2ฉากทัศน์ ชี้วัด ‘พยัคฆ์ติดปีก’ จังหวะ‘ทักษิณ-พท.’ บ่วงนิติสงคราม-สนามอบจ.
2 ฉากทัศน์ชี้วัด ‘พยัคฆ์ติดปีก’ จังหวะก้าว‘ทักษิณ-พท.’ พ้นบ่วงนิติสงคราม ลุยสนามอบจ. ‘อีสาน-เหนือ’เป้า 200 สส. จับตาฝันที่ไกลเกินจริง
KEY
POINTS
- ผลพวงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เพียงแต่จะส่งผลให้ “ทักษิณ” กลายเป็น“พยัคฆ์ติดปีก”เท่านั้น แต่อาจหมายรวมไปถึงจังหวะก้าวย่างของคนในตระกูลชินวัตร โดยเฉพาะสัญญาณเดินทางกลับไทยของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”
- ชัยชนะของ “ศราวุธ เพชรพนมพร” ว่าที่นายก อบจ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 24พ.ย.ที่ผ่านมา ย่อมเป็นการตอกย้ำถึงยุทธศาสตร์ “นายใหญ่” ที่ต้องจับตาไปถึงสนามอื่นๆ ที่ไล่มาเป็นระยะ
- มีการวิเคราะห์ไปถึง โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะสมหวังตามเป้าหมาย200+ ภายใต้โจทย์ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยจำต้องรักษาจุดยุทธศาสตร์สำคัญนั่นคือ พื้นที่ “ภาคอีสาน” และ “ภาคเหนือ”
- สนามภาคอีสานรอบนี้ พรรคเพื่อไทย ยังมี พรรคภูมิใจไทย รวมไปถึงพรรคประชาชน เป็นเสี้ยนหนามสำคัญ
- สนามอีสานที่ไม่ใช่ตีกัน แต่ต้องแข่งขันกันเปรียบเสมือนกีฬากอล์ฟ ต่างฝ่ายต่าง "ทีออฟ" ว่าใครไกลกว่า ต้องแข่งขัน : อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
เอฟเฟกต์การเมือง “2 ฉากทัศน์” จังหวะการเมืองก้าวขยับ ฉากทัศน์แรก กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมี มติ 7 : 2 “ไม่รับคำร้อง”ของ “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร”ที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ระบุ “6 พฤติการณ์” ระบุพฤติกรรม “ทักษิณ ชินวัตร” และพรรคเพื่อไทย ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
คำร้องดังกล่าวที่ถูกตีตกไปด้วยเหตุผล “ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอ” บวกความเห็นของอัยการสูงสุดที่ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญไม่กี่วัน ก่อนวันวินิจฉัย ระบุว่าการกระทำของพรรคเพื่อไทยไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ
นอกจากจะส่งผลให้ “ทักษิณ” และพรรคเพื่อไทย หลุดบ่วงนิติสงคราม“ยุบพรรค” ไป 1 บ่วงแล้ว ยังต้องจับตาว่า ผลพวงจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีดังกล่าว จะเป็นบรรทัดฐานไปถึงบ่วงยุบพรรคอื่นๆ หรือไม่
ต้องไม่ลืมว่า สารพัดคำร้องที่ค้างคาอยู่ในองค์กรต่างๆ เวลานี้ ปลายทางก็ต้องมาจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นด่านสุดท้ายที่จะวินิจฉัยยุบ-ไม่ยุบพรรคเพื่อไทยอยู่ดี
