วัยทำงานอินเดียโดนเหยียดแรง คนส่งของถูกไล่ไม่ให้นั่งพักในที่สาธารณะ

วัยทำงานอินเดียโดนเหยียดแรง คนส่งของถูกไล่ไม่ให้นั่งพักในที่สาธารณะ

วัยทำงานอินเดียโดนเหยียดรุนแรง โดยเฉพาะคนงานชั่วคราว คนส่งของ-แม่บ้าน ถูกมองว่าเป็นคนชนชั้นล่าง โดนไล่ไม่ให้แม้แต่นั่งพักหรือขึ้นลิฟต์ตัวเดียวกับคนรวย

KEY

POINTS

  • พนักงานชั่วคราวในอินเดียต้องใช้แรงงานอย่างหนัก ค่าจ้างต่ำ เหนื่อยล้า และขาดความมั่นคง ทั้งยังต้องเผชิญกับการดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างหนัก ห้ามแม้แต่นั่งพักในที่สาธารณะ
  • ซีอีโอบริษัทขนส่งแห่งหนึ่ง ปลอมตัวเป็นพนักงานส่งของ และพบประสบการณ์โดนเหยียดหยามที่ไม่อาจรับได้ จึงเผยแพร่เรื่องนี้บนโลกออนไลน์ จุดกระแสการร้องเรียนเรื่องการเลือกปฏิบัติไปทั่วอินเดีย
  • พนักงานส่งของอยากนั่งพักที่ม้านั่งในศูนย์การค้า แต่ รปภ. มักจะขอให้พวกเขาลุกออกไปเสมอ หรือแม้แต่การไปนั่งพักในสวนสาธารณะก็ถูกห้ามเช่นกัน

รัฐบาลอินเดียคาดว่าภายในปี ค.ศ. 2030 จะมีพนักงานชั่วคราวในอินเดียเพิ่มขึ้นมากกว่า 23 ล้านคน (จากเดิม 8 ล้านคนในปี 2024) ซึ่งแรงงานเหล่านี้ต้องทำงานอย่างหนัก ค่าจ้างต่ำ เหนื่อยล้า และขาดความมั่นคง ทั้งยังมีรายงานด้วยว่า วัยทำงานกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับการโดนเหยียด ดูหมิ่น และการกีดกันการเข้าถึงสาธารณะประโยชน์ในทุก ๆ ทาง เหตุเพราะการแบ่งชนชั้นวรรณะในสังคมอินเดียยังฝังรากลึก 

ยกตัวอย่างกรณีล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ มีการแชร์เรื่องราวของไรเดอร์บริษัทแห่งหนึ่งบนโลกออนไลน์ เขาโดนเหยียดในขณะปฏิบัติหน้าที่ เพียงแค่จะมาส่งของให้ลูกค้า แต่กลับโดนยามหน้าตึกขวางไล่ไม่ให้ขึ้นลิฟต์ ซึ่งไรเดอร์คนดังกล่าว แท้จริงแล้วคือซีอีโอบริษัทส่งของปลอมตัวมาเป็นพนักงาน เพื่อพิสูจน์ข้อร้องเรียนที่ได้รับแจ้งจากพนักงานว่าโดนเหยียดจนทำงานไม่ได้

ซีอีโอบริษัทขนส่ง ปลอมตัวเป็นพนักงานส่งของ เจอประสบการณ์โดนเหยียดด้วยตัวเอง

ดีปินเดอร์ โกยัล (Deepinder Goyal) ซีอีโอของบริษัทส่งของ Zomato ในอินเดีย ได้รับแจ้งจากพนักงานไรเดอร์ในบริษัทว่า พวกเขาโดนเหยียดหยามอย่างไม่เป็นธรรม เขาจึงริเริ่มภารกิจ “ซีอีโอปลอมตัวเป็นพนักงานส่งของ” เพื่อหาคำตอบเรื่องนี้ โดยเลือกโลเคชันที่มีคนพลุกพล่านอย่าง Ambience Mall ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย 

ประสบการณ์ของภารกิจดังกล่าวเปิดหูเปิดตาให้เขาอย่างมาก โดยขณะที่เขาจะขึ้นตึกไปส่งของที่ชั้นสาม กลับเจอเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยห้ามไม่ให้เขาขึ้นลิฟต์ แต่กลับชี้ให้เขาขึ้นบันไดแทน โกยัล รู้สึกหงุดหงิดกับเหตุการณ์ดังกล่าว และได้แชร์ความคิดของเขาพร้อมเผยแพร่คลิปเหตุการณ์ดังกล่าวบนอินสตาแกรมเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเขาเรียกร้องให้ศูนย์การค้าในอินเดียปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่ส่งของอย่างมีมนุษยธรรมมากขึ้น

