‘ไม่น่าทำงานหนักเกินไป’ ความเสียใจที่สุดของผู้ป่วยหนักบอกไว้ก่อนลาโลก

‘ไม่น่าทำงานหนักเกินไป’ ความเสียใจที่สุดของผู้ป่วยหนักบอกไว้ก่อนลาโลก

‘ไม่น่าทำงานหนักเกินไป’ คือ 1 ใน 5 ความเสียใจที่สุดของผู้ป่วยหนักส่วนใหญ่ที่บอกไว้ก่อนลาโลก ขณะที่สิ่งที่พวกเขาเสียใจมากที่สุดอันดับ 1 ได้แก่ อยากใช้ชีวิตเพื่อตนเอง ไม่ใช่เพื่อคาดหวังของคนอื่น

KEY

POINTS

  • ความเสียใจที่สุดของผู้ป่วยหนักส่วนใหญ่ที่บอกไว้ก่อนลาโลกคือ ‘ไม่น่าทำงานหนักเกินไป’ และ ‘อยากใช้ชีวิตเพื่อตนเอง ไม่ใช่เพื่อความคาดหวังของคนอื่น’ 
  • ผลสำรวจชี้ 78% ของวัยทำงานในสหรัฐกำลังละทิ้งวันหยุดของตน และทำงานหนักเกินไป โดยคาดหวังเรื่องความก้าวหน้าในอาชีพมาก่อนเรื่องอื่น
  • ขณะที่อดีตผู้ดูแลผู้ป่วยบอกว่า การเอาใจใส่ครอบครัว การให้ความสำคัญกับตนเองเป็นอันดับแรก และการซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ล้วนมีบทบาทต่อความสุขโดยรวม

เมื่อการทำงานหนักอาจไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต เมื่อ “บรอนนี แวร์ (Bronnie Ware)” อดีตเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Top Five Regrets of the Dying ได้เปิดเผยข้อมูลผ่าน CNBC ว่า ความเสียใจที่สุดของคนป่วยหนักที่เธอเคยดูแลมานั้น ส่วนใหญ่มักจะบอกคล้ายกันในช่วงสุดท้ายของชีวิตนั่นคือ “อยากใช้ชีวิตเพื่อตนเอง” และ “ไม่น่าทำงานหนักเกินไป” ซึ่งเป็นเรื่องที่คนเรามักหลงลืมไป กว่าจะนึกขึ้นได้ก็อาจถึงช่วงสุดท้ายของชีวิตแล้ว

เธอใช้เวลา 8 ปีในการทำงานด้านการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังต่อสู้กับโรคร้ายแรง ซึ่งหลายคนถึงแก่ชีวิตภายใต้การดูแลของเธอ และเธออยู่กับพวกเขาจนนาทีสุดท้ายก่อนจะจากโลกนี้ไป แวร์บอกว่า มีผู้ป่วยระยะสุดท้ายหลายคนรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองมากพอในขณะที่ยังแข็งแรงดี หลายคนมีความรู้สึกผิดกับหลายอย่างที่พวกเขาเคยไม่ทำ หรือทำได้ไม่ดีพอ

เธอคิดว่าคำบอกเล่าเหล่านั้นสามารถนำมาเป็น “บทเรียนสำคัญ” ที่ผู้คนวัยทำงานที่ยังแข็งแรงในวันนี้ สามารถเรียนรู้จากพวกเขาได้ เธอบอกกับรายการวิทยุของอังกฤษ “The Chris Evans Breakfast Show” เมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา อีกทั้งเธอยังได้เขียนเรื่องนี้ออกมาเป็นหนังสือดังที่กล่าวไปข้างต้น โดย 5 ข้อความที่เธอได้ยินบ่อยที่สุดจากผู้ป่วยระยะสุดท้าย ได้แก่ 

อันดับ 1 อยากกล้าที่จะใช้ชีวิตของตัวเองอย่างแท้จริง ไม่ใช่ใช้ชีวิตตามที่คนอื่นคาดหวัง

