"ถูกเหยียดในที่ทำงาน" มนุษย์เงินเดือนต้องรับมืออย่างไร?
ทุกองค์กรย่อมมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะการทำงานกับคนที่หลากหลายทั้งด้านอายุ ความคิด ประสบการณ์ และอารมณ์ ย่อมมีเรื่องต้องกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นในมนุษย์เงินเดือน ระหว่างการทำงานอยู่สม่ำเสมอ คือ "การเหยียด"
KEY
POINTS
- การหยอกล้อกันไม่ใช่เรื่องผิด แต่ควรอยู่ในเรื่องที่เหมาะสม เพราะไม่อาจทราบว่าคำพูดใดที่จะไปกระทบต่อจิตใจ หรือเหยียดของผู้ฟัง สิ่งใดที่เป็นการตอกย้ำปมด้อยหรือทำให้ผู้ฟังรู้สึกสบายใจ
- กลุ่มคนที่ถูกเหยียดจะมีปัญหาสุขภาพใจ และสุขภาพกาย รวมถึงการเลือกปฏิบัติ ที่อาจนำไปสู่การคุกคามได้มากขึ้นอีก
- วิธีการรับมือกับการถูกเหยียด ต้องทบทวนหาข้อดีของตัวเอง หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับคนที่เป็นพิษ และเอาใจเขามาใส่ใจเรา
จากข้อความของผู้ใช้ X ชื่อ W โพสระบุว่า 78% ของพนักงานเคยถูกเหยียดอายุระหว่างการทำงาน เหยียดอายุ เกิดได้ทั้ง
1) อายุมากกว่า เหยียดคน อายุน้อยกว่า
2) คนอายุน้อยกว่า เหยียด คนอายุมากกว่า
มาจากการเลี้ยงดู และบริบทที่แตกต่างกับ ทำให้หลายๆ คนเติบโตมามีคุณค่าที่อาจจะแตกต่างกันมากขึ้น และตอนนี้กลายเป็นเทรนด์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จากข้อมูลของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า การเหยียดอายุ (Ageism) เป็นทัศนคติแบบเหมารวมและตัดสินด้วยอคติว่าแต่ละช่วงวัยควรมีคุณลักษณะอย่างไร จนทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติขึ้นในสังคม ซึ่งเป็นไปได้ทั้งในกรณีที่ผู้อาวุโสใช้ “วัยวุฒิ” ข่มและ “กดทับเด็กใหม่” หรือ มองว่าเด็กใหม่ไม่ประสีประสา
ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่อาจจะใช้ทัศนคติและการก้าวทันโลกกดทับคนรุ่นเก่า หรือมองว่าคนรุ่นเก่านั้นเป็นภาระของตน ซึ่งพบได้มากที่สุดในที่ทำงาน เนื่องจากมีคนหลายช่วงวัยมารวมตัวกัน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ชาวเจน Z เข้าสู่ตลาดงาน ยิ่งทำให้ความหลากหลายระหว่างวัยในที่ทำงานมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ผลวิจัยจาก WHO พบว่าการเหยียดอายุในผู้สูงอายุส่งผลให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตแย่ลง ส่งผลให้เกิดความโดดเดี่ยวทางสังคมและความเหงาเพิ่มยิ่งขึ้น คุณภาพชีวิตแย่ลง และเกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดย WHO คาดการณ์ว่าการเหยียดอายุนี้เป็นต้นตอของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ 6,300,000 คนทั่วโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
Black Lives Matter ต้นทุนของการเหยียดเชื้อชาติสีผิว
“เหยียดวัย” ในที่ทำงาน ไม่ใช่เรื่องเล่น! ระวังจบไม่สวยเสียเงินหลักล้าน
การเหยียดที่ทุกคนมักพบเจอ
น.ส.นิลุบล สุขวณิชนักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า คำว่า “เหยียด” ในยุคปัจจุบันมักถูกใช้ไปในความหมายว่า เหยียดหยาม ดูถูก ดูหมิ่น ทำให้คนที่โดนเหยียดถูกด้อยค่าลง หรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี การเหยียดนั้นตรงกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษอยู่หลายคำด้วยกัน ซึ่งการเหยียดคนอื่นแบบเป็นกลุ่มซึ่งจะตรงกับการเหยียด 2 ประเภท ดังนี้