วัยทำงานอินเดียโดนเหยียดแรง คนส่งของถูกไล่ไม่ให้นั่งพักในที่สาธารณะ

โพสต์ของเขาได้จุดชนวนให้เกิดกระแสร้องเรียนจากวัยทำงานภาคการบริการจากบริษัทต่างๆ อีกมากมาย หลายคนบอกตรงกันว่าพวกเขาถูกเลือกปฏิบัติและโดนเหยียดไม่ต่างกัน ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหานี้ โดยระบุว่า “ทุกคนควรใช้ลิฟต์และทางเข้าเดียวกันได้ ไม่ควรมีการแบ่งแยก” มีเหตุคล้ายกันนี้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั่วอินเดีย ไม่เพียงแต่ในศูนย์การค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในชุมชนของคนรวยหรือคนวรรณะสูง

คนส่งของ = ชนชั้นล่าง จะใช้ลิฟต์ร่วมกับผู้อยู่อาศัยในตึกหรูไม่ได้

ด้าน นิเลช กุมาร์ (Nilesh Kumar) พนักงานของบริษัท Amazon สาขาในอินเดีย วัย 28 ปี เล่าถึงประสบการณ์โดนเหยียดของตัวเองที่เกิดขึ้น ณ คอนโดที่พักอาศัยในย่านกาห์ซิอาบัด ชานกรุงนิวเดลี ว่า วันหนึ่งขณะที่ตนกำลังรอลิฟต์เพื่อขึ้นไปส่งของในตึกสูง พอลิฟต์ลงมา คนแถวนั้นบอกว่าคนส่งของจะใช้ลิฟต์ไม่ได้ นี่เป็นลิฟต์เฉพาะของผู้พักอาศัย ทำให้ตนต้องเดินขึ้นไปชั้นสี่พร้อมกับกระเป๋าหนักๆ

ขณะที่ นูร์ ข่าน (Noor Khan) วัย 26 ปี เจ้าหน้าที่ส่งของจากบริษัท Blinkit ซึ่งเป็นบริการส่งของชำ แชร์ประสบการณ์ว่าเขารู้สึกเหมือนตัวเองเป็นโจรเมื่อต้องไปส่งของให้พวกคนรวย เวลาจะเข้าไปส่งของทีไรก็ต้องโดนยามมาขวางที่ประตู แล้วถามว่าจะไปที่ไหน จากนั้นก็บอกให้ใช้บันได ไม่ให้ใช้ลิฟต์ คนพวกนี้ทำให้ข่านรู้สึกว่าถูกขัดขวางการทำงาน

ข่านจำได้ว่าเขาอยากไปพักผ่อนในศูนย์การค้าที่เต็มไปด้วยม้านั่ง แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมักจะขอให้เขาลุกออกไปเสมอ ไม่เพียงเท่านั้น มีอยู่วันหนึ่งหลังจากส่งของจนเหนื่อย เขาเลยไปนั่งบนขอบรั้วของบ้านหลังใหญ่ แต่คนในบ้านเดินมาบอกให้เขาลุกออกไป เพราะเขาทำให้สถานที่นี้ดูโทรม

วัยทำงานอินเดียโดนเหยียดแรง คนส่งของถูกไล่ไม่ให้นั่งพักในที่สาธารณะ

แม่บ้าน-แม่ครัวในอินเดีย โดนเหยียดหนักกว่าคนส่งของ

ไม่ใช่แค่พนักงานส่งของที่โดนเหยียดแบบนี้ แต่พนักงานชั่วคราวในอาชีพอื่นๆ ก็โดนเหมือนกัน ทั้งแม่บ้าน พ่อครัว พี่เลี้ยงเด็ก และคนขับรถ ฯลฯ พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติแบบชนชั้นล่างโดยกลุ่มชาวอินเดียชนชั้นกลาง หนังสือพิมพ์ Indian Express รายงานว่าที่พักอาศัยสุดหรูอย่าง DLF Hamilton Court ที่ตั้งอยู่ในเมืองคุร์เคาน์ ได้ติดป้ายแบ่งแยกพื้นที่ใช้สอยตามจุดต่างๆ เช่น “ลิฟต์นี้สำหรับพนักงาน” และ “ลิฟต์นี้เฉพาะผู้อยู่อาศัยและแขก” ไว้ที่ล็อบบี้ อีกทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ เช่น สนามหญ้าและม้านั่งในสวนสาธารณะ พนักงานถูกห้ามไม่ให้ไปนั่งพักผ่อนในจุดเหล่านั้น

ราเมนดรา กุมาร์ (Ramendra Kumar) นักเคลื่อนไหวทางสังคมและเลขาธิการของ Delhi Shramik Sangathan ซึ่งเป็นสหพันธ์คนงานนอกระบบ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า แม่บ้านคือกลุ่มคนวัยทำงานที่โดนเหยียดหยามมากที่สุด สิ่งที่คนอินเดียชนชั้นสูงปฏิบัติกับแม่บ้าน-แม่ครัว เมื่อพบกันครั้งแรกคือ การถามชื่อพวกเขา ซึ่งจะช่วยให้รู้ได้ทันทีว่าพวกเขาเป็นชนชั้นวรรณะใด จากนั้นก็จะกีดกันและจำแนกกลุ่มคนที่เป็นวรรณะต่ำออกไป และไม่จ้างงานเลย 

“อินเดียเป็นสังคมที่มีการแบ่งแยกและแบ่งชนชั้นมากที่สุดในโลก คนรวยต้องการให้คนงาน แม่บ้าน คนครัว ทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการ แต่กลับไม่ต้องการให้คนงานมีตัวตน และแม้แต่ภาคส่วนใหม่ๆ ของเศรษฐกิจ เช่น พนักงานชั่วคราวกลุ่มไรเดอร์ ก็ยังหนีไม่พ้นทัศนคติเดิมๆ ซึ่งสร้างความแตกแยกให้กับพวกเราชาวอินเดีย” กุมาร์ อธิบาย

อนุชกา แวร์มา (Anoushka Verma) วัย 40 ปี แม่บ้านในย่านเอลเดโค เมืองโนเอดา แสดงความไม่พอใจและบอกว่าเธอไม่เข้าใจตรรกะนี้เลย นายจ้างมักอนุญาตให้พนักงานบริการเข้ามาทำความสะอาดและทำอาหารให้ที่บ้าน แต่พนักงานเหล่านั้นกลับไม่ดีพอที่จะนั่งบนม้านั่งในสวนสาธารณะเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้า เธอมองว่าการกระทำเช่นนี้ไม่เพียงโหดร้าย แต่ยังโง่เขลาอีกด้วย

ผู้นำองค์กรต้องลุกขึ้นมาดูแลลูกจ้างชั่วคราว อย่าปล่อยให้การเหยียดแพร่กระจายในสังคม

การแก้ปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติอาจเริ่มต้นจากการที่ผู้นำองค์กรลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อลูกจ้างชั่วคราว หนึ่งในนั้นคือ ราจีฟ ชาร์มา (Rajiv Sharma) ประธานสมาคมแห่งหนึ่งในเมืองโอคลา เขาเชื่อว่า ความเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลสามารถต่อสู้กับการถูกเลือกปฏิบัติได้ ตัวเขาเองก็เคยเผชิญกับความท้าทายที่คล้ายคลึงกันในบทบาทของเขา (เป็นผู้นำหลายๆ องค์กรทั่วเดลีที่ดูแลกิจการของประชาชน) จึงทำให้รู้ซึ้งถึงปัญหานี้ดี

“หากผู้นำยืนหยัดต่อต้านการเลือกปฏิบัติ และชี้แจงให้ชัดเจนว่าการเลือกปฏิบัติเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และหากคุณยืนหยัดตามจุดยืนของตนเอง ผู้คนก็จะปฏิบัติตาม เมื่อสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมได้ทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น น่าละอายที่สังคมอินเดียมีลำดับชั้นอย่างมาก จนแม้แต่ลิฟต์ก็ยังถูกแบ่งการใช้งานตามชนชั้นวรรณะ” เขาสะท้อนความเห็นส่วนตัว

อย่างในกรณีของ โกยัล ซีอีโอของบริษัทส่งของ Zomato ในอินเดียที่โพสต์คลิปแสดงให้เห็นว่าพนักงานส่งของโดนเหยียดจริงๆ เมื่อคลิปนั้นกลายเป็นไวรัลและผู้คนออกมาวิจารณ์เรื่องนี้อย่างหนัก ในที่สุด ทางห้างสรรพสินค้า Ambience Mall ก็ได้ประกาศแผนการสร้าง “จุดรับสินค้าโดยเฉพาะ” สำหรับตัวแทนจัดส่งสินค้าทั้งหมด