สัมผัสแรก อีซูซุ 'มิว-เอ็กซ์' นุ่ม นิ่ง นั่งสบาย
"พีพีวี" รถที่ต่อยอดมาจากรถปิกอัพ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา แต่ปีนี้ไม่รู้ว่าด้วยปัญหาโควิด-19 หรือปัญหาเศรษฐกิจ หรืออย่างไร ที่ทำให้ตลาดหดตัวไปมากทีเดียว โดยช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. มียอดขาย 2.76 หมื่นคัน ลดลง 41.1%
แต่ช่วงที่ผ่านมาตลาดก็มีความเคลื่อนไหวมากขึ้นซึ่งช่วยกระตุ้นตลาดได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้าที่ไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่ในรอบ 5 ปี ให้กับ ฟอร์จูนเนอร์ และแตกไลน์ตัวท็อปเข้ามาคือ ลีเจนเดอร์ ซึ่งล่าสุด เดือนกันยายนที่ผ่านมา โตโยต้า มียอดขาย 2,147 คัน เพิ่มขึ้น 19.7% จากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว มิตซูบิชิ ก็แตกรุ่นย่อยเพิ่มเติม และล่าสุด “อีซูซุ” เผยโฉม “มิว-เอ็กซ์” ใหม่ โดยมี4 รุ่นย่อย จาก 2 เครื่องยนต์ ให้เลือก คือ ดีเซล 1.9 ลิตร และดีเซล 3.0 ลิตร ราคาจำหน่ายอยู่ระหว่าง 1.109-1.591 ล้านบาท
เป็นราคาน่าสนใจแม้ว่าจะเป็นราคาแนะนำถึงสิ้นปี โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับตัวท็อปของลีเจนเดอร์ ซึ่งมีค่าตัวอยู่ที่ 1.839 ล้านบาท ขณะที่ออปชั่นต่างๆ จับใส่มาแทบจะล้นคัน
สิ่งที่อีซูซุยกมาเป็นจุดขายหลักคือ เทคโนโลยีช่วยเหลือผู้ขับขี่ “ADAS” (Advanced Driver Assistance Systems) โดยมีกล้องหน้าคู่ตรวจจับวัตถุด้วยการสแกนภาพ 3 มิติ แบบเรียลไทม์ ทำงานร่วมกับเรดาร์ 2 จุด และเซ็นเซอร์ 8 จุด รอบคัน
โดย ADAS มีระบบบต่างๆ ประกอบไปด้วย
- ACC (Full Speed Range Adaptive Cruise Control) ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน พร้อมฟังก์ชันStop and Go
- FCW (Forward Collision Warning) ระบบแจ้งเตือนก่อนการชนด้านหน้า
- AEB (Autonomous Emergency Braking) ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ
- LDW (Lane Departure Warning) ระบบแจ้งเตือนออกนอกเลน
- AHB (Automatic High Beam) ระบบควบคุมไฟสูงอัตโนมติ
- PMM (Pedal Misapplication Mitigation) ระบบตัดกำลังเครื่องยนต์เมื่อเหยียบคันเร่งผิดพลาด
- MSL (Manual Speed Limiter) ระบบตั้งค่าจำกัดความเร็วสูงสุดด้วยตัวเอง
- BSM (Blind Spot Monitoring) ระบบแจ้งเตือนจุดอับสายตา
- RCTA (Rear Cross Traffic Alert) ระบบช่วยเตือนขณะถอยรถยนต์
- Parking Aid System ระบบเซ็นเซอร์ช่วยจอดรถยนต์
- MCB (Multi-Collision Brake) ระบบเบรกอัตโนมัติหลังการเกิดอุบัติเหตุ ช่วยลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน
ส่วนระบบความปลอดภัยพื้นฐานก็ใส่มาครบ ทั้งระบบเบรก ABS ระบบกระจายแรงเบรก EBD ระบบเสริมแรงเบรก BA ระบบช่วยเหลือการทรงตัว ระบบป้องการลื่นไถล ระบบข่วยออกตัวบนทางลาดชัน ระบบช่วยลงทางลาด เป็นต้น
มิว-เอ็กซ์ มาพร้อมไฟหน้า ไบ-แอลอีดี ไฟท้าย แอลอีดี ล้ออัลลอยขนาดใหญ่ ไดนามิคดีไซน์ ขนาด 20 นิ้ว ในรุ่น Ultimate ขนาด 18 นิ้ว ในรุ่น Elegant และ Luxury และขนาด 17 นิ้ว ในรุ่น Active
ยังมีออปชั่นด้านความสะดวกสบาย ความบันเทิง เช่น ฝาท้ายเปิด-ปิด ด้วยไฟฟ้า เบรกมือไฟฟ้า ระบบ ออโต้เบรก โฮลด์ เพิ่มความสะดวกในการขับขี่ โดยเฉพาะพื้นที่จราจรติดขัดที่ตกหยุดรถบ่อยๆ เพราะไม่ต้องเหยียบเบรกคาเอาไว้ เเบาะไฟฟ้าคู่หน้า ฝั่งผู้ขับปรับ 8 ทิศทาง ด้านผู้โดยสาร 4 ทิศทาง จออินโฟเทนเมนต์ 9 นิ้ว ระบบเชื่อมต่อแอ๊ปเปิ้ล คาร์เพลย์ แอนดรอยด์ ออโต้ ลำโพง 8 ดอก ระบบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบแยกอิสระซ้าย-ขวา พร้อมฟิลเตอร์กรองฝุ่น PM 2.5 ฝาท้ายก็ควบคุมการปิด-เปิด ด้วยไฟฟ้า ช่วยผ่อนแรงได้มาก เป็นต้น