อันดับ 2 อยากที่จะไม่ต้องทำงานหนักมากเกินไป

อันดับ 3 อยากกล้าที่จะแสดงความรู้สึกของตัวเองให้มากกว่านี้

อันดับ 4 อยากที่จะติดต่อกับเพื่อนๆ ของฉันให้มากกว่านี้

อันดับ 5 อยากที่จะอนุญาตให้ตัวเองมีความสุขมากขึ้นกว่านี้

ด้านสิทธัตถะ มุกเคอร์จี (Siddhartha Mukherjee) ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้องอกวิทยา ก็พูดเกี่ยวกับประเด็นนี้ในทำนองเดียวกัน ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์รับปริญญาที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ความ ว่า ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ผู้คนมักจะไตร่ตรองสิ่งที่พวกเขาอยากทำแตกต่างออกไป หลายคนหวังว่าพวกเขาจะสามารถแสดงความรักและการให้อภัยมากขึ้น และใช้คำพูดสุดท้ายเพื่อแสดงความขอบคุณต่อผู้คนในชีวิตของพวกเขา

ทำไมผู้คนถึงรู้สึกผิดต่อตนเองในช่วงวาระสุดท้าย? 

แวร์เล่าต่อว่า ความเสียใจแรกๆ ที่เธอได้ยินบ่อยที่สุดจากผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็คือ ความเสียใจเกี่ยวกับความฝันในชีวิตของพวกเขา เนื่องจากเมื่อผู้คนตระหนักว่าชีวิตของพวกเขาใกล้จะจบลงแล้วและมองย้อนกลับไปในชีวิตที่ผ่านมา มันเป็นเรื่องง่ายที่จะเห็นอย่างชัดเจนว่ามีความฝันมากมายที่ยังไม่บรรลุผล คนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้เกียรติความฝันของตัวเองเลยแม้แต่ครึ่งเดียว และต้องตายโดยรู้ว่ามันเกิดจากทางเลือกของพวกเขาเอง ซึ่งไม่ได้ทำมัน

“คุณอาจเลือกเรียนในมหาวิทยาลัย เลือกเส้นทางอาชีพ หรือเลือกงานเพราะพ่อแม่อยากให้คุณทำ บางทีคุณอาจเสียสละความฝันที่จะเดินทางไปทั่วโลกเพื่ออยู่ใกล้ชิดกับคนที่คุณรัก” เธอบอก และยังให้คำแนะนำว่า จงอย่าปล่อยให้ตนเองมาเสียใจไปตลอดชีวิตกับการไม่ได้ลงมือทำในสิ่งที่อยากทำ แต่ควรให้ความสำคัญกับความสนใจและความสุขของตนเองก่อนเป็นอันดับแรกเมื่อถึงทางแยกที่ต้องตัดสินใจ 

อีกทั้งตามรายงานล่าสุดของ Harris Poll ที่ได้สำรวจชีวิตการทำงานของชาวอเมริกัน 1,170 คน พบว่า 78% ของวัยทำงานในสหรัฐกำลังละทิ้งช่วงวันหยุดของตน และทำงานหนักเกินไปเพื่อหวังว่าจะก้าวหน้าในสายงานอาชีพของตน สิ่งนี้ทำให้แวร์พบว่า มันนำมาซึ่งความเสียใจที่สุดอันดับสองในลิสต์ (ไม่อยากต้องทำงานหนักเกินไป) ที่เธอได้รวบรวมไว้

แนวคิด “งานต้องมาก่อนเสมอ” อาจทำให้สุขภาพจิตและความสัมพันธ์แย่ลง

แวร์บอกว่า การจัดลำดับความสำคัญให้ “งาน” เป็นเรื่องหลักและเรื่องแรกเหนือสิ่งอื่นในชีวิต อาจทำให้การดูแลสุขภาพจิตและความสัมพันธ์กับคนรอบข้างของคุณอาจแย่ลง ยกตัวอย่าง “บิล เกตส์ Bill Gates” มหาเศรษฐีผู้ร่วมก่อตั้ง Microsoft ผู้ซึ่งได้เรียนรู้แล้วว่าอย่าให้งานมาก่อนครอบครัวหรือความสัมพันธ์ โดยเขากล่าวระหว่างสุนทรพจน์รับปริญญาที่มหาวิทยาลัย Northern Arizona เมื่อปีที่แล้วไว้ว่า

“ตอนผมอายุเท่าพวกคุณ (เด็กจบใหม่) ผมไม่เชื่อเรื่องการลาพักร้อน ไม่เชื่อในวันหยุดสุดสัปดาห์ ไม่เชื่อว่าคนที่ผมทำงานด้วยควรจะทำเช่นนั้น เพราะตอนนั้นไม่รู้ว่า ชีวิตมีอะไรมากกว่างาน จนกระทั่งได้กลายเป็นพ่อคน อย่ารอนานเท่าผม กว่าจะได้เรียนรู้บทเรียนนี้” บิล เกตส์ กล่าว 

