'ฮอนด้า - นิสสัน' แถลงควบรวมกิจการ คาดจบดีลกลางปี '68 ดีเดย์บริษัทใหม่ปี '69
อย่างเป็นทางการ! "ฮอนด้า - นิสสัน" ออกแถลงการณ์ร่วมยืนยันการเซ็นเอ็มโอยูเริ่มเจรจา "ควบรวมกิจการ" วันนี้ ตั้งเป้าบรรลุดีลจบภายใน มิ.ย.2568 ก่อนตั้งบริษัทโฮลดิ้งใหม่ ส.ค.2569 ในฐานะค่ายรถใหญ่สุดอันดับ 3 ของโลก
สำนักข่าวรอยเตอร์ส และบลูมเบิร์ก รายงานว่า "บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์" (Honda) และ "บริษัท นิสสัน มอเตอร์" (Nissan) ได้เปิดแถลงข่าวร่วมกันเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.67 ว่า ทั้งสองบริษัทตกลงจะพิจารณาการควบรวมกิจการ และจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งร่วมกัน ซึ่งจะทำให้บริษัทกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกในแง่ยอดขาย และส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์โลกที่อยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่
ฮอนด้า และนิสสัน ซึ่งลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างกันเพื่อเริ่มการเจรจาควบรวมกิจการกันอย่างเป็นทางการ ตั้งเป้าหมายจะสรุปการเจรจาควบรวมกิจการกันให้ได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2568 จากนั้นจึงจะจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งภายในเดือนสิงหาคม 2569 และนำหุ้นบริษัทใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ ฝั่งฮอนด้าจะได้สัดส่วนการแต่งตั้งกรรมการส่วนใหญ่ของบริษัทโฮลดิ้งแห่งใหม่นี้
นายโทชิฮิโระ มิเบะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของฮอนด้า มอเตอร์ กล่าวว่า การผสานประโยชน์จากบริษัทที่รวมกันแล้วคาดว่าจะส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านล้านเยน และเพิ่มขึ้นไปแตะ 3 ล้านล้านเยนในที่สุด
“ทั้งสองบริษัทจะยังคงเป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทโฮลดิ้งร่วม โดยยังคงใช้แบรนด์ของตนต่อไป” ซีอีโอของฮอนด้า กล่าว โดยบริษัทโฮลดิ้งจะรวมแบรนด์ของทั้งฮอนด้า และนิสสัน และรวมบริษัทลูกที่ผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ของฮอนด้าด้วย
ทั้งสองบริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายรวมกัน 30 ล้านล้านเยน (ราว 6.5 ล้านล้านบาท) และกำไรจากการดำเนินงานมากกว่า 3 ล้านล้านเยน (ราว 6.5 แสนล้านบาท) ผ่านการควบรวมกิจการที่อาจเกิดขึ้นในครั้งนี้
ทางด้านบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ป (Mitsubishi) ซึ่งมีนิสสันถือหุ้นอยู่ 24.5% ได้ร่วมลงนามในเอ็มโอยูด้วย ซึ่งคาดว่าจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการควบรวมกิจการครั้งนี้ โดยจะมีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายภายในสิ้นเดือนมกราคม 2568
ด้านนายมาโกโตะ อุชิดะ ซีอีโอของนิสสัน กล่าวว่า "การเป็นพันธมิตรกับฮอนด้าไม่ใช่สัญญาณว่า นิสสันกำลังยอมแพ้ต่อแผนการพลิกฟื้นบริษัท"
ทั้งนี้สำหรับนิสสันแล้ว การควบรวมกิจการกับฮอนด้าอาจช่วยบรรเทาปัญหาได้มาก หลังจากยอดขายในสหรัฐ และจีนที่ลดลงอย่างมาก ทำให้รายได้ลดลงอย่างหนัก จนทำให้นิสสันต้องเลิกจ้างพนักงานทั่วโลกมากกว่า 9,000 อัตรา ลดกำลังการผลิต และลดประมาณการกำไรประจำปีลง 70%
นอกจากนี้ ทางฝั่งฮอนด้าจะมีการซื้อหุ้นคืนสูงถึง 1.1 ล้านล้านเยน (ราว 2.4 แสนล้านบาท) เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2568 ต่อเนื่องไปจนถึงเกือบตลอดปี 2569 โดยบริษัทตั้งเป้าหมายจะรับซื้อหุ้นคืนให้ได้ถึง 1.1 พันล้านหุ้น หรือเกือบ 24% ของหุ้นทั้งหมดโดยไม่รวมหุ้นกู้
ปัจจุบัน ฮอนด้าซึ่งเป็นค่ายรถยนต์ใหญ่สุดอันดับสองในญี่ปุ่นรองจากโตโยต้า มีมูลค่าตามราคาตลาดมากกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ในขณะที่นิสสันซึ่งอยู่อันดับสาม มีมูลค่าตามราคาตลาดอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์
ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน มีรายงานข่าวว่าประธานของบริษัท ฮอนด้า นิสสัน และมิตซูบิชิ ได้เดินทางเข้า และออกจากกระทรวงคมนาคม ของญี่ปุ่น เมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ ซึ่งเป็นที่คาดว่าอาจเป็นการเข้ามาแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับแผนการที่จะเริ่มการเจรจาควบรวมกิจการอย่างเป็นทางการ
ขึ้นสู่บริษัทรถยนต์อันดับ 3 ของโลก
การควบรวมครั้งนี้จะสร้างกลุ่มยานยนต์ใหม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลกในแง่ยอดขายขึ้นมา รองจากเบอร์หนึ่งบริษัทร่วมชาติอย่าง "โตโยต้า มอเตอร์" และบริษัทรถยนต์ใหญ่สุดเบอร์สองจากเยอรมนี "โฟล์คสวาเกน" ท่ามกลางสถานการณ์ที่บริษัทรถยนต์ดั้งเดิมต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นจากการแข่งขันของรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทั้งจากบริษัท "เทสลา มอเตอร์" จากสหรัฐ และบรรดาคู่แข่งจากจีน
การผนึกกำลังกันของค่ายรถสัญชาติญี่ปุ่นในครั้งนี้ยังนับเป็นการพลิกโฉมครั้งใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมรถยนต์โลก นับตั้งแต่มีการควบรวมกิจการกันระหว่างบริษัท เฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิลส์ และพีเอสเอ กันในปี 2564 และเกิดเป็นบริษัท "สเตลแลนทิส" (Stellantis) ที่มีมูลค่า 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ขึ้นมาในสหรัฐ
บริษัทรถยนต์แห่งใหม่จากการรวมตัวกันของสามค่ายรถญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะทำให้เกิดขั้วพันธมิตรรถยนต์ขนาดใหญ่มากพอที่สู้กับขั้วของโตโยต้า สำหรับการแข่งขันในบ้านที่ญี่ปุ่นได้ และช่วยเรื่องการแข่งขันในต่างประเทศกับค่ายรถยนต์จีน โดยขั้วพันธมิตรฝั่งโตโยต้านั้นยังประกอบด้วยบริษัทซูบารุ คอร์ป ซูซูกิ มอเตอร์ และมาสด้า มอเตอร์ คอร์ป
ส่วนในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น ความนิยมที่พุ่งสูงขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศทำให้แบรนด์ต่างประเทศต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด และบริษัทรถญี่ปุ่นในจีนก็ต้องเผชิญกับปัญหาสต๊อกล้นจนทั้งฮอนด้า และนิสสันต่างต้องลดจำนวนพนักงาน และลดกำลังการผลิตลง ขณะที่มิตซูบิชิแทบจะต้องถอนตัวออกจากจีนทั้งหมด
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์