แน่นอนว่า ผลพวงคำวินิจฉัยที่ออกมา ไม่เพียงแต่จะเป็นคุณ และส่งผลให้ “ทักษิณ” กลายเป็น“พยัคฆ์ติดปีก”เท่านั้น แต่อาจหมายรวมไปถึงจังหวะก้าวย่างของคนในตระกูลชินวัตร รวมถึงพลพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะสัญญาณเดินทางกลับไทยของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นน้องสาว
หากจับอาการลิงโลด จากการให้สัมภาษณ์ของ “ทักษิณ” เมื่อ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย เสมือนรู้สัญญาณข่าวดีที่เป็นคุณล่วงหน้า
‘พี่ชาย’สยายปีก หนทาง‘น้อง’กลับไทย
“ทักษิณ”แสดงความมั่นอกมั่นใจว่า “อดีตนายกฯ” ผู้น้องจะได้กลับมาฉลองปีใหม่ไทย ในเดือน เม.ย.ปีหน้า อย่างแน่นอน
มีการวิเคราะห์กันว่า ช่องทางในการเดินทางกลับมาตุภูมิของ “อดีตนายกฯหญิง” แห่งตระกูลชินวัตร ในวันที่ยังมีคดีจำนำข้าวติดตัว
ไม่ว่าจะเป็นการใช้ช่องทางตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 กฎกระทรวงยุติธรรม และระเบียบที่ออกมาเมื่อ 6 ธ.ค.2566 คือ ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 หรือที่เรียกกันว่า“กฎหมายขังนอกคุก”
หรืออีกหนึ่งช่องทาง คือการ “รื้อฟื้นคดีจำนำข้าว” เพื่อพิสูจน์ว่า ยิ่งลักษณ์“เคยสั่ง”ให้มีการตรวจสอบกรณีทุจริต โดยอ้างถึง“หนังสือคำสั่ง”แบบเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งต้นเรื่องอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ และเป็นกระทรวงภายใต้การกำกับดูแลของพรรคเพื่อไทยในเวลานี้
อีกทั้งความเสียหาย ไม่ได้เกิดจากโครงการรับจำนำข้าว แต่เกิดจากการขายข้าว ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำหนดราคาข้าวแต่ละประเภท
หากจับอาการของ “ลูกหาบเพื่อไทย”เวลานี้ จะเห็นได้ชัดว่า พยายามฉายภาพให้ “อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์” จาก“ผู้ถูกกล่าวหา”กลายเป็น“ผู้ถูกกระทำ” โดยหยิบยกประเด็นไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากคดีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหารในปี 2557
ก่อนมีการใช้มาตรา 44 โดยให้อำนาจสูงสุดแก่คณะผู้ทำรัฐประหาร ในการตั้งคณะกรรมการ เดินหน้ายึดทรัพย์ของ “ยิ่งลักษณ์” โดยไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำย้อนหลังใด ๆ ทั้งสิ้น ที่สำคัญมีการดำเนินการก่อนที่คดีอาญาจะสิ้นสุด พร้อมตั้งคำถามว่า ถือเป็นการชี้นำคดีอาญาหรือไม่
ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ พรรคเพื่อไทยพยายามสะท้อนให้สังคมได้เห็นอีกด้านเพื่อปูทางอีกด้าน
เหนือไปกว่า นั้นยังต้องจับตาความพยายามในการแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาฯ หรือพ.ร.ป.ป.ป.ช. ซึ่งมีความเคลื่อนไหวจากพรรคการเมืองดำเนินการทั้งใน “ทางแจ้ง” และ “ทางลับ” ต้องจับตาจะมีดีลระหว่างพรรคการเมืองรอบใหม่เพื่อเคลียร์ทางกลับไทยของ “อดีตนายกฯหญิง” พรรคเพื่อไทย หลังจากนี้หรือไม่
สนามนายกอบจ.สะท้อนฉากใหญ่
อีกหนึ่งฉากทัศน์ที่ต้องจับตา นั่นคือ “ศึกชิงนายกอบจ.” ส่งสัญญาณการเมืองภาพใหญ่ โดยเฉพาะชัยชนะ “ค่ายสีแดง”ล่าสุด จ.อุดรธานี ซึ่งแต่เดิมถูกจัดอยู่ในสถานะเมืองหลวงของคนเสื้อแดง
