ชำแหละแต้มรายเขต อบจ.อุบลฯ ‘เกรียง-ทักษิณ’ หยุดอำนาจ ‘โรงแป้ง’
เสร็จศึกเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี จบลงด้วยชัยชนะของ "พรรคเพื่อไทย" ทำให้บ้านใหญ่ "กัลป์ตินันท์" ยังคงครองอำนาจการเลือกตั้งท้องถิ่นต่อไป อีกทั้งยังส่งผลถึงกระดานการเมืองในอนาคต เมื่อ "ทักษิณ-เกรียง" สามารถหยุดอำนาจ "โรงแป้งมัน" ใน อุบลฯ ไว้ได้
KEY
POINTS
- เสร็จศึกเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี "ซุ้มกัลป์ตินันท์" จากค่าย "เพื่อไทย" ยังคงครองอำนาจได้ต่ออีกสมัย เอาชนะคู่แข่ง "จิตรวรรณ"ได้ 8 เขตจาก 11 เขต
- "เกรียง กัลป์ตินันท์" อาศัย "พลัง" ของ "อดีตนายกฯ ทักษิณ" ช่วยปราศรัยเพื่อหยุดอำนาจที่รุกคืบมาจากฝั่ง "หวังศุภกิจโกศล" ผ่าน "มาดามกบ" คู่แข่งสุดหิน
- พรรคเพื่อไทย สามารถล้างตาใน อ.ม่วงสามสิบ อ.นาจะหลวย อ.บุณฑริก เอาชนะฝั่งตรงข้ามได้ หลังพลาดท่าพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งใหญ่
- สรรพกำลังของฝั่ง "โรงแป้งมัน" ทีม "มาดามกบ" ไม่ธรรมดา ทำให้ "ค่ายกัลป์ตินันท์" แห่ง "เพื่อไทย" ต้องวางขุมกำลังหยุดคู่แข่งยึดครอง จ.อุบลฯ
ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี เมื่อ 22 ธ.ค.2567 จบลงด้วย ชัยชนะของซุ้มอุบลฯ พรรคเพื่อไทย “กานต์ กัลป์ตินันท์” ได้รับการเลือกตั้งอีกสมัย ภายใต้การบัญชาการสู้ศึกเลือกตั้ง ขุนพลอีสานใต้ “เกรียง กัลป์ตินันท์” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีต รมช.มหาดไทย
ก่อนถึงวันเลือกตั้งค่ายแดงแห่งอีสานใต้ หวั่นใจไม่น้อยกับศึกครั้งนี้ เพราะหากต้านสรรพกำลังการต่อสู้ของฝั่ง “หวังศุภกิจโกศล” ไม่อยู่ อาจส่งผลถึงการสูญเสียฐานที่มั่นในการเลือกตั้งใหญ่ได้
“จิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล” หรือ “มาดามกบ” ยอมรับความพ่ายแพ้ศึกนายก อบจ.ครั้งนี้ แม้จะมีพันธมิตรสีน้ำเงินเข้มจากซุ้ม “สุพล ฟองงาม” - “สุทธิชัย จรูญเนตร” ตระกูล “โภคกุลกานนท์” ตระกูลโควสุรัตน์ ตระกูลจินตะเวช ตระกูลตันติวณิชชานนท์ รวมทั้งยังได้ “สุขสมรวย วันทนียกุล” สส.อำนาจเจริญ แม่ทัพอีสานใต้ พรรคภูมิใจไทย เป็นพันธมิตรด้วย
กกต.อบจ.อุบลราชธานี รวมผลคะแนนทางการ “กานต์” จากพรรคเพื่อไทย ได้รับเลือกตั้ง 387,456 คะแนน อันดับ 2 จิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล (อิสระ) 322,986 คะแนน อันดับ 3 สิทธิพล เลาหะวนิช พรรคประชาชน 138,837 คะแนน อันดับ 4 อธิปไตย ศุ้ย ศรีมงคล 3,620 คะแนน
จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1,470,152 คน มาแสดงตนใช้สิทธิ 895,106 คน บัตรดี 852,899 บัตร บัตรเสีย 25,626 บัตร บัตรไม่เลือกผู้สมัครใด 16,581 บัตร
