ส่องเกม ‘พรรคส้ม’ หัก ‘แดง’ จับตาแคมเปญหาเสียงลักษณะ ’มีทักษิณไม่มีเรา’
เกมหลังจากนี้คงอาจได้เห็น “ค่ายส้ม” ประกาศแคมเปญหาเสียงในลักษณะ “มีทักษิณไม่มีเรา” คล้ายกับตอนเลือกตั้งปี 2566 ที่เดินหมาก “มีลุงไม่มีเรา” จนประสบชัยชนะมาแล้ว ก็เป็นไปได้
KEY
POINTS
- ศึกรบ 'ค่ายส้ม' vs 'ค่ายแดง' เปิดฉากขึ้นอีกรอบอย่างเต็มตัว
- ท่ามกลางกระแสเลือกตั้งชิงนายก อบจ.ทั่วประเทศ กำลังอุบัติขึ้น
- 'ทักษิณ' ผู้นำทางจิตวิญญาณแดง ออกหน้าปราศรัยเหน็บแนม 'ค่ายส้ม' หวังฟื้นเรตติ้ง 'เพื่อไทย'
- แต่บรรดา 'บิ๊กเนมสีส้ม' คราวนี้ไม่ใช่แค่ตั้งรับ แต่รุกกลับ สวน 'นายใหญ่' แบบไม่เกรงกลัว
- จับตาเลือกตั้ง 2570 ผุดแคมเปญ 'มีทักษิณไม่มีเรา' ซ้ำรอย 'มีลุงไม่มีเรา' ที่ประสบผลสำเร็จมาแล้ว
ก่อนปิดฉากปี 2567 เข้าสู่ศักราชใหม่ปี 2568 สถานการณ์ทางการเมืองระหว่าง “ค่ายแดง” และ “ค่ายส้ม” ดูเหมือนจะแปรเปลี่ยนจาก “พันธมิตรชั่วคราว” มาสู่สถานะ “ศัตรูหมายเลข 1” ระหว่างกันและกันอย่างเต็มตัว
แม้ว่าก่อนหน้านี้ทั้ง “ค่ายแดง” และ “ค่ายส้ม” จะพยายามรอมชอม ในประเด็นการเสนอร่างกฎหมาย ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งแบบรายมาตรา และแบบทั้งฉบับ รวมถึงความพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้แก่ผู้ต้องขังทางการเมืองก็ตาม แต่ความพยายามรอมชอมผลักดันร่างกฎหมาย “สุ่มเสี่ยง” ระหว่าง “ค่ายแดง-ส้ม” ก็อยู่ในการจับตาของ “ฝ่ายอนุรักษนิยม” มาโดยตลอด
กระทั่งมาถึงจุดแตกหัก 2 กรณีใหญ่ ๆ ด้วยกัน ได้แก่ การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา โดยต้องการแก้ไขนิยาม ความหมาย เกี่ยวกับความผิดด้านจริยธรรมอย่างร้ายแรง ปิดช่อง “องค์กรอิสระ” เป็นผู้ชี้ขาด ริบอำนาจกลับคืนสภาฯ ในฐานะตัวแทนประชาชน เป็นผู้พิจารณาไตร่ตรองแค่เพียงฝ่ายเดียว
อีกกรณีคือ “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” บิ๊กเนมเพื่อไทย ยกกรณี “ยุน ซ็อก-ย็อล” ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ประกาศกฎอัยการศึก แต่ถูกฝ่ายค้านแห่เข้าไปกลางดึกยับยั้งการกระทำดังกล่าว จนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก “เพื่อไทย” จึงเสนอแก้ไขกฎหมายกลาโหมฯ หวังสกัดรัฐประหารที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว เหมือน “ค่ายแดง” พยายามร่วมมือกับ “ค่ายส้ม” คัดง้าง “มือที่มองไม่เห็น” จนโดนโต้กลับด้วย “นิติสงคราม” ทั้งเรื่องการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยุบพรรคเพื่อไทย และยื่นร้ององค์กรอิสระให้ตรวจสอบเงื่อนปม “นักโทษเทวดา” ที่พักรักษาตัวห้องพิเศษชั้น 14 รพ.ตำรวจ โดยไม่ต้องจำคุกในเรือนจำแม้แต่วันเดียว เป็นต้น
เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น “ค่ายแดง” จึงรีบสลัดมือทิ้งผลัก “ค่ายส้ม” กลับไปเป็น “ศัตรู” หนามยอกอกเบอร์ 1 ทางการเมืองเช่นเดิม เหมือนที่เคยทำตอนจัดตั้ง “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” ทำเอา “บิ๊กเนมสีส้ม” แสบสันต์ไปถึงทรวงมาแล้ว
