'เกีย คาร์นิวัล' รถครอบครัวตัวแรง ประหยัดน่าพอใจ
แม้เกีย จะเป็นค่ายเล็กๆ มียอดขายไม่มากนักแต่การเป็นรถที่ไม่มีคู่แข่งตรงๆ สักเท่าไร สำหรับเกีย คาร์นิวัล ทำให้มันมียอดขายในแต่ละปีที่น่าพอใจ
หากใครต้องการมองหารถสำหรับครอบครัวมาใช้งานสักคัน ผมว่า “เกีย คาร์นิวัล” เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ
ปัจจุบันรถนกลุ่มครอบครัวมีให้เลือกหลายยี่ห้อหลายรุ่น แตกต่างกันไปทั้งรูปแบบรถ และราคา และเมื่อไล่เรียงดูความนิยมของตลาด ก็เช่น ฮุนได เอช 1 หรือว่า โตโยต้า อัลฟาร์ด
เอช 1 นั้น ได้เรื่องอรรถประโยชน์ใช้สอย และราคาที่น่าสนใจ แต่รูปทรงออกไปในแนวรถตู้ที่หลายคนอาจจะไม่ชอบนัก ขณะที่อัลฟาร์ด เป็นรถเอ็มพีวีชัดเจน แต่ราคาก็อยู่ในกลุ่มบนชัดเจน
ขณะที่ คาร์นิวัล ก็เป็นรถในรูปแบบเอ็มพีวี และมีราคาอยู่ในระดับ 2 ล้านต้นๆ ถึง 2 ล้านกลางๆ
และสำหรับรุ่นใหม่ ที่เปิดตัวช่วงปลายปีที่แล้ว โดยผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ บริษัท ยนตรกิจ เกีย มอเตอร์ จำกัด มี 2 รุ่นย่อย คือ อีเอ็กซ์ ราคา 2.144 ล้านบาท และ เอสเอ็กซ์แอล 2.459 ล้านบาท
ผมไปลองขับมา และบอกได้ว่า น่าสนใจ
คาร์นิวัล เป็นรถ 11 ที่นั่ง แต่ถ้าใช้งานจริงๆ คงต้องพับเบาะแถวที่ 4 ลงไป เพื่อเพิ่มพื้นที่บรรทุกสัมภาระ และจะว่ากันจริงๆ แล้ว ไม่เหมาะกับการนั่งเท่าไร เพราะพื้นที่เหลือน้อย ยกเว้นเป็นเด็กเล็กๆ
ส่วนเบาะนั่งตำแหน่งอื่นๆ ที่เหลือ ก็นั่งได้สบาย โดยเฉพาะคู่หน้า และแถวที่ 2 และแน่นอนจุดเด่นในเรื่องการใช้งานที่สะดวกสบาย คือ ประตูสไลด์ทั้ง 2 ด้าน ซ้าย-ขวา ปิด-เปิด ด้วยไฟฟ้า เปิดได้ไม่เกะกะ และกว้างขวาง ช่วยให้ขึ้นลงได้ง่าย รมถึงผู้ที่จะเข้าไปยังเบาะแถวที่ 3 แถวที่ 4 ก็ง่ายขึ้นด้วย
แต่ว่าครั้งนี้ผมลองขับลองใช้งานคนเดียว เอาไว้คราวหน้าจะลองเชิญชวนหลายๆ มาลองนั่งพร้อมๆ กัน ดูว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง
วันนี้มาดูเรื่องการขับขี่เป็นหลักก่อนครับ ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมา คาร์นิวัล ได้ชื่อว่าเป็นรถที่ขับดีคันหนึ่ง แม้จะดูว่าเป็นรถเอ็มพีวี และมีขนาดตัวถังที่ใหญ่โต แต่กลับเป็นรถที่มีความคล่องตัวคันหนึ่งเช่นกัน
คาร์นิวัล มีความยาว 5,115 มม. กว้าง 1,995 มม. สูง 1,740 มม. (ไม่รวมแร็คหลังคา) ซึ่งเป็นขนาดตัวถังที่ใหญ่กว่าโฉมที่แล้ว โดยความยาวเพิ่มขึ้น 40 มม. ความกว้างเพิ่มขึ้น 10 มม. แต่ความสูงเท่าเดิม และความสูงจากพื้นถึงตัวรถลดลง 28 มม. ซึ่งก็ช่วยให้รูปทรงโดยรวมของรถดูสปอร์ตมากขึ้น
ส่วนความยาวฐานล้อ 3,090 มม. เพิ่มขึ้น 30 มม. แน่นอน มีผลต่อพื้นที่ในห้องโดยสารที่เพิ่มขึ้น ส่วนความกว้างช่วงล้อด้านหน้า 935 มม. ลดลง 20 มม. และด้านหลัง 1,130 มม. เพื่มขึ้น 30 มม.