วันนี้ผมพูดถึงตัวท็อป 3.0 ลิตร ขับเคลื่อน 4 ล้อ เกียร์อัตโนมัติ ที่ได้ลองขับกันสั้นๆ ในสนามทดสอบไทยบริดจสโตนครับ
แต่ก่อนที่จะไปที่เรื่องการลองขับ มาดูภายในห้องโดยสารกันก่อนครับ มิว-เอ็กซ์ มีพื้นที่กว้างขวาง โปร่งโล่ง เบาะนั่งแบบ คูลแม็กซ์ ซึ่งจะช่วยลดการสะสมความร้อนของเบาะ เหมาะกับการใช้งานในเมืองร้อนอย่างบ้านเรา
สีสันสวยดีครับ และเรียกว่างานละเอียด ทั้งรูปแบบและการตัดเย็บ ซึ่งไม่เฉพาะเบาะ แต่รวมถึงการเย็บตะเข็บในส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น วัสดุบุนุ่ม หรือ Soft Touch ซึ่งติดตั้งอยู่ที่แผงประตู คอนโซลหน้า รวมถึงที่คอนโซลเกียร์ซึ่งติดตั้งวัสดุบุนุ่มเช่นกัน นอกจากช่วยให้ดูหรูขึ้น ก็ยังทำให้การสัมผัสของเข่าหรือว่าต้นขาสบายขึ้น
ส่วนตัวเบาะนั่งนั้น นั่งได้สบายครับ ไม่ว่าจะเป็นแถวหน้า หรือ แถวที่ 2 ส่วน เบาะแถว 3 ถือว่าสบายเช่นกัน เพราะนั่งแล้วยังมีพื้นที่วางเท้า และเข่าก็ไม่ติดกับเบาะแถว 2 แต่อย่างใด ทั้งนี้ผมให้คนนั่งเบาะแถว 2 ปรับเอนพนักพิงให้อยู่ในระดับที่พอใจที่เขานั่งแล้วรู้สึกสบายแล้วครับ
มาที่การลองขับครับ เครื่องยนต์ ดีเซล 3.0 ลิตรตัวนี้ให้กำลังสูงสุด 190 แรงม้าที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร ที่ 1,600-2,600 รอบ/นาที
เครื่องยนต์ตอบสนองได้ดีในช่วงการออกตัว อาจจะไม่ได้ปราดเปรียวนัก แต่ไม่อืดอาด ขณะที่อัตราเร่งช่วงกลางทำได้ดี เช่น จาก 80 ไป 120 ซึ่งเป็นช่วงที่ใช้กันบ่อยในชีวิตจริง ในช่วงการเร่งแซงต่างๆ
ตัวท็อป ติดตั้งยางขนาด 265/50 R20 ส่วนช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบอิสระปีกนก 2 ชั้น พร้อมเหล็กกันโคลง ช็อค แอบซอร์เบอร์แก๊ส ด้านหลัง 5-ลิงค์ เหล็กกันโคลง ช็อค แอบซอร์เบอร์ แก๊ส
การทรงตัวนิ่งไว้ใจได้ทั้งทางตรง และทางโค้งที่มีให้ลองทั้งโค้งกว้างๆ และโค้งแคบๆ ที่สลับไปมาซ้าย-ขวา แม้จะรู้สึกได้ว่าน้ำหนักตัวที่มากกว่า 2 ตัน พยายามดึงรถให้ออกนอกศูนย์บ้าง มีอาการโยนตัวอยู่บ้างจากทั้งน้ำหนักและความสูงของตัวรถ แต่ช่วงล่างก็ทำหน้าที่ได้ดี โดยได้รับความช่วยเหลือเหล็กน้อยจากการเลี้ยงพวงมาลัย ทำให้สามารถจัดการให้รถอยู่กับร่องกับรอยได้
ส่วนการดูดซับแรงสั่นสะเทือน เป็นอีกจุดเด่นหนึ่ง สำหรับผู้ที่ชอบการนั่งสบายๆ โดยเมื่อขับผ่านสนามทดสอบที่จำลองเป็นเส้นทางในรูปแบบต่างๆ คอ ถนนปะซ่อม ซึ่งในชีวิตจริงเราพบกันบ่อย และมีลักษณะคือ ส่วนที่ปะกับของเดิมจะสูงต่ำไม่เท่ากัน ไม่รู้ทำไม การทำให้มันเรียบเป็นพื้นเดียวกันยากขนาดนั้นเลยหรือ
นอกจากนี้ก็มีถนนขรุขระ รอยต่อถนน หรือถนนที่วัสดุเล็กๆ ขวางอยู่บนผิวถนน ซึ่งช่วงล่างดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้น่าพอใจ ช่วยให้นั่งสบาย
และอีกสิ่งหนึ่งคือการเก็บเสียงที่ห้องโดยสารเงียบน่าพอใจ เสียงรบกวนเข้ามาในห้องโดยสารน้อย แต่ทั้งนี้ต้องบอกก่อนว่า การองขับครั้งนี้ ความเร็วสูงสุดจำกัดที่ไม่เกิน 120 กม./ชม.
ทั้งหมดเป็นการจับความรู้สึกได้คร่าวๆ กับระยะทางการลองขับที่ไม่มากนัก แต่เบื้้องต้น ก็ถือว่า มิว-เอ็กซ์ ทำได้ดีกว่าที่คาดไว้ครับ
*****