เจออีกเคส! พนักงานแบงก์เสียชีวิตคาโต๊ะทำงาน อาจซ้ำรอยทำงานหนักจนตาย?
เจออีกเคส! พนักงานแบงก์ในสหรัฐเสียชีวิตคาโต๊ะทำงาน แม้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่หลายคนตั้งข้อสังเกตถึงภาวะ ‘คาโรชิ’ หรือการเสียชีวิตจากทำงานหนักเกินไป
เกิดเหตุกรณีวัยทำงาน เสียชีวิตคาโต๊ะทำงานในออฟฟิศซ้ำรอยอีกราย ซึ่งเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นกับพนักงานหญิงวัย 60 ปี ของธนาคารเวลส์ฟาร์โก (สำนักงานใหญ่) ในรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา กว่าจะมีคนมาพบศพผู้เสียชีวิตก็ผ่านไปถึง 4 วันแล้ว
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) รายงานเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 67 ระบุว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในบริษัทเวลส์ ฟาร์โก ในเมืองเทมพี รายงานว่าพบพนักงานคนหนึ่งซึ่งอาจเสียชีวิตอยู่ในห้องทำงานบนชั้นสามของอาคาร เมื่อวันอังคารที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา ต่อมาทราบชื่อผู้เสียเสียชีวิตคือ เดนิส พรูดอมม์ (Denise Prudhomme) วัย 60 ปี ซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารแห่งนี้ ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองเทมเป้ คาดว่าพรูดอมม์เสียชีวิตเมื่อเวลา 16.55 น. ในช่วง 4 วันก่อนหน้านั้น
เมื่อเจ้าหน้าที่ของกรมตำรวจเมืองเทมพี ตรวจสอบระบบการสแกนเข้าทำงานของบริษัท ก็พบว่า พรูดอมม์เข้าทำงานกะสุดท้ายในเช้า เวลา 7.00 น. ของวันศุกร์ที่ 16 ส.ค. หลังจากนั้นก็ไม่พบการสแกนเพิ่มเติมจากเธออีกเลย ไม่ว่าจะเข้าหรือออกจากอาคาร และศพของเธอถูกพบที่โต๊ะทำงานในคอกกั้นพนักงาน ใน 4 วันต่อมา คาดว่าเธอเสียชีวิตที่นั่นในช่วงสุดสัปดาห์
บริษัทเร่งดำเนินการตรวจสอบภายใน ด้านความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน
พนักงานธนาคารเวลส์ฟาร์โกในสำนักงานใหญ่แห่งหนึ่งในรัฐแอริโซนาเข้าทำงานกะสุดท้ายในเช้าวันศุกร์ ศพของเธอถูกพบที่โต๊ะทำงานในคอกกั้นพนักงาน ใน 4 วันต่อมา คาดว่าเธอเสียชีวิตที่นั่นในช่วงสุดสัปดาห์ ตามรายงานของกรมตำรวจเมืองเทมพี
รูเบน ปูลิโด (Ruben Pulido) โฆษกของธนาคารเวลส์ ฟาร์โก กล่าวว่า “ทางบริษัทเสียใจอย่างสุดซึ้งกับการสูญเสียเดนิส พรูดอมม์ เพื่อนร่วมงานของเรา เราขอส่งความอาลัยไปยังครอบครัวและคนที่รักเธอ และเรากำลังติดต่อเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะได้รับการสนับสนุนอย่างดีในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้”
โฆษกบอกอีกว่า จากเหตุการณ์ไม่คาดคิดครั้งนี้ บริษัทเวลส์ฟาร์โกกำลังเร่งดำเนินการตรวจสอบภายใน เกี่ยวกับความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน และได้จัดให้มีที่ปรึกษาเข้ามาพูดคุยกับพนักงานในบริษัทที่อาจได้รับผลกระทบทางจิตใจจากเหตุการณ์นี้
สาเหตุการเสียชีวิตยังไม่แน่ชัด แต่เบื้องต้น ไม่พบสัญญาณการฆาตกรรมใดๆ
