ส่องนโยบาย '3-3-3' ของว่าที่รมว.คลังสหรัฐ 'ลดขาดดุล-ลุยน้ำมัน-ดันจีดีพี'

ส่องนโยบาย '3-3-3' ของว่าที่รมว.คลังสหรัฐ 'ลดขาดดุล-ลุยน้ำมัน-ดันจีดีพี'

‘สก็อตต์ เบสเซนต์’ ว่าที่รมว.คลัง’สหรัฐ’ คนใหม่ ชูเป้าหมาย 3-3-3 ฟื้นเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์มองเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุด คาดช่วยลดความเข้มข้นของนโยบายภาษี ‘ทรัมป์’ สุดโต่ง และคุมการใช้จ่ายภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานความเคลื่อนไหวตลาดเงินของสหรัฐหลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เลือก “สก็อตต์ เบสเซนต์” ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ทำให้ตลาดคลายความกังวลว่าวเบสเซนต์อาจช่วยลดความรุนแรงของอัตราภาษีศุลกากรได้ สกุลเงินทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น

นักวิเคราะห์มองว่าเบสเซนต์ ผู้ก่อตั้งกองทุน Key Square Group เป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างปลอดภัยและเป็นนักลงทุนที่มีประสบการณ์และเป็นที่รู้จักในวงการ โดยมุมมองทางเศรษฐกิจของเขามักเน้นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายที่เหมาะสม และคาดหวังว่าเบสเซนต์จะผลักดันให้ทรัมป์พิจารณาใช้มาตรการภาษีที่ผ่อนปรนมากขึ้น ลดกฎระเบียบเพื่อกระตุ้นการเติบโต และตั้งเป้าลดการใช้จ่ายเกินดุล

เป้าหมายเศรษฐกิจ '3-3-3'

เบสเซนต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเสี่ยงมหภาค มีส่วนเกี่ยวข้องกับแนวคิดในการ "ลดการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐ" ให้เหลือเพียง 3% ของ GDP ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการที่จะควบคุมการใช้จ่ายภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เบสเซนต์ เป็นอดีตผู้ร่วมงานของจอร์จ โซรอส ได้เสนอเป้าหมายที่เรียกว่า '3-3-3' คือ

  1. มุ่งลดการขาดดุลงบประมาณให้เหลือ 3% ภายในปี 2571
  2. การกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ขยายตัว 3%
  3. เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบใหม่ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

ซูซานนาห์ สตรีเตอร์ หัวหน้าฝ่ายเงินและตลาดจาก Hargreaves Lansdown ระบุว่าประวัติการทำงานของเบสเซนต์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการปรับตัวและตลาดที่ผันผวน จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นเกี่ยวกับนโยบายที่เอื้อต่อภาคธุรกิจที่กำลังจะออกมาและทำให้มีความหวังว่าภาษีศุลกากรใดๆ ก็ตามจะมีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงและอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเงินเฟ้อน้อยลง

งัดข้อนโยบายภาษี ‘ทรัมป์’

ชัยชนะของทรัมป์ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับให้กับตลาดการเงิน นักยุทธศาสตร์จำเป็นต้องประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ โดยให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์แนวโน้มของผลตอบแทนพันธบัตรและการเคลื่อนไหวของสกุลเงินต่างประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในตลาดการเงินโลก

นโยบายทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการลดหย่อนภาษีและปรับโครงสร้างภาษีศุลกากรของทรัมป์อาจช่วยกระตุ้นการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ก็มีความเสี่ยงต่อการขาดดุลงบประมาณและการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในระยะยาว นักเศรษฐศาสตร์จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั้งในมิติเศรษฐกิจและการเงิน

ทรัมป์ได้เสนอว่าเขาสามารถจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทั้งหมดที่นำเข้ามายังสหรัฐในอัตรา 20% โดยจัดเก็บภาษีสูงถึง 60% สำหรับสินค้าจากจีนและสูงถึง 2,000% สำหรับรถยนต์ที่ผลิตในเม็กซิโก

นักเศรษฐศาสตร์ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับประสิทธิภาพของภาษีศุลกากร โดยเบสเซนต์ได้แสดงทัศนะว่าภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์สำหรับการดำเนินนโยบายต่างประเทศ พร้อมเสนอแนวทางการปรับใช้อย่างระมัดระวังด้วยการเพิ่มภาษีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งสะท้องให้เห็นถึงความพยายามในการใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจอย่างมีเหตุผลและคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

นักวิเคราะห์จาก Rabobank ได้แสดงความคิดเห็นในบันทึกการวิจัยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนแนวทางทางเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าการพิจารณาเบสเซนต์ เป็นตัวเลือกสำหรับตำแหน่งสำคัญอาจส่งผลให้นโยบายทางเศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นและลดความรุนแรงของทรัมป์ลงบ้าง 

การมาของ ‘เบสเซนต์’ หนุนค่าเงิน ‘เอเชีย’

สก็อต สปรัตต์ นักกลยุทธ์จาก Societe Generale ระบุในรายงานว่า การที่ตลาดมองว่าเบสเซนต์เป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างปลอดภัยนั้น ทำให้ราคาพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในวันจันทร์ เนื่องจากตลาดได้สะท้อนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของเบสเซนต์ไปแล้ว

นอกจากนี้ สปรัตต์ยังตั้งข้อสังเกตว่า มุมมองของเบสเซนต์ที่สนับสนุนการใช้ภาษีศุลกากรแบบขั้นบันได และอัตราภาษีเริ่มต้นที่สูงขึ้นนั้น อาจส่งผลให้ค่าเงินของประเทศในเอเชีย รวมถึงเงินหยวนของจีนแข็งค่าขึ้นได้

ขณะที่อีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลากลับผิดหวังกับการเสนอชื่อเบสเซนท์ให้ดำรงตำแหน่งนี้ และกล่าวถึงเบสเซนท์ว่าเป็น “ทางเลือกแบบเดิม” และเสริมว่า “การดำเนินกิจการแบบเดิมกำลังทำให้สหรัฐล้มละลาย”

อย่างไรก็ตาม เบสเซนท์ยังสนับสนุนให้ทรัมป์หันมาให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซีด้วย ซึ่งหมายความว่าในไม่ช้านี้ เขาอาจกลายเป็นผู้นำกระทรวงการคลังคนแรกที่สนับสนุนสินทรัพย์คริปโทอย่างเปิดเผย ซึ่งก่อนหน้านี้ทรัมป์เคยให้คำมั่นไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะทำให้สหรัฐเป็น “เมืองหลวงของคริปโท”

อ้างอิง CNBC