจากประเทศและยื่นคำร้องใหม่ 

ในขณะที่ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอีกแห่งสำหรับ Digital Nomad อินโดนีเซียจะออกวีซ่าประเภท Remote Worker ให้แก่ชาวต่างชาติที่ทำงานแบบ Digital Nomad โดยผู้ถือวีซ่าสามารถพำนักในประเทศได้หนึ่งปีเต็มก่อนที่จะต้องยื่นคำร้องใหม่

เมืองฟุกุโอกะของญี่ปุ่น เปิดต้อนรับ Digital Nomad สนับสนุนที่พักและกิจกรรม 1 เดือน

ไม่ใช่แค่รัฐบาลส่วนกลางของญี่ปุ่นเท่านั้นที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ แต่หน่วยงานระดับภูมิภาคในญี่ปุ่นอย่าง “เมืองฟุกุโอกะ” ก็ได้ทำงานสอดคล้องกับนโยบายของส่วนกลางไปพร้อมกันด้วย โดยพัฒนาโครงการ Digital Nomad ในระดับเมืองขึ้นมาชื่อว่า “Colive Fukuoka 2024” เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในฟุกุโอกะมากขึ้น คาดว่ามีชาวต่างชาติที่ทำงานแบบระยะไกลเข้าร่วมหลายร้อยคน

ทั้งนี้ โครงการ Colive Fukuoka จะมอบสถานที่พักผ่อนและกิจกรรมดีๆ สำหรับ Digital Nomad เป็นระยะเวลา 1 เดือน กิจกรรมในโครงการประกอบด้วยการสัมมนา เวิร์กช็อปการทำสมาธิ ปิกนิก และทริปไปเที่ยวบ่อน้ำพุร้อน และเยี่ยมชมโรงกลั่นสาเก ซึ่งออกแบบมาเพื่อสร้างเครือข่ายวัยทำงานมืออาชีพให้เชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน และยังเป็นการโปรโมตเมืองฟุกุโอกะว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการทำงานระยะไกลและการพักผ่อน

ไม่เพียงแค่โครงการนี้ของเมืองฟุกุโอกะเท่านั้น แต่ทาง “สำนักงานการท่องเที่ยวญี่ปุ่น” ยังได้คัดเลือกโครงการนำร่องเกี่ยวกับการสนับสนุน Digital Nomad อีก 5 โครงการที่จะเริ่มต้นในเดือนมกราคมปีหน้า โดยสำนักงานการท่องเที่ยวญี่ปุ่นให้คำมั่นว่าจะบริจาคเงินโครงการละ 10 ล้านเยน ซึ่งขณะดำเนินโครงการก็จะมีการติดตามผลกระทบต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่นควบคู่กันไปและปรับเปลี่ยนตามความจำเป็น เพื่อดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จได้ดีที่สุด