เครื่องยนต์เทอร์โบ ดีเซล 4 สูบ แถวเรียง ขนาด 2.2 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 202 แรงม้า ที่ 3,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 442 นิวตันเมตร ที่ 1,750-2,750 รอบ/นาที เป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ และเสื้อสูบเปลี่ยมาใช้อลูมิเนียมจากเดิมที่เป็นเหล็ก ช่วยให้น้ำหนักเบาลง 20 กก.
เป็นเครื่องยนต์ที่ตอบสนองดี การออกตัวสำหรับคันใหญ่คันนี้ กระฉับกระเฉงกว่าที่คิด เช่นเดียวกับอัตราเร่งก็มาเร็วทันอกทันใจเกินคาดอยู่เหมือนกัน ดังนั้นเรื่องของการเร่งแซง หรือการเพิ่มความเร็วทำได้รวดเร็ว เพิ่มความคล่องตัวในการขับขี่ แถมยังทำให้ขับได้สนุกอีกด้วย
เส้นทางที่ผมลอง ก็หลากหลาย เริ่มจากเทียมร่วมมิตร ไปขึ้ทางด่วนรามอินทรา ออกไปยังกาญจนาภิเศกฝั่งตะวันออก มาเข้าพหลโยธินไปอยุธยา ก่อนตัดเข้าสายเอเชีย และถนนสายรองที่มุ่งหน้าสุพรรณบุรี ก่อนย้อนกลับมาสายเอเชีย เข้าหมายเลข 9 วิภาวดี ทางด่วนดอนเมืองโทลเวย์ ลงรัชดา กลับมาท่ี่เทียมร่วมมิตรเช่นเดิม
ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นเส้นทางที่มีความหลากหลาย รูปแบบการขับขี่ก็หลากหลาย รวมถึงถนน 2 เลนสวนทางที่ต้องใช้จังหวะเร่งแซงอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งต้องชมการตอบสนองของเครื่องยนต์ที่ทำหน้าที่ได้ดี
ตลอดเส้นทางเป็นการขับขี่ที่ไม่ปราณีกับคันเร่ง ใช้งานหนักบ่อยครั้ง ความเร็วพอควร แต่อัตราสิ้นเปลืองได้มากกว่า 13 กม./ลิตร สำหรับผมถือว่าพอใจ
และจุดเด่นอีกอย่างก็คือ ช่วงล่าง การยึดเกาะถนนทำได้ดี จนกล้าที่จะ่ใช้ความเร็วบ่อยครั้ง เปลี่ยนช่องทางจราจรบ่อยครั้ง แม้จะมีพื้นผิวถนนที่หลากหลาย ก็ตาม
และที่แถมมาคือ การดูดซับแรงสั่นสะเทือนที่ทำได้ดีเช่นกัน ผิวถนนขรุขระ รอยต่อ หรือคอสะพาน คาร์นิวัล เก็บรายละเอียดได้ดี
โดยรวมแล้ว ต้องบอกว่า ดีกว่าที่คิด ขับแล้วชอบครับ แต่อย่างที่บอกว่าเป็นการใช้งานเพียงคนเดียว ต้องรอดูอีกครั้งว่าเมื่อบรรทุกผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ความคล่องตัว การตอบสนองของเครื่องยนต์ หรือว่าความประหยัดจะยังคงทำได้ดีอยู่หรือไม่
เอาไว้ลองแล้ว จะมาเล่าสู่กันฟังอีกรอบครับ