ลองขับ ก่อนขาย 1 ธันวาฯ ‘เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี’
ย้อนอารมณ์ สัมผัสแรก มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ บนท้องถนนประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2561 ก่อนเปิดตัว อย่างเป็นทางการในงาน มอเตอร์ เอ็กซ์โป
วันพรุ่งนี้ (1 ธันวาคม 2563) มิตซูบิชิ จะเปิดตัว “เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี” อย่างเป็นทางการ ในงานมหกรรมยานยนต์ และจะกลายเป็นรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด คันแรกของ มิตซูบิชิ และคันแรกของรถจากญี่ปุ่นในตลาดประเทศไทย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ตลาดนี้ครองโดยรถจากฝั่งยุโรปเป็นหลักในตลาดพรีเมียม ก่อนที่ เอ็มจี จะเป็นยี่ห้อแรกที่เปิดตัวในตลาด mass ด้วย เอชเอส พีเอชอีวี
ก่อนหน้านี้ หลายคนวิเคราะห์กันว่า เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี จะยังไม่มาในปีนี้ เนื่องจาก เจนเนอเรชั่น ใหม่ เตรียมจะเปิดตัวในอีกไม่นาน จึงคาดกันว่า มิตซูบิชิ มอเตอร์ ประเทศไทย จะรอเปิดตัวโฉมใหม่ไปเลย แต่ที่สุดแล้ว มิตซูบิชิ ตัดสินใจเปิดตัวโฉมปัจจุบัน แม้จะอยู่ช่วงปลายโมเดลก็ตาม ส่วนหนี่งน่าจะเป็นแพราะมิตซูบิชิ คงไม่หวังยอดขายแบบถล่มทลาย แต่ต้องการปูทาง สร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคก่อน และไม่เพียงแค่ตัวรถ ยังควบคู่ไปกับระบบนิเวศพลังงานไฟฟ้า อย่าง “เดนโด ไดรฟ์เฮาส์”
สำหรับเอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี โฉมปัจจุบัน แม้จะอยู่ช่วงปลายอายุ แต่ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่ประสบความสำเร็จสูงในตลาดโลก ดังนั้นการนำเข้ามาทำตลาดในบ้านเรา ครั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผมได้รับเชิญไปขับรถรุ่นนี้ที่ โพรวองซ์ ฝรั่งเศส แน่นอน นั่นหมายถึงว่า มิตซูบิชิ สนใจที่จะทำตลาดตั้งแต่ช่วงเวลานั้น
และในครั้งนั้นมิตซูบิชิบอกว่า ความสนใจคือ การทำตลาดเทคโนลยี “ปลั๊ก-อิน ไฮบริด” แต่ว่าโมเดลรถคงจะไม่ใช่ เอาท์แลนเดอร์ แต่ที่สุดแล้ว คนไทยก็จะได้พบกับ เอาท์แลนเดอร์ อยู่ดี
มิตซูบิชิ เป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่มีเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้ามายาวนาน โดยในส่วนของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี เปิดตัวครั้งแรกตั้งแต่เมื่อปี 2552 และทำตลาดใน 53 ประเทศ ก่อนท่ะปี 2556 จะเข้าสู่ตลาด ปลั๊กอิน ไฮบริด หรือ พีเอชอีวี เป็นครั้งแรก และทำตลาด 56 ประเทศ ซึ่งก็คือ เอาท์แลนเดอร์นี่เอง
ปี 2558 เปิดตัว เอาท์แลนเดอ ร์ใหม่ ก่อนที่ปี 2561 จะไมเนอร์เชนจ์ เป็นโฉมปี 2019 ซึ่งเป็นคันที่ผมขับมันชมท้องทุ่งลาเวนเดอร์ ไร่แอ๊ปเปิ้ล และเชอรี ไปลองขับ ในย่าน Gordes แถบเทือกเขา Luberon ที่สวยงาม
รายละเอียดบางอย่างกับรุ่นที่จะเปิดตัวในบ้านเรา พรุ่งนี้ อาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่หลักๆ แล้วยังเหมือนกัน
ระบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด ของเอาท์แลนเดอร์ น่าสนใจ เป็นการทำงานร่วมกันของ เครื่องยนต์เบนซิน 2,360 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 135 แรงม้าที่ 4,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 211 นิวตันเมตร ที่ 4,500 รอบ/นาที กับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว
มอเตอร์ด้านหน้าให้กำลังสูงสุด 82 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 195 นิวตันเมตร ขณะที่มอเตอร์ตัวหลังให้กำลังสูงสุด 95 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 195 นิวตันเมตร ส่วนแบตเตอรีเป็นแบบ ลิเธียมไอออน 13.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง
หากเสียบไฟเพื่อชาร์จ แบตเตอรี หากชาร์จแบบธรรมดา ด้วยไฟ เอซี 230 โวลต์ 16 แอมป์ จะใช้เวลา 4 ชม. แต่ถ้าชาร์จแบบเร็ว หรือ ควิกชาร์จ ด้วยไฟดีซี จาก 0-80% ใช้เวลา 25 นาที
โหมดการใช้งานมีให้เลือกหลากหลาย ทั้งโหมด อีวี หรือการใช้พลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว โหมดชาร์จแบตเตอรี ซึ่งระบบจะสั่งให้ชาร์จแบตเตอรีจนเต็มความจุ และโหมดเก็บแบตเตอรี (save) ซึ่งระหว่างนั้นระบบจะไม่ดึงไฟจากแบตเตอรีแม้แต่น้อย
ซึ่งโหมดนี้ส่วนใหญ่ผู้ขับเลือกเพื่อเก็บพลังงานไฟฟ้าเอาไว้ใช้ในยามจำเป็น เช่น รู้ว่ากำลังจะเดินทางเข้าไปยังแหล่งชุมชน พื้นที่จราจรหนาแน่น ซึ่งการใช้พลังงานไฟฟ้าจะประหยัดมากกว่า และไม่ปล่อยไอเสีย หรือกำลังจะต้องเข้าไปจอดรอในห้าง หรือรอรับบุตรหลานในโรงเรียน ก็สามารถนั่งรอในรถได้ โดยเครื่องปรับอากาศยังทำงาน โดยไม่ต้องติดเครื่องยนต์ เป็นต้น
แต่หากไม่เลือกอะไร ระบบไฮบริดจะเลือกโหมดการทำงานอัตโนมัติ ให้เหมาะสมกับสภาพเส้นทาง และรูปแบการขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ทำงานอย่างเดียว มอเตอร์ทำงานอย่างเดียว หรือว่าทำงานร่วมกัน
ทั้งนี้ระบบไฮบริด ของเอาท์แลนเดอร์ เป็นแบบ ซีรีส์-พาราเรล พูดง่ายๆ ว่ามีทั้ง 2 ระบบ
โดยพาราเรล คือ เครื่องยนต์ทำงาน มอเตอร์ก็ทำงาน โดยทั้งคู่ส่งกำลังไปขับเคลื่อนล้อ เป็นการร่วมด้วยช่วนกัน แต่บางช่วงที่ระบบอ่านว่าใช้กำลังจากมอเตอร์อย่างเดียวดีกว่า เช่นช่วงปีนเนินชันที่อาศัยแรงบิดของมอเตอร์ไฟฟ้าดีกว่า แต่จังหวะนั้นอาจต้องการกำลังไฟมากกว่า ระบบจะสั่งการให้เครื่องยนต์ทำงาน แต่ไม่ต้องส่งกำลังไปที่ล้อ ให้ส่งไปปั่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อจ่ายให้กับแบตเตอรี และจ่ายให้กับมอเตอร์ขับเคลื่อน
ซึ่งในเส้นทางแบบนี้ การที่เครื่องยนต์ไม่ต้องส่งกำลังไปขับเคลื่อนล้อโดยตรง ทำหน้าที่แค่ปั่นไฟ จะทำให้ทำงานเบากว่า จึงทำให้อัตราสิ้นเปลืองลดลง
เอาท์แลนเดอร์ มีเกียร์ B เสริมเข้ามาจาก R D และ N เหมือนดังที่รถ อีวี หรือ ไฮบริด ใช้กัน โดยเกียร์ B ของเอาท์แลนเดอร์ สามารถเลือกได้ 5 ระดับ หรือ B1-B5 ควบคุมง่ายด้วยแพดเดิล ชิฟท์ ที่ใช้ในการเปลี่ยนเกียร์ด้วยตัวเองเมื่อใช้เกียร์ D ที่พวงมาลัยนั่นแหละครับ
การปรับระดับของเกียร์ B ช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการขับขี่มากขึ้น เช่น เมื่อลงเนินชัน ก็เลือกให้เหมาะสม ถ้าชันน้อยก็ B1 ชันมากขึ้นมาหน่อยก็ B2 ถ้าชันสุดๆ ก็ B5 ไปเลย
ตำแหน่ง B1-B5 จะมีแรงหน่วงด้วยมอเตอร์ คล้ายกับเอนจิ้น เบรก ที่แตกต่างกันไป B5 ก็หน่วงมากสุด เหมือนลงเขาด้วยเกียร์ 1 และการชาร์จกลับ B5 ก็จะชาร์จได้มากที่สุดเช่นกัน
