ญี่ปุ่นทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ หวังเปลี่ยนวิถีการทำงานให้ยืดหยุ่นขึ้น

ญี่ปุ่นทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ หวังเปลี่ยนวิถีการทำงานให้ยืดหยุ่นขึ้น

รัฐบาลญี่ปุ่นขอเปลี่ยนภาพจำการทำงานใหม่ อยากให้พนักงานที่ทำงานหนักลดเวลาทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ ริเริ่มแคมเปญ “ปฏิรูปรูปแบบการทำงาน” เพื่อดึงดูดแรงงานรุ่นใหม่ให้เข้าสู่ตลาดงาน หวังแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

KEY

POINTS

  • ญี่ปุ่นมีบัญญัติคำศัพท์เฉพาะอย่างคำว่า “คาโรชิ” (การทำงานหนักจนตาย) ขึ้นมา สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการทำงานหนักของประชากรในชาติที่ฝังรากลึกมายาวนาน
  • หลังการระบาดใหญ่ วิถีการทำงานก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เน้นความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะเทรนด์ “ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์” กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก รวมถึงในญี่ปุ่นด้วย
  • รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ชวนให้บริษัทต่างๆ ในประเทศ หันมาทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มากขึ้น หวังดึงดูดใจวัยทำงานคนรุ่นใหม่ให้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน

ถ้าถามว่าประชากรประเทศไหนทำงานหนักที่สุดในโลก? คำตอบแรกๆ ในใจใครหลายคนคงมี “ประเทศญี่ปุ่น” ผุดขึ้นมาแน่ๆ ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกินจริง เพราะที่ผ่านมามีรายงานข่าวเกี่ยวกับวัยแรงงานในประเทศญี่ปุ่นที่ทำงานหนักจนเสียชีวิตก่อนวัยอยู่หลายเคส ซึ่งในวัฒนธรรมญี่ปุ่นเองก็มีการบัญญัติคำศัพท์เฉพาะอย่างคำว่า “คาโรชิ” หมายถึง “การทำงานหนักจนตาย” ขึ้นมาด้วย สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการทำงานหนักของประชากรในชาติที่ฝังรากลึกมายาวนาน 

อย่างไรก็ตาม วิถีการทำงานในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ตั้งแต่หลังการระบาดใหญ่เป็นต้นมา ก็เกิดเทรนด์ทำงานใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย และผู้คนก็หันมาใส่ใจสุขภาพ และเลือกทำงานแบบยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะเทรนด์ “ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์” กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก รวมถึงในประเทศญี่ปุ่นด้วย

ล่าสุด.. มีรายงานจากสำนักข่าว CNBC ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพยายามแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในประเทศที่น่าเป็นห่วง ด้วยการชักชวนให้ผู้คน และบริษัทต่างๆ หันมาใช้การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มากขึ้น หวังดึงดูดใจวัยทำงานคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำงานแบบยืดหยุ่นให้เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น

รัฐบาลญี่ปุ่นริเริ่มแคมเปญ “ปฏิรูปรูปแบบการทำงาน” แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนัก

จริงๆ แล้วรัฐบาลญี่ปุ่นแสดงการสนับสนุนให้มีสัปดาห์การทำงานที่สั้นลงมาตั้งแต่ปี 2021 แล้ว แต่น่าเสียดายที่แนวคิดดังกล่าวยังไม่แพร่หลายเท่าใดนัก จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น ชี้ว่า มีบริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่นประมาณ 8% ที่อนุญาตให้พนักงานหยุดงานได้ 3 วันต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้น ในขณะที่ 7% ของบริษัททั่วไปยังคงให้พนักงานหยุดงานได้ 1 วันตามที่กฎหมายกำหนด

การที่รัฐบาลได้ริเริ่มแคมเปญ “ปฏิรูปรูปแบบการทำงาน” นั้น มีเป้าหมายเพื่อที่จะดึงดูดแรงงานให้เข้ามาทำงานในระบบมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง โดยส่งเสริมให้ลดชั่วโมงการทำงาน และออกแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น การจำกัดการทำงานแบบล่วงเวลา การมอบวันลาพักร้อนที่ได้รับค่าจ้าง เป็นต้น 

ล่าสุด กระทรวงแรงงานได้เริ่มให้บริการปรึกษาฟรี เกี่ยวกับวิธีทำงานแบบยืดหยุ่น มอบทุนสนับสนุน และจัดทำห้องสมุดถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับข้อดีของการทำงานแบบยืดหยุ่นให้มากขึ้นเพื่อเป็นแรงจูงใจเพิ่มเติม โดยในเว็บไซต์ของกระทรวงฯ ได้ระบุถึงแคมเปญ “hatarakikata kaikaku” ซึ่งแปลว่า “สร้างสรรค์วิธีการทำงานใหม่” เพื่อหวังจะสร้างสังคมที่วัยทำงานสามารถเลือกรูปแบบการทำงานได้หลากหลายตามสถานการณ์ของตนเอง

หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการบริการสนับสนุนสำหรับธุรกิจใหม่ เปิดเผยว่า มีเพียงสามบริษัทเท่านั้นที่เข้ามาขอคำแนะนำในการทำการเปลี่ยนแปลงวิธีทำงาน กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และเงินอุดหนุนที่มีอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่แผนริเริ่มนี้ต้องเผชิญ

ด้าน “โยเฮอิ โมริ” ผู้ดูแลโครงการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ของบริษัท Panasonic เปิดเผยว่า มีพนักงานเพียง 150 คนเท่านั้นที่เลือกใช้ตารางการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ กับบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แห่งนี้ และบริษัทอื่นๆ ในเครือที่ประเทศญี่ปุ่น 

สาเหตุที่การทำงานสัปดาห์ละ 4 วันในญี่ปุ่นยังเกิดขึ้นได้น้อย ส่วนหนึ่งมาจากค่านิยม คนทำงานหนักคือคนเก่ง!

การสนับสนุนอย่างเป็นทางการของรัฐบาลญี่ปุ่นในการปรับปรุงสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานที่ชัดเจนครั้งใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในอดีตญี่ปุ่นเคยถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมความอดทนอดกลั้นอันเลื่องชื่อ และมักได้รับการยกย่องว่า แรงงานที่ทำงานหนักเหล่านี้คือผู้ที่ทำให้ประเทศฟื้นตัวหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ประเทศได้อย่างโดดเด่น

จากความเชื่อ และค่านิยมในการทำงานหนักข้างต้น ทำให้วัยทำงานชาวญี่ปุ่นได้รับแรงกดดันจากสังคมอย่างหนัก จนพวกเขาต้องยอมจำนน และก้มหน้าทำงานหนักต่อไป ยอมให้เสียสละตนเองเพื่อบริษัทอย่างมาก หากต้องการลาพักร้อน ก็สามารถลาได้เฉพาะช่วงวันหยุดเทศกาลสำคัญหรือช่วงปีใหม่เท่านั้น 

นอกจากนั้นแล้ว พวกเขาแทบไม่ใช้วันลาหยุด และการทำงานล่วงเวลาก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา แม้ว่านายจ้าง 85% จะรายงานว่าให้พนักงานหยุดงานได้สัปดาห์ละ 2 วัน แต่ก็มีข้อจำกัดทางกฎหมายเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา ซึ่งระบุรายละเอียดไว้ในสัญญา ไม่เพียงเท่านั้น ชาวญี่ปุ่นบางคนก็ทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รายงานไปยังสหภาพแรงงาน และไม่ได้รับค่าตอบแทนอีกด้วย

ข้อมูลจากหนังสือปกขาวของรัฐบาลญี่ปุ่น มีบางช่วงบางตอนอธิบายเกี่ยวกับ “คาโรชิ” ซึ่งเป็นคำในภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า “การเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไป” ระบุว่า ญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุนี้อย่างน้อย 54 รายต่อปี รวมถึงจากอาการหัวใจวายด้วย

เจ้าหน้าที่บางคนมองว่า การเปลี่ยนแปลงทัศนคติเป็นสิ่งสำคัญ ต้องทำให้ผู้คนเห็นว่าการทำงานที่ยืดหยุ่นนั้นไม่ใช่เรื่องผิด เพื่อที่จะสามารถรักษาแรงงานให้สามารถดำรงอยู่ในระบบงานได้ ท่ามกลางอัตราการเกิดใหม่ที่ลดลงอย่างรวดเร็วของประชากรญี่ปุ่นในปัจจุบัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวัฒนธรรมที่เน้นการทำงานหนักของผู้คนในประเทศ มีการคาดการณ์กันว่า ประชากรวัยทำงานจะลดลง 40% หรือเหลือวัยแรงงานอยู่ที่ประมาณ 45 ล้านคนภายในปี 2065 จาก 74 ล้านคนในปัจจุบัน ตามข้อมูลของรัฐบาล

เปิดข้อดีการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์จากพนักงานที่ทดลองทำมาแล้ว พบว่าให้ผลดีต่อทั้งระบบแรงงานและสุขภาพส่วนตัว

วัยทำงานผู้สนับสนุนรูปแบบการหยุดงาน 3 วันต่อสัปดาห์คนหนึ่ง กล่าวว่า รูปแบบดังกล่าวช่วยกระตุ้นและดึงดูดให้ผู้ที่เป็นแม่บ้าน (อยู่บ้านเลี้ยงลูกโดยไม่ทำงาน), ผู้ที่ดูแลญาติผู้สูงอายุ, ผู้เกษียณอายุที่ใช้ชีวิตด้วยเงินบำนาญ และผู้ที่มองหาความยืดหยุ่นในงาน รู้สึกอยากกลับเข้ามาในระบบแรงงาน และทำงานต่อได้นานขึ้น