พลิกดูผลการเลือกตั้ง สส.ทั่วไป จ.อุบลราชธานี เมื่อ 14 พ.ค. 2566 ภาพรวม สส.เขต อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย 340,845 คะแนน อันดับ 2 พรรคภูมิใจไทย 197,095 คะแนน อันดับ 3 พรรคก้าวไกล 168,875 คะแนน อันดับ 4 พรรคเพื่อไทรวมพลัง 94,345 คะแนน
คะแนน สส.บัญชีรายชื่อ อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย 411,239 คะแนน อันดับ 2 พรรคก้าวไกล 320,831 คะแนน อันดับ 7 พรรคเพื่อไทรวมพลัง 14,029 คะแนน
ขณะที่ “มาดามกบ” เปิดใจผ่าน “เจาะลึกทั่วไทย” ตอนหนึ่งว่า การเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติจะแตกต่างกัน ส่วนการเมืองท้องถิ่นต้องอาศัยความผูกพันในพื้นที่ด้วย ผู้ให้การสนับสนุนอีกฝั่งก็จะมีจำนวนคนเยอะกว่าเรา ก็จะมีการพูดในพื้นที่ค่อนข้างบ่อย ในการนำเสนอสิ่งต่างๆ ไปผูกโยงการเมืองระดับชาติ ทำให้ประชาชนไม่เข้าใจในเรื่องความอิสระในการดูแลงบประมาณ ให้ประชาชนได้งบ ตามที่ต้องการ
“มีการสื่อสารให้เข้าใจผิด เรายอมรับแก้ไขไม่ทันในการชี้แจง ประเด็นธุรกิจที่บ้าน นำเข้ามันสำปะหลังเข้ามาจากเพื่อนบ้าน (ฝั่งกัมพูชา) ไม่ได้นำเข้ามา และเราไม่ได้เป็นผู้ขึ้นทะเบียนมันสำปะหลังเข้ามา ในความเป็นจริงไม่ได้นำเข้ามา จนทำให้ราคาตกต่ำ รวมถึงโจมตีว่าเป็นคนนอกพื้นที่ด้วย” มาดามกบ ระบุ
ไล่เลียงเจาะดูผลเลือกตั้งทั่วไปรายเขต จ.อุบลราชธานี เมื่อปี 2566 และผลเลือกตั้งนายก อบจ. 22 ธ.ค. 2567 (รายเขตแบบไม่เป็นทางการ)
เขต 1 อ.เมืองอุบลราชธานี (ยกเว้น ต.ปะอาว ต.หนองขอน ต.ขี้เหล็ก ต.หัวเรือ และ ต.ไร่น้อย) วรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ พรรคเพื่อไทย 32,468 คะแนน อันดับ 2 วิศรุต สวัสดิวร พรรคก้าวไกล 31,112 คะแนน
ผลเลือกตั้งนายก อบจ. กานต์ ชนะ 32,331 คะแนน อันดับ 2 สิทธิพล 22,986 คะแนน อันดับ 3 จิตรวรรณ 22,916 คะแนน
เขต 2 อ.เขื่องใน และ อ.เมืองอุบลราชธานี (เฉพาะ ต.ปะอาว ต.หนองขอน ต.ขี้เหล็ก ต.หัวเรือ และ ต.ไร่น้อย) วุฒิพงษ์ นามบุตร พรรคประชาธิปัตย์ 38,164 คะแนน อันดับ 2 ณรงค์ชัย วีระกุล พรรคเพื่อไทย 31,953 คะแนน
ผลเลือกตั้งนายก อบจ. กานต์ ชนะ 42,754 คะแนน อันดับ 2 จิตรวรรณ 24,433 คะแนน อันดับ 3 สิทธิพล 12,765 คะแนน
เขต 3 ประกอบด้วย อ.ม่วงสามสิบ อ.เหล่าเสือโก้ก อ.ดอนมดแดง และ อ.ตาลสุม พิมพกาญจน์ พลสมัคร เพื่อไทรวมพลัง ได้รับเลือกตั้ง 31,218 คะแนน อันดับ 2 ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ พรรคเพื่อไทย 22,020 คะแนน
ผลเลือกตั้งนายก อบจ. กานต์ ชนะ 42,918 คะแนน อันดับ 2 จิตรวรรณ 29,037 คะแนน อันดับ 3 สิทธิพล 5,502 คะแนน