หรือการขับขี่ทั่วไป จะเลือกใช้เกียร์ B ก็ได้เช่นกัน หากต้องการให้การชาร์จกลับทำได้เร็วขึ้น ทุกครั้งที่ถอนคันเร่ง หรือเบรก แต่ก็สึกได้ถึงแรงหน่วงที่เกิดขึ้นทันที
ส่วนโหมดขับขี่ก็มีให้เลือกแบบ สปอร์ต เพิ่มความดุดัน และการล็อคโหมด 4WD
มีลูกเล่นในการขับขี่เยอะ แต่ว่าการขับครั้งนั้นเป็นการลองระยะทางไม่มากนัก แต่ก็จับความรู้สึกได้ในเรื่องหลัก เช่น อัตราเร่ง การทรงตัว การยึดเกาะถนนในทางตรง ทางโค้ง ที่ทำได้ดี เป็นเอสยูวี คันค่อนข้างใหญ่ที่ขับได้สนุกพอตัว จากการตอบสนองที่รวดเร็วของพละกำลังไฮบริด
รถเกาะถนนดี แต่ช่วงล่างก็ออกแบบไปทางนุ่มๆ นั่งสบาย ดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี เหมาะกับการใช้งานของครอบครัว โดยช่วงล่างหน้า เป็นแบบ แมคเฟอร์สัน สตรัท ด้านหลัง มัลติลิงค์ ดิสค์เบรก 4 ล้อ ล้อและยางขนาด 225/55 R19
การขับขี่ด้วยระบบไฟฟ้าอย่างเดียว เครื่องยนต์ไม่เกี่ยว ได้ระยะทางสูงสุด 45 กม. ขึ้นอยู่กับความเร็ว สภาพเส้นทาง และสภาพจราจร และไฟฟ้าอย่างเดียวทำความเร็วสูงสุดได้ 135 กม./ชม. ซึ่งถือว่าสูงมากทีเดียว ส่วนความเร็วสูงสุดของระบบไฮบริดอยู่ที่ 170 กม./ชม. อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใช้เวลา 10.5 วินาที ซึ่งก็อาจจะดูไม่เร็วนัก แต่หากเทียบกับการเป็นเอสยูวีขนาดค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักพอตัว ก็ถือว่าน่าพอใจ และในการขี่จริง ก็ไม่ค่อยมีใครใช้อัตราเร่งช่วงนี้มากนัก แต่จะใช้การเร่งแซงเป็นหลัก ซึ่งก็อยู่ในเวลาที่ดี เช่น จาก 40 กม./ชม.ไป 60 กม./ชม.ใช้เวลา 2.5 วินาที หรือ จาก 80ไป 100 ก็ใช้เวลา 3.7 วินาที
ส่วนอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 46 กรัม/กม.
เอาท์แลนเดอร์ มีขนาดตัวถังยาว 4,695 มม. กว้าง 1,800 มม.สูง 1,710 มม. หากจะเทียบกับรถเอสยูวีในบ้านเรา ก็ยาวกว่ามาสด้าซีเอ็กซ์-5 อยู่ 145 มม. แต่แคบกว่า 40 มม. และหากเทียบกับ พีพีวี ค่ายเดียวกันอย่างปาเจโร สปอร์ต เอาท์แลนเดอร์สั้นกว่า 90 มม. แคบกว่า 15 มม. ถือว่ามีขนาดที่กำลังน่าใช้งาน ได้ทั้งใช้ส่วนตัว หรือว่าใช้สำหรับครอบครัว ใช้เดินทางในชีวิตประจำวันหรือท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ ส่วนน้ำหนักรถอยู่ระหว่าง 1,880-1,900 กก. สามารถฉุดลากได้ 1,500 กก.
ความกว้างขวางของห้องโดยสารทำให้นั่งได้สบายทั้ง 5 ตำแหน่ง โปร่่งโล่ง ผู้โดยสารตอนหลังมีพื้นที่วางเท้าเหลือเพียบ ต้องใช้คำนี้ แม้ว่าคนนั่งด้านหน้าจะถอยหลังมาพอควรก็ตาม ส่วนตำแหน่งผู้ขับขี่ ทัศนวิสัยรอบคันดี รวมถึงด้านหลัง ที่กระจกค่อนข้างใหญ่
ส่วนภายในรถมีลูกเล่นหลายอย่าง รวมถึงระบบกล้อง 360 องศา จอแสดงข้อมูลทั้งมอนิเตอร์ตรงกลาง และบริเวณมาตรวัดหลังพวงมาลัย แจ้งสถานะการทำงานของระบบ แจ้งระดับแบตเตอรี เป็นต้น
เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี เป็นเอสยูวีของครอบครัวที่เดินทางสบายตัว และสบายกระเป๋า หากสามารถขับขี่ได้เท่าหรือใกล้เคียงสเปครถที่ระบุจากโรงงานว่า อัตราสิ้นเปลืองอยู่ที่ 50 กม./ลิตร
ตอนนี้ก็รออย่างเดียวว่า การเปิดตัวในไทยครั้งนี้ สเปคจะเป็นอย่างไร และมิตซูบิชิ วางราคาไว้ดึงดูดใจแค่ไหน