ชัยชนะของ “ศราวุธ เพชรพนมพร” ว่าที่นายก อบจ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 24พ.ย.ที่ผ่านมา ย่อมเป็นการตอกย้ำถึงยุทธศาสตร์ “นายใหญ่” ที่ต้องจับตาไปถึงสนามอื่นๆ ที่ไล่มาเป็นระยะ
อย่างวันที่22ธ.ค.ที่จะถึงนี้ ก็จะมีการเลือกตั้งอีก2จังหวัดนั่นคือ จ.อุตรดิตถ์ และจ.อุบลราชธานี
โฟกัสไปที่สนามอุบลฯรอบนี้เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง “กานต์ กัลป์ตินันท์”แชมป์เก่าและ “มาดามกบ”จิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล ต่างฝ่ายต่างมีมีสายสัมพันธ์ กับ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ทั้งคู่
ดังนั้น ศึกนี้จึงเป็นการวัดฝีมือของ "เสี่ยเกรียง กัลป์ตินันท์" อดีตรมช.มหาดไทย พี่ใหญ่กัลป์ตินันท์ และ “มาดามกบ” โดยมีตำแหน่ง “แม่ทัพเพื่อไทยอุบลฯ” เป็นเดิมพัน
ย้อนสถิติสนามนายกอบจ. นับตั้งแต่เดือน มี.ค. -พ.ย..2567 มีการเลือกตั้งนายอบจ.ไปแล้ว ไปแล้ว 20 จังหวัด ในจำนวนนี้ พรรคเพื่อไทย ชนะไป 5+1 จังหวัด 5จังหวัดประกอบด้วย พะเยา พิษณุโลก ยโสธร สุโขทัย อุดรธานี
ขณะที่อีก1จังหวัด คือขอนแก่น วัฒนา ช่างเหลา ในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทย นายกอบจ.คนปัจจุบัน ถูกจัดอยู่ในกลุ่มแดงจำแลง
ภูมิใจไทย ชนะไปถึง 10 จังหวัด ประกอบด้วย เลย นครสวรรค์ อ่างทอง ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ชัยภูมิ อุทัยธานี ระนอง นครศรีธรรมราช และสุรินทร์
พรรครวมไทยสร้างชาติ 3 จังหวัด คือ ชัยนาท ชุมพร เพชรบุรี และกลุ่มร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ชนะไป 1 จังหวัด คือ ราชบุรี
เช่นนี้ย่อมต้องจับตา สนามนายกอบจ.ที่จะเกิดขึ้นเต็มรูปแบบไม่เกินก.พ.2568 แน่นอนย่อมส่งผลไปถึงการเมืองสนามใหญ่ในภายภาคหน้า
เป้าหมายสส.200+ฝันที่ไกลเกินจริง?
โดยเฉพาะเป้าหมายที่นั่งสส.ทะยานไปถึง “200+” ตามที่ “ทักษิณ” ประกาศบนเวทีปราศรัยช่วย “ศราวุธ”หา เสียง เมื่อวันที่ 14พ.ย.
มีการวิเคราะห์ไปถึง โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะสมหวังตามเป้าหมายที่นายใหญ่ประกาศ ภายใต้โจทย์ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยจำต้องรักษาจุดยุทธศาสตร์สำคัญนั่นคือ พื้นที่ “ภาคอีสาน” และ “ภาคเหนือ”
ไล่ย้อนดูจำนวนสส.ภาคอีสาน ของพรรคเพื่อไทย 3 ครั้งที่ผ่านมา พบว่า ปี 2554 เพื่อไทย ได้สส. 104 คน จากทั้งหมด126 คน ปี 2562 ได้สส. 84 คน จากทั้งหมด 116 คน ปี 2566 คือการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เพื่อไทยได้ สส.อีสาน 73 คน จาก133 คน
ตัวเลขที่ลดวูบอย่างน่าใจหายของพรรคเพื่อไทย ในพื้นที่อีสานครั้งที่ผ่านมา เป็นเพราะพลาดท่าให้กับพรรคคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นภูมิใจไทยที่ได้ สส. 35 ที่นั่ง พลังประชารัฐ 7 ที่นั่ง ก้าวไกล 7 ที่นั่ง ไทยสร้างไทย 5 ที่นั่ง เป็นต้น