สำหรับ “ค่ายแดง-ส้ม” ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เปรียบเสมือน “น้ำ-น้ำมัน” ไม่อาจอยู่รวมกันได้ ด้วยเพราะอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันสุดขั้ว มีจุดเชื่อมบาง ๆ คือการต่อต้านรัฐประหารเท่านั้น โดยทั้งใน-นอกสภาฯ สส.ทั้ง 2 พรรค ต่างเคยมีวิวาทะใส่กันอยู่เนือง ๆ แม้ว่า “ศาสดา” ของทั้ง 2 ค่าย จะเคยหารือพบปะกันมาก่อนการเลือกตั้งปี 2566 ก็ตาม แต่ “ดีลลับ” ไม่เป็นไปดังคาด จนสุดท้าย “ก้าวไกล” ถูกเขี่ยพ้นสมการจัดตั้งรัฐบาล แม้จะชนะเลือกตั้งได้ สส.มาเป็นอันดับ 1 ของสภาฯก็ตาม
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” โดนคดีหุ้นสื่อ ก็เคยพาดพิง “ทักษิณ” ว่า เขาตั้งใจมาทำงานการเมืองไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน เหมือนที่ “ทักษิณ” โดนมาก่อน พอถูกกระแสตีกลับได้รีบออกมาขอโทษ “ทักษิณ” ทันที เช่นเดียวกับ “ทักษิณ” ก็เคยแซะจิกกัดไปยัง “ค่ายส้ม” หลายครั้ง ถึงจะไม่เอ่ยนาม แต่ก็พอสืบสาวราวเรื่องได้ว่าพรรคไหน
มาครั้งล่าสุด ปราศรัยหาเสียงนายก อบจ.เชียงใหม่ “ทักษิณ” ถึงกับอู้กำเมืองพูดบนเวทีว่า “เขาอู้เก่ง แต่เดี๋ยวนี้เริ่มด่าเก่ง” มาแล้ว ทว่าก็ถูก “พลพรรคส้ม” สวนกลับแบบไม่ลืมหูลืมตา ไล่เรียงมาตั้งแต่ “เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุมิ” หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ลามมาถึง สส.พรรคส้ม อีกหลายคน
ที่น่าสนใจคือ ก่อนหน้านี้เมื่อครั้ง “ทักษิณ” หรือ “บิ๊กเนมค่ายแดง” พาดพิงไปยัง “พรรคส้ม” มักไม่ค่อยโต้ตอบ หรือสวนกลับมากนัก เหมือนไม่ใส่ใจอะไร ก้มหน้าก้มตาทำงาน แต่คราวนี้เหมือนจะกลับกัน เมื่อ “พรรคส้ม” สวนกลับ จน “ค่ายแดง” ดูจะเสียทรงไปเลยทีเดียว และคงคาดไม่ถึงว่าจะกล้าทำขนาดนี้
มีความเป็นไปได้ว่าหลังจากนี้ สัญญาณความเป็นมิตรกันระหว่าง “แดง-ส้ม” น่าจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะ “บิ๊กเนมสีส้ม” ประเมินแล้วเห็นว่า สมควรสู้กับ “ค่ายแดง” ในทุกสมรภูมิ โดยมองว่า “ค่ายแดง” กลายเป็น “ตัวแทน” ฝ่ายอนุรักษนิยมใหม่ นอกจากนี้การขยับของ “ทักษิณ” ที่ลงพื้นที่หลายจังหวัด หวังฟื้นความนิยม “อาณาจักรชินวัตร” กลับมานั้น ถือว่ามีสถานะเป็น “ศัตรูหมายเลข 1” ในทางการเมืองอย่างแน่นอน
แม้ว่าในสนามเลือกตั้งนายก อบจ. “พรรคส้ม” จะพ่ายแพ้ไปหลายสนาม แต่คะแนนที่ได้รับกลับมา เกินกว่าที่คาด บางแห่งได้มากกว่าในการเลือกตั้ง สส.ปี 2566 ด้วยซ้ำ ดังนั้นเป้าหมายที่วางไว้ในการเลือกตั้งปี 2570 จะได้ที่นั่งในสภาฯไม่ต่ำกว่า 170 สส. อาจมีสิทธิ์เป็นไปได้
ขณะที่สนามการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่มีฐานเสียงสีส้มแข็งแกร่ง อย่าง จ.ตราด และ จ.สมุทรปราการ ซึ่ง “พรรคส้ม” กวาด สส.ได้ยกจังหวัดนั้น ก็มีลุ้นถึงขั้นได้เก้าอี้นายก อบจ.ครั้งแรก เช่นเดียวกัน
เกมหลังจากนี้คงอาจได้เห็น “ค่ายส้ม” ประกาศแคมเปญหาเสียงในลักษณะ “มีทักษิณไม่มีเรา” คล้ายกับตอนเลือกตั้งปี 2566 ที่เดินหมาก “มีลุงไม่มีเรา” จนประสบชัยชนะมาแล้ว ก็เป็นไปได้