‘มาเลเซีย’ มั่นใจเศรษฐกิจปี 68 โตเกิน 5%  พร้อมรับมือโลกผันผวนในยุค 'ทรัมป์'

‘มาเลเซีย’ มั่นใจเศรษฐกิจปี 68 โตเกิน 5%  พร้อมรับมือโลกผันผวนในยุค 'ทรัมป์'

รมว.คลัง ‘มาเลเซีย’ มั่นใจเศรษฐกิจปี 68 โตเกิน 5% รับอานิสงส์การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ พร้อมรับมือเศรษฐกิจโลกผันผวนท่ามกลางสงครามการค้าในยุค ‘ทรัมป์’

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างถึง "อามีร์ ฮัมซาห์ อาซิซาน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนที่ 2 ของ "มาเลเซีย" ที่กล่าวว่า เศรษฐกิจมาเลเซียยังคงแข็งแกร่ง และมีแนวโน้มเติบโตเกิน 5% ในปี 2568 โดยได้รับแรงหนุนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่แข็งแกร่ง และนโยบายการเงินภายในประเทศที่ทำให้เศรษฐกิจของมาเลเซียสามารถต้านทานต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

อามีร์ มองว่าเศรษฐกิจของมาเลเซียอยู่ในทิศทางที่ดี ซึ่งรัฐบาลมีแนวโน้มจะทำผลงานได้ดีกว่าเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณปีที่แล้วที่ 4.3%  ของ GDP นอกจากนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะปรับลดช่องว่างของการขาดดุลงบประมาณที่ 3.8% ของ GDP

"การลงทุนจากต่างประเทศที่แข็งแกร่ง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย ทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความแข็งแกร่ง และเชื่อมั่นว่าปีนี้จะเป็นปีที่ดี"

การฟื้นฟูสุขภาพทางการเงินของมาเลเซียถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประเทศรักษาอันดับเครดิตสูงสุดในอาเซียนที่กำลังพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่า GDP ของมาเลเซียจะขยายตัวสูงถึง 4.5% ถึง 5.5% ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 4.7% 

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 

การปรับเงินเดือนข้าราชการ และแผนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในภาคเอกชน จะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

นอกจากนี้ บทบาทสำคัญของบริษัทการลงทุนที่รัฐบาลเกี่ยวข้อง (GLIC) ซึ่งมีสินทรัพย์รวมมูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านริงกิต โดย GLIC ได้เพิ่มการลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 120 พันล้านริงกิตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การตัดสินใจลงทุนของ GLIC นี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

รวมไปถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนค่าเงินริงกิต

ในปี 2567 เงินสกุลริงกิตของมาเลเซียได้แสดงผลการดำเนินงานที่ดีที่สุดในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยแข็งค่าขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดการอ่อนค่าลงติดต่อกันถึง 3 ปี

ขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการอยู่ในระดับที่เหมาะสม การส่งออกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลมีกลไกการรองรับที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัจจัยภายนอก 

อาเมียร์ แสดงความมั่นใจว่า เศรษฐกิจของประเทศที่มีความหลากหลายจะสามารถต้านทานต่อภัยคุกคามจากภาษีศุลกากร และสงครามการค้าของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ซึ่งส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ของประเทศกำลังพัฒนา

"แม้ว่าตลาดโลกจะมีความผันผวน แต่ในปัจจุบัน ผมคิดว่าเรามีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรับมือได้"

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์