แน่นอนว่า สนามภาคอีสานรอบนี้ พรรคเพื่อไทย ยังมี พรรคภูมิใจไทย รวมไปถึงพรรคประชาชน เป็นเสี้ยนหนามสำคัญ
ท่าที “หัวหน้าพรรคสีน้ำเงิน” ส่งสัญญาณชัดผ่านคำให้สัมภาษณ์สื่อแห่งหนึ่ง เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เวิร์ดดิ้งสำคัญอยู่ตรงที่ “การเมือง” ต้องไม่มีคำว่า “ฮั้ว” แต่ต้องยึดหลัก sportsmanship ในเกมต้องสู้กันเต็มที่ ภูมิใจไทยไม่เคยลดลาวาศอกในเรื่องการแข่งขัน
โดยเฉพาะสนามอีสานที่ไม่ใช่ตีกัน แต่ต้องแข่งขันกันเปรียบเสมือนกีฬากอล์ฟ ต่างฝ่ายต่าง "ทีออฟ" ว่าใครไกลกว่า ต้องแข่งขันเพราะอาชีพตนเองแข่งขันมาตลอดชีวิต
ไม่ต่างไปจาก “ภาคเหนือ” ซึ่งเป็นที่มั่นบ้านเกิดของตระกูลชินวัตร ปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้ สส.35 ที่นั่ง ปี 2562 ได้สส.25 ที่นั่ง ปี 2566 ได้ 17 ที่นั่ง
โดยจังหวัดที่พรรคเพื่อไทยชนะยกจังหวัดเพียง 3 จังหวัดคือ น่าน แพร่ และอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นจังหวัดเล็ก มี สส. 3 คน
ส่วนสนามเชียงใหม่ เหลือแค่ 2 ที่นั่ง เชียงราย 5 ที่นั่ง ลำปาง 1 ที่นั่ง และลำพูน 1 ที่นั่ง ซึ่งจังหวัดเหล่านี้ เพื่อไทยชนะยกจังหวัดมาตลอด
ครม.สัญจรเชียงใหม่ทวงศักดิ์ชินวัตร
เหนือไปกว่านั้นยังต้องจับตา โดยเฉพาะ“หมุดหมายการเมือง” สำคัญ ตอกย้ำจากการลงพื้นที่ของ “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร เตรียมเดินทางลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย เพื่อตรวจราชการ และเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่(ครม.สัญจร) ที่ครั้งที่ 1/2567 ในวันที่ 28 พ.ย.- 1 ธ.ค.2567
โดยมีวาระสำคัญคือ การปล่อยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น
แน่นอนว่า จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นบ้านเกิด และ“เมืองหลวงตระกูลชินวัตร”นั้น การเลือกตั้งรอบที่ผ่านมาบอบช้ำอย่างหนัก ได้สส.เพียง 2 คน จากทั้งหมด 10 เขต คือ เขต 5 จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และเขต 10 ศรีโสภา โกฎคำลือ
ส่วนเขตที่เหลือ ถูกสีส้มกลืนกินไปถึง 7 เขต และพลังประชารัฐอีก 1 เขต รวมเป็น 8 เขต จากทั้งหมด 10 เขต แม้แต่เขต 3 อ.สันกำแพง บ้านเกิดอดีตนายกฯ ก็ยังเป็นอันต้องเพลี่ยงพล้ำให้กับคู่ต่อสู้
ต่อจากนี้ ต้องจับตาสมรภูมินายกอบจ.ซึ่งจะต่อสู้กันเต็มรูปแบบในต้นปีหน้า จะถือเป็นบททดสอบบารมีของ“นายใหญ่”เพื่อไทย ภายใต้โจทย์ใหญ่ สู่เป้าหมาย 200 ที่นั่งในสนามเลือกตั้งสส.สมัยหน้า
จริงอยู่แม้เวลานี้ “ทักษิณ” จะถูกมองว่าไม่ต่างอะไรกับ “พยัคฆ์ติดปีก” แต่ภายใต้สาระพัดเกมรุกไล่ที่กำลังก่อตัวไม่เว้นแต่ละวันจนถึงขณะนี้จึงเกิดคำถามว่า ยิ่งแกร่งแรงเสียดทานจะมีมากขึ้นตามไปด้วยหรือไม่!