ซูซูกิ ส่ง แคร์รี ตรวจเชื้อโควิด วันละ 3,000 คน/คัน
ซูซูกิ ส่งมอบรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย (Biosafety Mobile Unit) ที่พัฒนาจาก แคร์รี ให้หน่วยงานทางการแพทย์ โดยรถรุ่นใหม่ ยกระดับจากรุ่นเดิม โดยสามารถตรวจเชื้อได้มากขึ้น ครั้งละ 3 คน
ก่อนหน้านี้ ซูซูกิ ดัดแปลงรถ แคร์รี เป็นรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย (Biosafety Mobile Unit) สำหรับการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ในเชิงรุกแบบเคลื่อนที่ จัดแสดงในงานบางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ ที่ผ่านมา ก่อนเริ่มนำออกให้บริการจริงเพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์
ล่าสุดซูซูกิ ส่งมอบรถที่สามารถ SWAB ได้พร้อมกัน 3 ทาง ทำให้สามารถเก็บตัวอย่างได้ 3 เคส ในครั้งเดียว รองรับการตรวจคัดกรองโควิด-19 ได้มากกว่า 3,000 ราย/วัน ซึ่งดำเนินงานโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร และ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน (หมอแล็บแพนด้า)
สำหรับแคร์รี เป็นปิกอัพขนาดเล็กที่ทำตลาดในไทยมานาน และที่สร้างชื่อได้มากคือ การเป็น “ฟู้ดทรุค” ออกแบบให้เป็นรถสำหรับการดำเนินธุรกิจ จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม สำหรับลูกค้ากลุ่มที่ต้องการมีธุรกิจของตัวเอง แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซูซูกิ เห็นว่าน่าจะสามารถดัดแปลงเป็นรถเพื่อช่วยงานหน่วยงานต่างๆ ได้
สำหรับรถเก็บตัวอย่างชีวินิรภัย ขณะนี้ปูพรมตรวจโควิดแล้ว 21 คัน
และคันล่าสุดนี้ ออกแบบพื้นที่กระบะบรรทุก ขนาดกว้าง 1,670 มิลลิเมตร ยาว 2,450 มิลลิเมตร และรับน้ำหนักได้ 945 กิโลกรัม ให้เป็น “ตู้ชีวนิรภัย” (Biosafety Unit) เหมือนห้องปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฯ ซึ่งบรรจุได้ 3 ห้อง สามารถ SWAB ได้ 3 คนในครั้งเดียว ต่อยอดจากรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยต้นแบบคันแรกที่ SWAB ได้เพียงครั้งละ 1 คน
สำหรับตู้เอง ก็ออกแบบตามหลักการ Human-Centered Design grnjvลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ขณะปฏิบัติงาน โดยติดตั้งระบบปรับและกรองอากาศด้วย HEPA Filter และระบบแรงดันบวก (Positive Pressure)
วัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ในขณะนี้ นับว่ามีความรุนแรงสูง การควบคุมการแพร่ระบาดด้วยการตรวจเชิงรุกจึงเป็นแนวทางที่สำคัญ
ซึ่งหากมีรถเก็บตัวอย่างชีวินิรภัยที่มีความคล่องตัวสูง สามารถรุดหน้าไปตรวจเชิงรุกยังพื้นที่ระบาดหรือมีความเสี่ยงได้ในเวลาอันรวดเร็วมาเสริมกำลังกับบุคลากรทางการแพทย์ให้ทำงานแข่งกับเวลาได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งยังช่วยปกป้องเจ้าหน้าที่ทางการแพทพย์ไม่ให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ก็จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ และสามารถควบคุมการระบาดได้ในที่สุด
และในอนาคต ซูซูกิ มีแผนที่จะผลิตรถพิเศษนี้เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป