VICTORY 47 กลิ่นน้ำหอมแห่งชัยชนะของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

น้ำหอมถือเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม สิทธิเสรีภาพ และล่าสุดยังถูกใช้เป็น “สัญญะทางการเมือง” เพื่อฉลองชัยในการเลือกตั้งของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 47

โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เปิดตัวน้ำหอมรุ่น “VICTORY 47” และ “Fight Fight Fight” โดยโปรโมตว่าเหมาะสำหรับ “Patriots who never back down” สะท้อนถึงความเชื่อมั่นและจิตวิญญาณของผู้สนับสนุน โดยใช้กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ส่วนตัวที่ผสมผสานศรัทธาทางการเมืองเข้ากับสินค้าเชิงพาณิชย์อย่างมีชั้นเชิง เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางอารมณ์และความจงรักภักดีของกลุ่มผู้สนับสนุนของเขาได้อย่างลึกซึ้ง

บทบาทของน้ำหอมในฐานะเครื่องมือเชิงสัญลักษณ์เริ่มต้นตั้งแต่ยุค 1920 เมื่อผู้หญิงเริ่มแสดงออกถึงความต้องการพื้นที่และเสรีภาพส่วนบุคคล น้ำหอมที่โดดเด่นในยุคนั้น เช่น Shalimar ของ Guerlain และ Chanel No. 5 ได้เข้ามาแทนที่กลิ่นดอกไม้แบบดั้งเดิม สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของบทบาทผู้หญิงในสังคม ปลดแอกจากการยึดติดกับกรอบอนุรักษ์นิยมไปสู่ความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง น้ำหอมกลับมามีความอ่อนหวานอีกครั้ง เพื่อตอบสนองกับสังคมที่กำลังฟื้นตัว ในยุค 1960-1970 โทนกลิ่นได้เปลี่ยนไปโดยเน้นไปที่การเชื่อมโยงกับธรรมชาติ เช่น หญ้าและฟาง สะท้อนถึงการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง

ต่อมาในยุค 1980 น้ำหอมกลายเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จและอำนาจ กลิ่นที่เข้มข้นและทรงพลัง เช่น Poison ของ Dior สื่อถึงภาพลักษณ์ของผู้หญิงทำงานที่มั่นใจ ต่อเนื่องมาถึงศตวรรษที่ 21 น้ำหอมได้เปลี่ยนบทบาทอีกครั้ง มาเป็นตัวแทนของไลฟ์สไตล์ ความหลากหลาย และความยั่งยืน ผู้ผลิตเริ่มพัฒนากลิ่นที่ไม่แบ่งแยกเพศ (Unisex) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่สนใจในความหลากหลาย ครอบคลุมในทุกมิติของสังคม
 

น้ำหอมทรัมป์ “VICTORY 47” ถูกออกแบบให้เป็นน้ำหอม Unisex โดยตั้งราคาขายสูงถึง 199 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 16,886 บาท ใช้คำโปรยว่า “Scent of Victory” เพื่อสะท้อนเส้นทางการเมืองและการฟื้นตัวของทรัมป์ หลังเผชิญกับเหตุการณ์ลอบสังหารในเพนซิลเวเนีย

การโฆษณาน้ำหอมนี้เล่นกับอารมณ์ขันและความขัดแย้งทางการเมือง โดยโปรโมตผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social ของตัวเอง พร้อมภาพถ่ายร่วมกับสตรีหมายเลข 1 จิล ไบเดน พร้อมกับคำโฆษณา “Enemies can't resist” หรือ กลิ่นที่ศัตรูของคุณไม่อาจต้านทานได้ ซึ่งช่วยสร้างความสนใจและกระตุ้นการถกเถียงในวงกว้าง แม้ว่าตัวน้ำหอมจะไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับส่วนผสมหรือกลิ่น แต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์และการโฆษณาที่โอ้อวดกับชัยชนะที่ได้ กลับสร้างกระแสได้อย่างมีประสิทธิภาพ

VICTORY 47 กลิ่นน้ำหอมแห่งชัยชนะของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

นอกจากนี้ น้ำหอมดังกล่าวยังสะท้อนถึงภาพลักษณ์ของทรัมป์ในฐานะ “นักการตลาดที่สามารถเปลี่ยนทุกสิ่งให้เป็นโอกาสทางการค้าได้” ซึ่งทรัมป์ทำมาโดยตลอด ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ก่อนหน้านี้ เช่น Trump Steaks, Trump University และ Trump Books แม้บางผลิตภัณฑ์จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ทรัมป์ยังคงใช้แบรนด์ส่วนตัวเพื่อขยายขอบเขตธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

สำหรับยอดขายของน้ำหอม VICTORY 47 และ Fight Fight Fight ยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่กระแสความสนใจที่ได้รับบ่งบอกถึงศักยภาพทางการตลาดของผลิตภัณฑ์นี้ได้อย่างชัดเจน

ตลาดน้ำหอมยังโตแกร่ง

ภาพรวมของอุตสาหกรรมน้ำหอมทั่วโลกในปี 2023 มีมูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านยูโร (ราว 1.44 ล้านล้านบาท) และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำหอมมีมูลค่าราว 13.6 พันล้านยูโร (ราว 4.9 แสนล้านบาท) ตลาดน้ำหอมยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก โดยคาดว่าภายในปี 2029 รายได้จากช่องทางออนไลน์จะเพิ่มขึ้นจาก 10.75% เป็น 15.34% สะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

แนวโน้มในอนาคตของอุตสาหกรรมนี้เน้นการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และความยั่งยืน ผู้ผลิตน้ำหอมรายใหญ่ เช่น Givaudan และ Symrise กำลังลงทุนในงาน R&D อย่างต่อเนื่อง เช่น Symrise ที่ใช้งบประมาณถึง 266 ล้านยูโร

ตลาดยังคงเน้นการพัฒนากลิ่นที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์และความต้องการเฉพาะของผู้บริโภค เช่น กลิ่นที่ไม่แบ่งแยกเพศและกลิ่นที่สื่อถึงความผ่อนคลายหรือเพิ่มพลังงานในชีวิตประจำวัน เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ยังถูกนำมาใช้ในการออกแบบกลิ่นที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ นอกจากนี้ กระแสความยั่งยืนยังเป็นตัวแปรสำคัญ โดยมีการพัฒนาแพ็คเกจรีไซเคิลและการใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อรองรับความคาดหวังของผู้บริโภคที่ใส่ใจในเรื่องนี้