อุบัติเหตุจราจร เป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมากในแต่ละปี แต่แม้ว่าอุบัติเหตุจะเป็นสิ่งที่เกิดโดยไม่มีใครคาดคิด แต่ก็สามารถป้องกันได้ หากมีการจัดการที่ดีพอ
ช่วงนี้ เชื่อว่ากระแสที่ผู้คนสนใจมากที่สุด คงหนีไม่พ้น เรื่องของ โควิด-19 ที่กระจายไปทั่วประเทศ และมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงกว่าการระบาดระลอกแรกและระลอกที่ 2 อย่างชัดเจน ทำให้เกิดความวิตกกังวลกันไม่น้อย
และที่มาพร้อมความวิตกกังวล คือ ข่าวสาร ข้อมูล ที่บางส่วนก็ไม่ใช่เรื่องจริง ยิ่งฉุดให้สถานการณ์ดูแย่ลงกว่าเดิม ดังนั้นจึงต้องกรองกันให้ดีเสียก่อน
และในภาวะที่ประเทศเดือดร้อน เราก็จะได้เห็นความเคลื่อนไหวทั้ง 2 ด้าน คือ การช่วยเหลือ และซ้ำเติม ซึ่งก็ต้องตัดสินใจกันว่าจะเลือกอยู่ฝ่ายไหน แต่ว่าสถานการณ์แบบนี้ การช่วยเหลือกัน ให้กำลังใจกัน เป็นสิ่งที่ดีที่สุด และหากไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ ขอแค่ให้ความร่วมมือก็เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ให้ความร่วมมือทั้งไม่เดินทางไปในสถานที่เสี่ยง หรือ มีกิจกรรมที่เสี่ยง ส่วนคนที่เสี่ยงไปแล้ว ก็ให้ความร่วมมือทั้งการแจงไทม์ไลน์ที่ละเอียด และปฏิบัติตนด้วยความระแวดระวัง ไม่ให้ไปแพร่กระจายสู่ผู้อื่น
แต่วันนี้ขอหนีประเด็น โควิด-19 ไปพูดถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นาน รวมถึงเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทางในช่วงเทศกาลดังกล่าว
แม้ว่าปีนี้จะถูกกระแสของโควิด-19 กลบ เสียเแทบมิด แต่ก็ยังถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพูดถึงกันเพราะยังมีการสูญเสียจำนวนมาก ทั้งชีวิต และทรัพย์สิน
โดยข้อมูลของ "ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน" ระบุว่า ช่วงระหว่างวันที่ 10-16 เม.ย. มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น รวม 2,365 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 2,357 คน และมีผู้เสียชีวิต 277 ราย
86% ของยานพาหหนะที่เกิดอุบัติเหตุเป็นรถจักรยานยนต์ ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจ เพราะดูเหมือนจะเป็นเช่นนี้ในทุกเทศกาล
และที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ จากการตั้งจุดตรวจผู้ขับขี่ ทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ พบว่ามีผู้ที่ไม่มีใบขับขี่ถึง 1.56 หมื่นราย นี่เฉพาะที่ตรวจสอบเจอ
เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า ผู้คนในบ้านเรา กล้าที่จะออกสู่ท้องถนน โดยที่ไม่มีใบขับขี่ ซึ่งก็ชวนให้คิดตามได้หลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ผู้ที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกับผู้อื่น ไม่ได้ผ่านการเรียน การฝึก การสอบ นั่นหมายความว่า หลายๆ คน ไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของกฎ กติกา และทักษะที่ถูกต้อง เป็นการขับขี่รถอย่างเข้าใจเอาเอง หรือบอกต่อๆ กันมาเท่านั้น
เป็นไปได้ว่านี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สังคมจราจรบ้านเรายุ่งเหยิงอย่างเช่นทุกวันนี้
และหากมองเฉพาะรถจักรยานยนต์ ก่อนหน้านี้มีอีกข้อมูลที่น่าสนใจ และสอดคล้องกัน นั่นคือ ข้อมูลที่รถผู้ทำตลาดรถจักรยานยนต์ ฮอนด้าและยามาฮ่า ร่วมกับศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ภายใต้สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย วิจัย “โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” จาก 1,000 กรณีศึกษา พบว่าในจำนวนเหตุทั้งหมดนี้ มี 41% ที่ผู้ขับขี่ไม่มีใบขับขี่
และผลวิจัยเชิงลึกด้านทักษะการควบคุมรถ ระบุชัดเจนว่า 48% เป็นการชนที่ผู้ขับขี่ไม่ได้หลบหรือเพื่อหลีกเลี่ยงการชนแต่อย่างใด และผู้ขับขี่ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพปกติไม่ได้ง่วงหรือเมาสุรา และขับขี่ด้วยความเร็วปกติ ระหว่าง 20-60 กม./ชม. และยังพบว่ามีหลายกรณีที่ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด และยังตัดสินใจผิดพลาดอีกด้วย
นั่นเป็นข้อมูลส่วนหนึ่ง แต่ก็เป็นข้อมูลที่ดี ท่ี่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำไปวิเคราะห์ หาทางแกไข
และต้องเป็นการแก้ไขในทุกๆ วัน ไม่ใช่เฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น