สาวอินเดีย 26 ปี ทำงานจนตาย เกิดข้อเรียกร้องแก้ไขวัฒนธรรมที่ทำงานเป็นพิษ

สาวอินเดีย 26 ปี ทำงานจนตาย เกิดข้อเรียกร้องแก้ไขวัฒนธรรมที่ทำงานเป็นพิษ

วัฒนธรรมทำงานหนักไม่ได้มีแค่ญี่ปุ่น! สาวอินเดียวัย 26 ปี ทำงานหนักจนตาย ชาวเน็ตแห่ติดแฮชแท็ก #JusticeForAnna เรียกร้องให้ทุกฝ่ายแก้ปัญหา ‘วัฒนธรรมที่ทำงานเป็นพิษ’ ชั่วโมงการทำงานยาวนานวันละ 12-15 ชั่วโมง และลดความกดดันในที่ทำงาน

KEY

POINTS

  • สาวอินเดีย วัย 26 ปี “ทำงานจนตาย” เธอทำงานในตำแหน่งผู้บริหารฝ่ายตรวจสอบบัญชี ของบริษัท Ernst & Young India คดีนี้ยืดเยื้อยาวนานถึงขั้นรัฐบาลกลางต้องเข้ามาสอบสวน
  • รายงานสาเหตุการตายชี้ว่า เกิดจากภาวะความเหนื่อยล้าสูง หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ “วัฒนธรรมที่ทำงานเป็นพิษ” ของอินเดีย คนนับล้านต้องเผชิญแรงกดดันสูงในที่ทำงาน
  • มีด้านมืดที่ร้ายแรงมาก วัฒนธรรมการทำงานเป็นพิษ ที่เกิดจากชั่วโมงการทำงานยาวนาน ได้แพร่หลายไปทั่วอินเดีย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น บริษัทที่ปรึกษากฎหมาย และอาชีพด้านการบิน

เมื่อประมาณสองเดือนก่อน เกิดเหตุผู้บริหารสาวชาวอินเดีย “ทำงานจนตาย” กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงวัฒนธรรมการทำงานล่วงเวลาอย่างไร้สติปัญญาของบริษัทหลายแห่งในอินเดีย โดยสาววัยทำงานผู้โชคร้ายคนดังกล่าวมีชื่อว่า ‘แอนนา เซบาสเตียน เปรายิล’ วัย 26 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่คดีนี้ยืดเยื้อยาวนานถึงขั้นรัฐบาลกลางต้องเข้ามาสอบสวน

เธอทำงานในตำแหน่งผู้บริหารฝ่ายตรวจสอบบัญชี ของบริษัท Ernst & Young India ก่อนจะเสียชีวิตลง มีรายงานว่าสาเหตุการตายของเธอเกิดจากภาวะความเหนื่อยล้าสูง ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับ “วัฒนธรรมที่ทำงานเป็นพิษ” ของอินเดีย และยังทำให้คนนับล้านต้องเผชิญแรงกดดันในการแข่งขันที่สูงในสถานที่ทำงาน

ด้าน อนิตา ออกัสติน แม่ของผู้เสียชีวิตก็บอกกับสื่อท้องถิ่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า สาเหตุที่ทำให้แอนนาจากไปคือ “เครียดจากการทำงาน ลูกสาวของเธอทำงานหนักเกินไปจนแทบไม่มีเวลาพักหรือเวลาส่วนตัวเลย ภาพที่เห็นประจำคือลูกสาวมักจะล้มตัวลงบนเตียงด้วยความเหนื่อยล้า