เขต 4 อ.วารินชำราบ และ อ.สำโรง (เฉพาะตำบลบอน ตำบลโคกก่อง และตำบลสำโรง) กิตติ์ธัญญา วาจาดี พรรคเพื่อไทย ได้รับเลือกตั้ง 39,462 คะแนน อันดับ 2 วัฒนชัย มากมูล พรรคก้าวไกล 31,052 คะแนน
ผลเลือกตั้งนายก อบจ. กานต์ ชนะ 31,154 คะแนน อันดับ 2 จิตรวรรณ 26,282 คะแนน อันดับ 3 สิทธิพล 21.418 คะแนน
เขต 5 อ.ตระการพืชผล อ.กุดข้าวปุ้น สุทธิชัย จรูญเนตร พรรคภูมิใจไทย ได้รับเลือกตั้ง 44,121 คะแนน อันดับ 2 รัฐกิตติ์ ผาลีพัฒน์ พรรคเพื่อไทย 30,596 คะแนน
ผลเลือกตั้งนายก อบจ. จิตรวรรณ ชนะ 32,466 คะแนน อันดับ 2 กานต์ 31,701 คะแนน อันดับ 3 สิทธิพล 5,716 คะแนน
เขต 6 อ.เขมราฐ อ.นาตาล อ.โพธิ์ไทร ธัญธารีย์ สันตพันธุ์ พรรคเพื่อไทย ได้รับเลือกตั้ง 43,430 คะแนนอันดับ 2 บุญธรรม ภาคโพธิ์ พรรคไทยสร้างไทย 22,759 คะแนน
ผลเลือกตั้งนายก อบจ. กานต์ ชนะ 34,350 คะแนน อันดับ 2 จิตรวรรณ 24,669 คะแนน อันดับ 3 สิทธิพล 9,270 คะแนน
เขต 7 อ.ศรีเมืองใหม่ อ.โขงเจียม อ.สิรินธร (ยกเว้น ต.โนนก่อ) และ อ.พิบูลมังสาหาร (เฉพาะ ต.ระเว และต.ทรายมูล) สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ พรรคเพือไทย ได้รับเลือกตั้ง 38,533 คะแนน อันดับ 2 เชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ พรรคภูมิใจไทย 33,499 คะแนน
ผลเลือกตั้งนายก อบจ. กานต์ ชนะ 38,391 คะแนน อันดับ 2 จิตรวรรณ 28,407 คะแนน อันดับ 3 สิทธิพล 6,222 คะแนน
เขต 8 อ.นาเยีย อ.สว่างวีระวงศ์ และอ.พิบูลมังสาหาร (ยกเว้น ต.ระเว และต.ทรายมูล) แนน บุณย์ธิดา สมชัย พรรคภูมิใจไทย ได้รับเลือกตั้ง 31,773 คะแนน อันดับ 2 เอกพล ญาวงค์ พรรคเพื่อไทย 27,893 คะแนน
ผลเลือกตั้งนายก อบจ. กานต์ ชนะ 42,898 คะแนน อันดับ 2 จิตรวรรณ 28,858 คะแนน อันดับ 3 สิทธิพล 9,617 คะแนน
เขต 9 อ.นาจะหลวย อ.บุณฑริก และ อ.สิรินธร (เฉพาะ ต.โนนก่อ) รำพูล ตันติวณิชชานนท์ พรรคไทยสร้างไทย ได้รับเลือกตั้ง 31,311 คะแนน อันดับ 2 ประภูศักดิ์ จินตะเวช พรรคเพื่อไทย 30,851 คะแนน
ผลเลือกตั้งนายก อบจ. กานต์ ชนะ 32,087 คะแนน อันดับ 2 จิตรวรรณ 27,567คะแนน อันดับ 3 สิทธิพล 698 คะแนน
เขต 10 อ.น้ำยืน อ.น้ำขุ่น อ.ทุ่งศรีอุดม อ.เดชอุดม (เฉพาะ ต.ทุ่งเทิง) และ อ.สำโรง (ยกเว้น ต.บอน ต.โคกก่อง และ ต.สำโรง) สมศักดิ์ บุญประชม พรรคเพื่อไทรวมพลัง ได้รับเลือกตั้ง 63,127 คะแนน อันดับ 2 สมคิด เชื้อคง พรรคเพื่อไทย 19,351 คะแนน
ผลเลือกตั้งนายก อบจ. จิตรวรรณ ชนะ 41,031 คะแนน อันดับ 2 กานต์ 33,570 คะแนน อันดับ 3 สิทธิพล 10,701 คะแนน
เขต 11 อ.เดชอุดม (ยกเว้น ต.ทุ่งเทิง) ตวงทิพย์ จินตะเวช พรรคภูมิใจไทย ได้รับเลือกตั้ง 43,797 คะแนน อันดับ 2 เอกชัย ทรงอำนาจเจริญ พรรคเพื่อไทย 24,288 คะแนน
ผลเลือกตั้งนายก อบจ. จิตรวรรณ ชนะ 37,938 คะแนน อันดับ 2 กานต์ 28,870 น อันดับ 3 สิทธิพล 11,235 คะแนน
