โปรดเกล้าฯ พ.ร.ก.กำหนดภาษีส่วนเพิ่ม มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2568
โปรดกล้าฯ พ.ร.ก.กำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2568 กำหนดให้จัดเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่เข้าตามมาตรการต้องเสียภาษีขั้นต่ำ ในอัตรา 15% ชี้เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วน เพื่อประโยชน์รักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชกําหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. ๒๕๖๗
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยภาษีส่วนเพิ่ม
พระราชกําหนดนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทําได้โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชกําหนดนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยและสนับสนุนมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ ที่นานาประเทศได้กําหนดร่วมกันให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่เสียภาษีจากการประกอบกิจการในแต่ละประเทศไม่น้อยกว่าอัตราภาษีขั้นต่ำ ซึ่งการตราพระราชกําหนดนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๑๗๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกําหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกําหนดนี้เรียกว่า “พระราชกําหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. ๒๕๖๗”
มาตรา ๒ พระราชกําหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๘ เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกําหนดนี้และให้มีอํานาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมิน กับออกกฎกระทรวงและระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชกําหนดนี้
กฎกระทรวงและระเบียบตามวรรคหนึ่งนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ระเบียบหรือประกาศที่ออกโดยอธิบดีกรมสรรพากรตามพระราชกําหนดนี้ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
“ภาษีส่วนเพิ่ม” หมายความว่า ภาษีส่วนที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นจากภาษีที่ได้เสียแล้วของ กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ กิจการร่วมค้า และกลุ่มกิจการร่วมค้า โดยคํานวณตามวิธีการที่กําหนดไว้ใน พระราชกําหนดนี้
“ประเทศ” หมายความรวมถึงเขตเศรษฐกิจ
“ประเทศไทย” หมายความว่า อาณาเขตของราชอาณาจักรไทย รวมถึงน่านน้ําภายใน อาณาเขตทะเล และพื้นที่ทะเลอื่นใด ซึ่งราชอาณาจักรไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือเขตอํานาจตามกฎหมายระหว่างประเทศ
“นิติบุคคล” หมายความรวมถึงกลุ่มบุคคลซึ่งมีนิติสัมพันธ์กันและจัดทํางบการเงินแยกเฉพาะส่วน ของกลุ่มบุคคลนั้นได้ เช่น ห้างหุ้นส่วนที่มิใช่นิติบุคคล หรือทรัสต์
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกําหนดฉบับนี้ คือ มาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ (Global Anti-Base Erosion Rules) เป็นแนวทางสากลที่เห็นชอบร่วมกันระหว่าง ภาคีสมาชิกของกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกําไร (Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับรองว่าอัตราภาษีที่แท้จริงของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่จากการประกอบกิจการในแต่ละประเทศนั้นต้องไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้า
หากน้อยกว่าจํานวนดังกล่าวในประเทศใด ประเทศอื่นที่ปรับใช้มาตรการดังกล่าวมีสิทธิจัดเก็บ ภาษีส่วนที่ยังขาดอยู่ หรือที่เรียกว่า “ภาษีส่วนเพิ่ม” (Top-up Tax) แทนได้ ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศ มีการตรากฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มจากกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่แล้ว
ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยในการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและเป็นการรักษาสิทธิในการจัดเก็บภาษีของประเทศไทยจากภาษีส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งจะต้องเริ่มคํานวณภาษีส่วนเพิ่ม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๘ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วน อันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจําเป็นต้องตราพระราชกําหนดนี้
อ่านประกาศฉบับเต็ม : พระราชกําหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. ๒๕๖๗