โลกออนไลน์ผุดแฮชแท็ก #JusticeForAnna เรียกร้องการทำงานอย่างเป็นธรรม

คดีนี้ยืดเยื้อและกระตุ้นให้มีการสอบสวนในระดับรัฐบาลกลาง อีกทั้งยังจุดชนวนกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโซเชียลมีเดียภายใต้แฮชแท็ก #JusticeForAnna โดยวัยทำงานส่วนใหญ่ต่างออกมาแชร์ประสบการณ์การทำงานล่วงเวลาของตนเอง ซึ่งสะท้อนว่าปัญหานี้แพร่หลายไปทั่วอินเดีย แม้จะมีกฎหมายเพื่อป้องกันการแสวงประโยชน์กับลูกจ้างในสถานที่ทำงานก็ตาม 

ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังจาก นางสาวนิรมาลา สิตารามัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินเดีย ได้พูดสุนทรพจน์ที่อ้างอิงถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในงานที่วิทยาลัยแพทย์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยแนะว่า “คนหนุ่มสาวจำเป็นต้องพัฒนาความเข้มแข็งภายในตนเอง เพื่อรับมือกับแรงกดดัน ซึ่งจากวลีนี้ทำให้ผู้นำฝ่ายค้านต่างกล่าวหาว่า สิตารามัน เหยียดหยามเหยื่อผู้เสียชีวิต 

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การเสียชีวิตของเปรายิล เน้นย้ำถึงข้อบกพร่องในวัฒนธรรมการทำงานของเอเชีย ซึ่งการแข่งขันในตลาดงานที่รุนแรงทำให้พนักงานหลายคนต้องทำงานหนักเกินไป

นารายัน พันต์ ศาสตราจารย์ด้านการปฏิบัติการจัดการที่ INSEAD ให้ความเห็นว่า ชาวเอเชียมักเกิดมาท่ามกลางวัฒนธรรมการทำงานหนัก เด็กเอเชียชนชั้นกลางส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนเองฐานะไม่ดีพอ และต้องการถีบตัวเองให้ขยับฐานะให้สูงขึ้นไป พวกเขาเชื่อว่า “ต้องทำงานหนัก มิฉะนั้นคนอื่นจะเอาชนะคุณได้ หรือไม่ก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” สิ่งนี้อาจทำให้คนรุ่นใหม่พยายามทำงานด้วยมาตรฐานสูงเกินไป

“ทำงานหนักแค่ไหนถึงจะพอ? เปิดด้านมืดโลกการทำงานของชาวอินเดีย

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของอินเดียมีอายุต่ำกว่า 25 ปี และอัตราการว่างงานในกลุ่มเยาวชนยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอัตราการว่างงานดังกล่าวยิ่งผลักให้ปัญหานี้ในอินเดียเลวร้ายลง โดยผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต่างๆ มักเน้นย้ำถึงคุณค่าของผลงานในเชิงปริมาณมากกว่าความคิดสร้างสรรค์ 

“มีด้านมืดที่ร้ายแรงมาก วัฒนธรรมการทำงานที่เป็นพิษ ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานได้แพร่หลายไปทั่วอินเดีย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น บริษัทที่ปรึกษา กฎหมาย และการบิน เมื่อไหร่กันที่เราจะมีเวลาคิดแก้ปัญหานี้จริงๆ สักที” ปราบีร์ จา ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Prabir Jha People Advisor ตั้งคำถาม

ด้านพนักงานรุ่นใหม่ได้ถกเถียงประเด็นนี้บนโซเชียลมีเดียกันอย่างกว้างขวาง โดยพวกเขาย้ำให้เห็นถึงความแตกต่างของวิธีที่บริษัทระดับโลกปฏิบัติต่อพนักงานในแต่ละประเทศ โดยสังเกตว่าชาวอินเดียที่เป็นพนักงานทั่วไป เช่น ฝ่ายปฏิบัติการ ได้รับสวัสดิการน้อยมาก 

เมื่อปีที่แล้ว นารายัน มูรธี มหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยีชาวอินเดียและผู้นำในอุตสาหกรรม ได้เป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดการถกเถียงอย่างดุเดือด เมื่อเขาเสนอแนะว่าคนหนุ่มสาวควรทำงานมากถึง 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ

ปารันจายา กูฮา ทาร์คูตะ นักข่าวอาวุโสที่เขียนบทความเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมือง กล่าวว่า ภาคเอกชนถูกมองว่าน่าดึงดูดใจสำหรับพนักงานที่มีศักยภาพมากกว่าภาครัฐบาล อย่างไรก็ตาม บริษัทเอกชนหลายแห่งมักเรียกร้องให้พนักงานของตนทำงานล่วงเวลาเป็นเวลานาน บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดใหญ่ ส่งผลให้พนักงานของบริษัทมีความกดดันมากขึ้น 

การรักษางานไว้เป็นเรื่องสำคัญมากของคนอินเดีย จนลืมนึกถึงสุขภาพจิตของตน

เมื่อต้นเดือนนี้ หนังสือพิมพ์ The Times of India รายงานว่าปัจจุบันในอินเดียมีบัณฑิตปริญญาตรีที่สำเร็จการศึกษา 40,000 คน มีบัณฑิตปริญญาโทสำเร็จการศึกษา 6,000 คน และมีผู้ที่จบวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 120,000 คน ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างแข่งขันกันเพื่อตำแหน่ง "พนักงานกวาดถนน" ในรัฐ Haryana ภาพนี้ย้ำให้เห็นถึงการจ้างงานในประเทศที่มีตำแหน่งงานไม่เพียงพอ

ราหุล ไร หุ้นส่วนของบริษัท Axiom 5 Law Chambers LLP กล่าวว่า คนงานมักเต็มใจที่จะทำงานเป็นเวลานาน ยอมทำงานอย่างหนักเพื่อให้มีงานทำ กลายเป็นว่าวัยทำงานชาวอินเดียส่วนใหญ่ถูกผลักให้เป็นแรงงานราคาถูก บริษัทต่างๆ มักจ่ายเงินให้พนักงานน้อยลงเพื่อเพิ่มผลกำไรสูงสุดได้ (กดเงินเดือน)

“แม้ว่าบริษัทต่างๆ ควรดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ แต่หากบริษัทใดจำกัดเวลาการทำงานน้อยลง ก็อาจส่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัทได้ องค์กรต่างๆ ในอินเดียไม่เคยลงทุนสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่อบอุ่น พนักงานหลายคนทำงานเป็นเวลานานมากถึง 20 ชั่วโมงต่อวัน แต่พวกเขาก็ไม่ได้พยายามแก้ไขปัญหานี้เลย” เขากล่าวเสริม

สุโบธ ภรกาวา อดีตประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมอินเดีย กล่าวว่า การทำงานล่วงเวลา และพนักงานจำนวนมากทำงานจากที่บ้านเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ โดยทั่วไปบริษัทในอินเดียจะปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน แต่พนักงานของบริษัทที่ปรึกษาบางแห่งก็มักจะต้องทำงานล่วงเวลา เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ถูกจัดอยู่ในประเภท “แรงงานทั่วไป” 

ด้าน อาปาร์นา มิททัล ทนายความด้านองค์กรและผู้ก่อตั้ง Samana Centre บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ กล่าวว่า แม้ว่าจะมีกฎหมายด้านการดูแลลูกจ้างอย่างเข้มงวดในเรื่องกะเวลาทำงานและชั่วโมงการทำงาน แต่ก็มีข้อยกเว้นกับธุรกิจบางประเภท เช่น สำนักงานกฎหมาย ซึ่งพนักงานกลุ่มนี้ มักต้องทำงานนอกเวลาเพื่อจัดการกับลูกค้าระดับโลก 

อย่างไรก็ตาม เธอมองว่า บริษัทต่างๆ ในอินเดีย จำเป็นต้องลดชั่วโมงการทำงานลง เพราะที่เป็นอยู่ทุกวันนี้พนักงานทำงานมากเกินไป และวัฒนธรรมการทำงานวันละ 12-15 ชั่วโมงที่น่าเบื่อหน่ายจะต้องเปลี่ยนแปลงสักที!