"ทักษิณ-เกรียง" หยุดอำนาจ "โรงแป้งมัน"
ปัจจัยที่ทำให้ “กานต์” ชนะด้วยแต้มทิ้งห่าง “จิตรวรรณ” กว่า 6.4 หมื่นคะแนน เป็นผลมาจากกระแสของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งอิทธิพลการปราศรัยของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ประกาศว่าหากเขาได้ขึ้นเวทีปราศรัยที่ไหน พรรคจำเป็นต้องชนะ ไม่เช่นนั้นตัวเองจะอายไม่กล้ากลับมาเยือนจังหวัดนั้นอีก
รวมทั้ง "พรรคเพื่อไทย" ยังได้คะแนนจากพันธมิตรเพื่อนเก่าที่ผูกพันกันมาตั้งแต่ “เกรียง” อยู่ค่ายประชาธิปัตย์ อย่าง ตระกูลนามบุตร ในเขต 2 พื้นที่ อ.เขื่องใน และตระกูล “สมชัย” ในเขต 8 อ.พิบูลมังสาหาร อ.สว่างวีระวงศ์
อีกทั้ง เขต 3 อ.ม่วงสามสิบ พรรคเพื่อไทย “ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ” ซึ่งเคยพ่ายแพ้ให้ “เพื่อไทรวมพลัง” ก็สามารถทำแต้มกลับมาชนะ “จิตรวรรณ”ได้
ขณะเดียวกัน "พรรคเพื่อไทย" ยังล้างตาทวงคืนพื้นที่ในเขต 9 โดยสามารถเอาชนะ "จิตรวรรณ"ได้ หลัง "ประภูศักดิ์ จินตะเวช" เคยพ่ายแพ้ให้กับ "รำพูล ตันติวณิชชานนท์" ค่ายไทยสร้างไทย แบบไม่ทิ้งห่าง
ส่วนเขต 10 พื้นที่เก่าในอดีตของ “สมคิด เชื้อคง” ยังคงต้านทานพลัง และอานุภาพหนักของโรงแป้งเอี่ยมอุบลไม่อยู่เช่นเดิม แม้แต้มจะเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ยังสามารถเอาชนะไปได้ 1 อำเภอ คือ อ.สำโรง จากทั้งหมด 4 อำเภอ
เท่ากับว่า ณ วันนี้ "พรรคเพื่อไทย" ในพื้นที่ฐานเสียงของ สส. และอดีตผู้สมัคร สามารถเอาชนะ "จิตรวรรณ" ได้ 8 เขต จากทั้งหมด 11 เขต มี 2 เขต ใน 8 เขตที่ชนะได้พันธมิตรสหายเกรียงร่วมเติมแต้ม หลังการเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 "เพื่อไทย อุบลฯ" ได้ สส.มาเพียง 4 คน เพลี่ยงพล้ำให้ "โรงแป้ง" จาก "ไทรวมพลัง" 2 เขต
ด้านพื้นที่ของ “จิตรวรรณ” ที่ชนะนั้น เป็นฐานเสียงของพรรคภูมิใจไทยพันธมิตรหลัก ในเขต 5 ของ “สุทธิชัย จรูญเนตร”
เขต 10 พื้นที่ อ.น้ำยืน อ.น้ำขุ่น อ.ทุ่งศรีอุดม อ.เดชอุดม (เฉพาะ ต.ทุ่งเทิง) และ อ.สำโรง (ยกเว้น ต.บอน ต.โคกก่อง และ ต.สำโรง) ยังคงเป็นฐานเสียงกำลังสำคัญของพรรคไทรวมพลัง ของ “สมศักดิ์ บุญประชุม” เพราะเป็นที่ตั้งของโรงแป้งเอี่ยมอุบล
"มาดามกบ" ยังชนะในเขต 11 ของ “ตวงทิพย์” พรรคภูมิใจไทย
ว่ากันว่า คืนวันสุดท้าย อิทธิพลของบิ๊กเนมพรรคใหญ่ ถึงขั้นต้องออกแรงดีลไปยังฝั่งตรงข้าม ให้หยุดเดินเกมใช้สรรพกำลังล็อตสุดท้าย
จึงทำให้แต้มของค่ายฝั่งตรงข้ามไม่ไหลต่อเนื่อง ก่อนจบลงด้วยผลแห่งความพ่ายแพ้ กรรมการจึงชูมือให้ซุ้ม “กัลป์ตินันท์” เป็นฝ่ายชนะศึกครั้งนี้อย่างขาดลอย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์