โชว์ความเก๋าให้เหนือกว่า! เปิด 3 วิธีรับมือเมื่อโดนเหยียดอายุในที่ทำงาน

โชว์ความเก๋าให้เหนือกว่า! เปิด 3 วิธีรับมือเมื่อโดนเหยียดอายุในที่ทำงาน

ความเก๋าเหนือกว่าความแก่! เปิด 3 วิธีรับมือเมื่อโดน 'เหยียดอายุ' (Ageism) ในที่ทำงาน หรือถูกเลือกปฏิบัติจากเรื่องอายุอย่างไม่เท่าเทียม

KEY

POINTS

  • พนักงาน 99% ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีเชื่อว่า องค์กรของตนมีการแบ่งแยกและเหยียดอายุในระดับหนึ่ง นอกจากนี้พวกเขาส่วนใหญ่ (86%) ยังมองว่า วัยทำงานที่มีอายุมากกว่ามักตกเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้ง 
  • วัฒนธรรมองค์กรดั้งเดิมมักส่งเสริมพนักงานชายให้เติบโตก้าวหน้าเร็วกว่าพนักงานหญิง ทั้งที่จริงๆ แล้ว เป้าหมายของสถานที่ทำงานควรสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนพนักงานทุกเพศทุกวัย
  • หากมีคนบอกว่าคุณยังไม่พร้อมที่จะได้โปรโมท หรือไม่มีศักยภาพมากพอ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ถามคนนั้นกลับไปว่า “อะไรทำให้คิดแบบนั้นล่ะ?” คำถามเชิงลึกง่ายๆ นี้ ทำให้อีกฝ่ายหยุดคิดตามข้อเท็จจริง และช่วยเปิดเผยอคติของบางคนได้

เมื่อโลกการทำงานกำลังผลัดเปลี่ยนรุ่น คนรุ่นใหม่ชาว Gen Y, Gen Z กำลังเข้ามาเป็นแรงงานหลักในตลาดงาน ในขณะที่คนรุ่น Baby Boomer, Gen X ก็ทยอยเกษียณอายุงานไปเรื่อยๆ โดยช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ที่คนรุ่น Gen Z ถูกปฏิเสธจากพนักงานรุ่นพี่ และหลายองค์กรก็ไม่อยากจ้างงานพวกเขา แต่รู้หรือไม่? ในทางกลับกัน วัยทำงานรุ่นใหญ่ก็ต้องเผชิญปัญหา “เหยียดอายุ (Ageism)” ในที่ทำงานเช่นกัน

คนทำงานรุ่นใหญ่จำนวนไม่น้อยในออฟฟิศ มักจะถูกหาว่า ‘ไม่พร้อมที่จะทำงาน’ หรือ ‘ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับบทบาทงานนั้นๆ เพราะอายุมากเกินไป’ รวมไปถึงการถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณสมบัติ และถูกเข้าใจผิดว่าเป็นรุ่นน้อง(ในแง่ของการไม่ได้รับความเคารพ) ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างของการเลือกปฏิบัติทางอายุหรือการเหยียดอายุทั้งนั้น

พนักงานสูงวัย 99% เชื่อว่า องค์กรของตนมีการเหยียดอายุเกิดขึ้นจริง

ตามรายงานของนิตยสารฟอร์จูน ซึ่งอ้างผลสำรวจของ MyPerfectResume ที่ได้สำรวจพนักงานชาวอเมริกัน 1,003 คนพบว่า พนักงานระดับเชี่ยวชาญกว่า 99% ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีเชื่อว่า องค์กรของตนมีการแบ่งแยกและเหยียดอายุในระดับหนึ่ง นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างดังกล่าวส่วนใหญ่เชื่อว่า อคติที่เกี่ยวข้องกับอายุเป็นปัญหา (81%) และวัยทำงานที่มีอายุมากกว่ามักตกเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้ง (86%)

ไม่เพียงเท่านั้น พนักงานสูงวัยส่วนใหญ่ 92% บอกว่ารู้สึกกดดันจนต้องปกปิดอายุ หรือลดทอนประสบการณ์การทำงานของตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการรับรู้เชิงลบในการทำงาน และ 95% ของพนักงานสูงวัยกลุ่มตัวอย่างบอกว่า อคติที่เกี่ยวข้องกับอายุส่งผลให้พวกเขารู้สึกว่าอาจไม่เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท

จัสมีน เอสคาเลรา (Jasmine Escalera) ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพการงานของ MyPerfectResume สะท้อนว่าการที่เห็นตัวเลขออกมาแบบนี้เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เธอหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลนี้จะเตือนใจให้กับองค์กรต่างๆ และผู้ที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำให้ตระหนักถึงปัญหานี้ในที่ทำงาน

ผู้หญิงอายุน้อยก็โดนเหยียดอายุ ถูกมองว่าไม่เก่งพอที่จะได้เลื่อนขั้น

ในขณะที่การวิจัยของ McKinsey & Co. และ Lean In ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานเพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิง ก็สำรวจพบว่า พนักงานผู้หญิงรุ่นใหม่ เป็นกลุ่มที่โดนเหยียดอายุในที่ทำงานมากกว่าพนักงานผู้ชายในวัยเดียวกัน

เรเชล โธมัส (Rachel Thomas) ผู้ก่อตั้งร่วมและซีอีโอของ Lean In บอกว่า “วัฒนธรรมองค์กรดั้งเดิมมักส่งเสริมพนักงานชายหนุ่มให้เติบโตก้าวหน้าทางอาชีพเร็วกว่าพนักงานหญิงสาว ทั้งที่จริงๆ แล้ว เป้าหมายของสถานที่ทำงานควรเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนพนักงานทุกเพศทุกวัย รวมถึงผู้หญิงอายุน้อยต้องสามารถเติบโตได้เท่าเทียมกับชายหนุ่ม น่าเสียดายที่การเลือกปฏิบัติทางอายุอาจเป็นอุปสรรคที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับพวกเธอหลายคน

อย่างไรก็ตาม หากคุณรู้สึกว่าตัวเองโดนเหยียดอายุ (ไม่ว่าจะวัยไหนก็ตาม) จนรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่าในการทำงาน ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ฝึกรับมือกับคนนิสัยเสียในออฟฟิศด้วย 3 วิธีเหล่านี้ 

1. ถามคำถามเชิงลึกกับคนที่มาบูลลี่เรื่องอายุ

หากมีคนบอกว่าคุณยังไม่พร้อมสำหรับการเลื่อนตำแหน่ง หรือไม่มีศักยภาพพอที่จะเป็นหัวหน้าโครงการใหญ่ๆ  โธมัส แนะนำให้ถามคนนั้นกลับไปว่า “อะไรทำให้คุณคิดแบบนั้นล่ะ?” พร้อมกับส่งยิ้มกว้างที่สุด หวานที่สุดให้คนนั้นด้วย

โธมัสบอกว่า คำถามเชิงเจาะลึกง่ายๆ เช่นนี้สามารถบังคับให้อีกฝ่ายได้หยุดคิดตามข้อเท็จจริง และช่วยเปิดเผยอคติของบางคนได้ อีกทั้งยังทำให้ตัวคุณเองได้รับความชัดเจนขึ้น ไปพร้อมกับการท้าทายความรู้คิดของคนเหล่านั้นได้อย่างแนบเนียน

อย่างไรก็ตาม การพูดจาเชิงท้าทายดังกล่าวมีโอกาสที่จะเกิดการต่อต้านหรืออาจทะเลาะกันได้ ดังนั้นคำพูดที่คุณเลือกใช้และวิธีการถ่ายทอดคำพูดเหล่านั้นจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงสาวที่มีความมั่นใจ คุณอาจปรับคำพูดใหม่ โดยตั้งคำถามจากจุดของความอยากรู้ เช่นเริ่มต้นคำถามด้วยประโยคที่ว่า “ฉันอยากเข้าใจจริงๆ เพื่อจะได้ทำได้ดีกว่านี้” หรือ “ความคิดเห็นของคุณสำคัญต่อฉันมาก ฉันจึงอยากเจาะลึกและเข้าใจมากขึ้น” เป็นต้น

2. สร้าง ‘รายการผลงานความสำเร็จ’ ของคุณเก็บไว้เสมอ

คำแนะนำถัดมาคือ ให้จัดทำรายการความสำเร็จ ทักษะ และการมีส่วนสนับสนุนในโปรเจกต์สำคัญของคุณเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นผลงานทั่วไป ผลงานใหญ่ หรืองานเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยบริษัทก็ต้องจดไว้ให้หมด เพราะข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ ไม่เพียงแต่เป็นการเตือนตัวเองถึงความสำเร็จเหล่านั้นเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์เมื่อถึงเวลา เช่น การประเมินผลการปฏิบัติงาน หรือเมื่อเจอการเหยียดอายุในแง่ของผลงานหรือผลลัพธ์การทำงาน ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยโต้แย้งได้

การแบ่งปันความสำเร็จเหล่านี้อย่างจริงจัง สามารถทำให้ผลงานของคุณเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทุกคน อย่างเช่น การส่งอีเมลสั้นๆ ไปยังทุกคนในทีม เพื่อย้ำเตือนเกี่ยวกับความสำเร็จล่าสุดของคุณ สิ่งนี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง โธมัสบอกว่า “หัวหน้ามักจะยุ่งและมีงานมากมายที่ต้องทำเสมอ ไม่มีเวลามาเช็กงานของทุกคนและทุกครั้ง ดังนั้นการย้ำเตือนข้อมูลเหล่านั้นจึงมีประสิทธิภาพมาก”

3. ค้นหาและส่งเสริมการให้คำปรึกษาที่แท้จริง

การพัฒนาความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งกับที่ปรึกษาและผู้สนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งผู้นำระดับสูง ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความก้าวหน้าในอาชีพการงาน เนื่องจากพวกเขาสามารถให้คำแนะนำ การสนับสนุน และการเข้าถึงโอกาสใหม่ๆ ได้

แทนที่จะขอให้ใครมาเป็นผู้ให้การสนับสนุนคุณโดยตรง โธมัสแนะนำให้สร้างความสัมพันธ์ที่เป็นธรรมชาติมากขึ้นและแสดงคุณค่าของคุณเมื่อเวลาผ่านไป “ผู้คนที่เลือกเป็นผู้ให้การสนับสนุนคุณและผู้คนที่คุณสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งด้วยนั้น มีแนวโน้มที่จะเปิดประตูให้กับคุณมากกว่า”

การให้คำปรึกษาและการสนับสนุนที่มีประสิทธิผลนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยการติดตามผลถือเป็นสิ่งสำคัญ ยกตัวอย่างหนึ่งในวิธีที่ดีก็คือ การแบ่งปันข้อมูลอัปเดตกับที่ปรึกษาของคุณ โดยบอกว่าคำแนะนำของพวกเขาสร้างความแตกต่างในอาชีพของคุณอย่างไร การแสดงให้พวกเขาเห็นว่าการลงทุนในตัวคุณ สร้างผลกระทบที่เป็นรูปธรรมได้จริง จะกระตุ้นให้พวกเขาให้การสนับสนุนคุณต่อไป