สำหรับ “อากิโกะ โยโกฮามา” พนักงานสาวที่ทำงานกับ Spelldata บริษัทเทคโนโลยีขนาดเล็กในกรุงโตเกียว ซึ่งมีนโยบายให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ โดยได้หยุดงานในวันพุธ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ ซึ่งการได้รับวันหยุดพิเศษนี้ทำให้เธอสามารถไปร้านทำผม ไปพบแพทย์เมื่อป่วย หรือไปชอปปิงได้

“การจะอดทนกับอาการป่วยติดต่อกันถึง 5 วันนั้นเป็นเรื่องยาก การพักผ่อนระหว่างสัปดาห์จึงช่วยให้คุณฟื้นตัวหรือสามารถไปพบแพทย์ได้ อีกทั้งในแง่จิตใจแล้ว ระดับความเครียดในการทำงานก็น้อยลงด้วย” โยโกฮามาบอก

นอกจากนี้ สามีของเธอซึ่งเป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ก็ได้รับวันหยุดงานเพิ่มในวันพุธเช่นกัน แต่เขายังคงต้องทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในอุตสาหกรรมของเขา โยโกฮามาบอกว่าการทำแบบนี้ทำให้ทั้งคู่สามารถพาลูกวัยประถมศึกษาไปเที่ยวกับครอบครัวในช่วงกลางสัปดาห์ได้

นอกจากบริษัท Spelldata ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีบริษัทในญี่ปุ่นอีกหลายแห่งที่เริ่มใช้นโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงให้พนักงาน “ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์” ได้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นบริษัทแบรนด์เสื้อผ้า Uniqlo, Theory, J Brand และแบรนด์อื่นๆ รวมถึงบริษัทเภสัชกรรม Shionogi & Co. และบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ Ricoh Co. และ ฮิตาชิ ฯลฯ 

อีกทั้งกระแสดังกล่าวยังได้รับความสนใจในอุตสาหกรรมการเงิน ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเข้มงวดในระบบการทำงานอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น บริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ SMBC Nikko Securities Inc. เริ่มให้พนักงานทำงานสัปดาห์ละ 4 วันในปี 2020 ส่วนธนาคารยักษ์ใหญ่ Mizuho Financial Group ได้เสนอตัวเลือกตารางการทำงาน 3 วันในสำนักงานต่อสัปดาห์

การทำงานหนัก ไม่เท่ากับงานที่มีประสิทธิภาพ และไม่ได้บ่งชี้ว่าพนักงานจะมีส่วนร่วมในงาน 

นอกจากนี้ การทำงานหนักของคนญี่ปุ่น(บางกลุ่ม) ไม่ได้สื่อถึงการทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิผลเสมอไป ยืนยันจากการสำรวจประจำปีของ Gallup ซึ่งทำการเทียบวัดการมีส่วนร่วมของพนักงาน ได้จัดอันดับประเทศญี่ปุ่นให้เป็นประเทศที่มีพนักงานที่มีส่วนร่วมน้อยที่สุดในบรรดาชาติที่ได้รับการสำรวจทั้งหมด

โดยในรายงานการสำรวจชุดล่าสุด มีผู้ตอบแบบสอบถามชาวญี่ปุ่นเพียง 6% เท่านั้นที่ระบุว่าตนเองมีส่วนร่วมในงาน เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 23% นั่นหมายความว่า มีวัยทำงานชาวญี่ปุ่นเพียงไม่กี่คนที่รู้สึกมีส่วนร่วมในสถานที่ทำงานของตนอย่างมาก และมีความกระตือรือร้นในการทำงาน ขณะที่ส่วนใหญ่ทุ่มเทเวลาให้กับงานโดยไม่ทุ่มเทความหลงใหลหรือพลังงานลงไปในงานแต่อย่างใด

คานาโกะ โอกิโนะ ประธานบริษัท NS Group ซึ่งตั้งอยู่ในโตเกียว มองว่า การเสนอเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นได้นั้น เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการจัดหางานในอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง บริษัทซึ่งดำเนินกิจการร้านคาราโอเกะ และโรงแรมแห่งนี้ มีรูปแบบการทำงานให้เลือกถึง 30 แบบ รวมถึงการทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน แต่ยังมีวันหยุดยาวระหว่างงานอีกด้วย

เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานของ NS Group จะไม่รู้สึกถูกลงโทษจากการเลือกตารางเวลาอื่น โอกิโนะ จึงสอบถามพนักงาน 4,000 คนของเธอปีละ 2 ครั้งว่าพวกเขาต้องการทำงานอย่างไร การยืนกรานถึงความต้องการของแต่ละคนอาจไม่เหมาะสมในญี่ปุ่น เนื่องจากคาดหวังให้คุณเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

“ในญี่ปุ่น คนเรามักจะมองว่ายิ่งทำงานมากชั่วโมงขึ้น ก็ยิ่งเจ๋งมากขึ้น และทำงานล่วงเวลาให้ฟรีด้วย” โอกิโนะกล่าวพร้อมหัวเราะ “แต่ชีวิตแบบนั้นไม่ใช่ชีวิตในฝันเลย” โอกิโนะ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์