พนักงานของเวลส์ฟาร์โกจำนวนหนึ่ง (ไม่เปิดเผยชื่อ) ได้เปิดเผยความเห็นและความกังวลของพวกเขาผ่าน KPNX ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ CNN ว่า แม้พนักงานส่วนใหญ่ของสำนักงานจะทำงานจากระยะไกล แต่ควรจะพบร่างของพรูดอมม์ ได้เร็วกว่านี้ ไม่ใช่เจอหลังจากผ่านไปนานถึง 4 วัน เนื่องจากอาคารแห่งนี้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
พนักงานบางคนรายงานว่าได้กลิ่นเหม็น แต่ก็ไม่ได้เอะใจ เพราะสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากระบบประปาในอาคารที่เกิดการชำรุด นอกจากนี้ พนักงานบางส่วนก็แสดงถึงความกังวลต่อกรณีที่ไม่ได้รับแจ้งเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเพื่อนร่วมงานเร็วกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทก็ชี้แจงว่าเคสนี้ต้องแจ้งให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตทราบก่อน จึงจะแจ้งพนักงานในบริษัทเป็นลำดับต่อมา
สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตของพนักงานหญิงวัย 60 ปีคนดังกล่าว ยังคงอยู่ในระหว่างขั้นตอนการชันสูตร ตามข้อมูลจากสำนักงานนิติเวชเทศมณฑล Maricopa ด้านโฆษกกรมตำรวจเมืองเทมพี กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีมสืบสวนกำลังดำเนินการสืบสวนอย่างเต็มที่ เบื้องต้นไม่พบสัญญาณของการฆาตกรรมใดๆ
เหตุเสียชีวิตคาโต๊ะทำงาน หลายคนเชื่อมโยงไปถึง 'โรคคาโรชิ' ต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม แม้เจ้าหน้าที่ยังไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตของพนักงานแบงก์รายนี้อย่างแน่ชัด แต่ชาวเน็ตหลายคนก็ตั้งข้อสังเกตว่าการเสียชีวิตลักษณะนี้คล้ายกับ “คาโรชิ” ที่เป็นคำในภาษาญี่ปุ่น หมายถึง “การเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไป” โดยจากข้อมูลในหนังสือปกขาวของรัฐบาลญี่ปุ่นได้กล่าวถึงคำนี้และระบุว่า ญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุนี้อย่างน้อย 54 รายต่อปี
สำหรับในประเทศไทยเองก็เคยเกิดกรณีคล้ายๆ ลักษณะนี้เช่นกัน ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว (ก.พ. 2566) มีรายงานข่าวว่า หนุ่มใหญ่ในวงการทีวี เสียชีวิตคาโต๊ะทำงานหลังทำงานหนักติดต่อกันมานาน โดยเขาทำงานด้านจัดผังรายการควบถึง 2 ช่อง เพื่อนร่วมงานบางคนเปิดเผยว่า บางครั้งเขาต้องทำงานติดต่อกัน 7 วันทั้งสัปดาห์ บางวันก็เข้างานแต่เช้า กลับดึก หรือโต้รุ่ง ทั้งนี้เจ้าตัวมีอาการป่วยอยู่ก่อนแล้ว ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตนั้นพบว่า เขาจากไปด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย ขณะปฏิบัติงาน ณ สถานีข่าว (อ้างอิง: BBC Thai)
ทั้งนี้มีข้อมูลจากกรมการแพทย์รายงานว่า สาเหตุของ “โรคคาโรชิ (Karoshi)” มักเกิดจากความเครียด เมื่อคนเรามีความเครียดสูง ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน epinephrine และ norepinephrine และ cortisol ออกมา ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้เรียกว่าตัวชี้วัดความเครียด (stress indicator) เมื่อฮอร์โมนเหล่านี้หลั่งออกมาปริมาณมากในกระแสเลือด ก็จะทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุโรคของหลอดเลือดและหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด นำมาซึ่งอาการหัวใจวายได้