นอกจากนี้ ผู้ร่วมก่อตั้ง Microsoft ยังย้ำว่า คนเราควรใช้เวลาดูแลความสัมพันธ์กับคนรักหรือครอบครัว ใช้เวลาเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จของตนเอง และเพื่อฟื้นตัวจากการสูญเสียของตนเอง หยุดพักเมื่อเราต้องการ และเอาใจใส่ต่อคนรอบข้างเมื่อพวกเขาต้องการเราเช่นกัน

การซื่อสัตย์ต่อตนเอง มีบทบาทต่อความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีโดยรวม

แวร์เขียนสรุปไว้ในบล็อกโพสต์ของเธอด้วยว่า การทุ่มเทเวลาและความเอาใจใส่ให้กับเพื่อนและครอบครัวของเรา การให้ความสำคัญกับความสนใจของตัวเราเป็นอันดับแรก และการซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ล้วนมีบทบาทต่อความสุขโดยรวมและความพึงพอใจในชีวิตของเรา แต่น่าเสียดาย.. คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้จนอาจจะสายเกินไป หรือจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต 

หลายคนไม่ได้ตระหนักว่าความสุขคือทางเลือก พวกเขาติดอยู่กับรูปแบบการใช้ชีวิตและนิสัยเก่าๆ ที่เรียกว่าความคุ้นเคย แล้วปล่อยให้มันก็หลั่งไหลเข้าสู่อารมณ์ความรู้สึกของพวกเขาจนชินไปกับมัน แต่เมื่อสำรวจลึกลงไปข้างใน พวกเขาก็อยากจะหัวเราะให้กับความโง่เขลาในชีวิตของพวกเขาในช่วงบั้นปลายชีวิต

“ชีวิตคือการเลือก คนเราเลือกได้เสมอ มันเป็นชีวิตของคุณ ดังนั้นจงเลือกอย่างมีสติ เลือกอย่างชาญฉลาด เลือกอย่างตรงไปตรงมา เลือกความสุขให้ตัวเอง” อดีตผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย กล่าว

อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่อง “การใช้ชีวิตเพื่อตนเองอย่างแท้จริง” อาจฟังดูง่ายแต่ทำยาก หากคุณไม่รู้จริงๆ ว่าคุณต้องการอะไรในชีวิต หรือติดอยู่กับงานที่เรารู้สึกไม่สบายใจกับตัวเองอย่างเต็มที่ มันมีความกดดันอย่างมากในการต้องหาว่าแท้จริงแล้วเราต้องการทำอะไร แต่ก็มีเคล็ดลับง่ายๆ จาก “เรนเนอร์ สตรัค (Rainer Strack)” หุ้นส่วนอาวุโสของ Boston Consulting Group ที่อาจช่วยได้ โดยเขาได้แชร์มีคำแนะนำไว้ดังนี้

1. เริ่มต้นด้วยการเขียนกิจกรรมหรืองานในแต่ละวันของคุณ 

2. ให้คะแนนกิจกรรมเหล่านั้นในระดับ 1 ถึง 10 (จากน้อยไปมาก) โดยพิจารณาจากความสำคัญและความพึงพอใจในกิจกรรมนั้นๆ 

3. พิจารณาว่างานหรือกิจกรรมไหนที่ทำให้คุณมีความสุขในระดับสูง แล้วลองจัดลำดับความสำคัญในการลงมือทำมันมากขึ้น

สตรัค ย้ำว่า แบบฝึกหัดนี้ช่วยให้คุณเข้าใจได้ดีขึ้นถึงสิ่งที่คุณหลงใหลและสิ่งที่คุณใช้เวลาทำมากที่สุด คุณอาจพบว่าที่ผ่านมาคุณไม่ได้ใช้เวลามากพอในการทำสิ่งที่คุณรัก หรือตรงกันข้าม คุณกำลังทุ่มเทเวลาและพลังงานให้กับอาชีพที่ทำให้คุณหมดแรง (Burnout) คุณไม่สามารถวางกรอบชีวิตด้วยตารางการทำงานหนักเต็มแน่นทุกวันแล้วบอกว่า “นี่คือชีวิตที่ยิ่งใหญ่” แล้ววนลูปอยู่แค่นั้น แต่ชีวิตที่ยอดเยี่ยมต้องถูกกำหนดตามแบบฉบับของใครของมัน