1. Stereotype หมายถึง การตัดสินคนอื่นแบบเหมารวมเป็นกลุ่ม ยกตัวอย่างจากงานวิจัยของนักจิตวิทยา Susan Fiske ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Princeton และนักศึกษาปริญญาโท Cydney Dupree ที่พบว่า แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ในศูนย์ child care เป็นอาชีพที่คนมักตัดสินว่าเป็นอาชีพที่มีความสามารถสูง มีลักษณะอบอุ่น เป็นห่วงเป็นใย เป็นอาชีพที่คนให้ความสำคัญ มีหน้ามีตาในสังคม ผู้คนรับรู้ถึงความภาคภูมิใจและความชื่นชม เต็มไปด้วยทัศนคติด้านบวก
ขณะที่ พนักงานล้างจาน คนเก็บขยะ คนขับรถแท็กซี่ ผู้คนได้เลือกจัดอันดับว่ามีลักษณะนิสัยที่ไม่เป็นมิตร มีทัศนคติด้านลบ ให้ความรู้สึกดูถูกหรือโดนรังเกียจโดยคนส่วนใหญ่ นั่นอาจแปลว่า ผู้คนส่วนมากมักสรุปว่าอาชีพที่ไม่ได้มีรายได้สูง คืออาชีพที่ไม่ได้ใช้ความสามารถมากนัก เป็นต้น
2. Prejudice and discrimination หมายถึง อคติและการเลือกปฏิบัติ โดยคนบางกลุ่มอาจจะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันไปเพราะถูกตัดสินด้วยอคติ ซึ่งความคิดและอารมณ์ของบุคคลจะส่งผลต่อพฤติกรรม ตัวอย่างเช่น การปฏิเสธไม่รับคนเข้าทำงานเนื่องจากฝ่ายบุคคลมีมุมมองว่าคนที่เป็น LGBTQ+ เป็นกลุ่มคนที่มีอารมณ์รุนแรงหรือยังมีความเชื่อว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความผิดปกติทางจิตใจ หรือบางสถานประกอบการอาจมีอคติต่อคนที่จบการศึกษามาจากบางแห่งว่าความสามารถไม่ถึง หรือ มีนิสัยหยิ่งยโสเข้ากับใครไม่ได้ เป็นต้น
เหยียดอายุ รูปร่างหน้าตาส่งผลต่อสุขภาพกาย ใจ
พญ.ปรานี ปวีณชนา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่า Body shaming-BS คือ การที่คนอื่นมาวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตา การแต่งตัว บุคลิกท่าทาง และรูปลักษณ์ที่แสดงออกภายนอกของเรา ไม่ว่าจะเป็นการพูดตรงๆ พูดเปรียบเทียบ หรือพูดล้อเล่น คำพูดเหล่านี้ส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจของคนที่ถูกต่อว่าล้อเลียนอย่างมาก (emotional trauma) เป็นรูปแบบหนึ่งของการกลั่นแกล้งกัน (bullying) ทำให้เหยื่อรู้สึกไม่ภาคภูมิใจในตัวเอง (low-self esteem)
นำไปสู่การป่วยเป็นโรคด้านจิตเวชได้ เช่น โรคซึมเศร้า (Depression) โรควิตกกังวลเรื่องรูปร่างหน้าตา (Body Dysmorphic Disorder-BDD) โรคการกินผิดปกติ (Eating Disorder) ยิ่งถูก BS ตั้งแต่อายุน้อยเท่าไรโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงวัยรุ่นที่ต้องมีพัฒนาสร้างความเป็นตัวตน (self-identity) จะส่งผลเสียอย่างมาก มีการศึกษาวิจัยจากทั่วโลกพบความชุกของเรื่อง BS ร้อยละ 25-35 รายงานที่พบความชุกมากสุด คือ ร้อยละ 45
ธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนย่อมอยากได้รับการยอมรับจากคนอื่นในสังคมที่อาศัยอยู่ มาตรฐาน “รูปร่างหน้าตาที่ดี” (beauty standards) ได้รับอิทธิพลจากสื่อที่ยัดเยียดค่านิยมต่าง ๆให้ เช่น “สวย=ขาว หมวย ผอม” “คนอ้วน=น่าเกลียด” ผ่านโซเชียลมีเดียหรือสื่อช่องทางต่างๆ จนคนในสังคมมีความเชื่อแบบเดียวกัน
นอกจากจะกดดันตัวเองให้เป็นตามนั้น ยังกดดันคนอื่นอีกด้วย แม้จะมีกลุ่มคนที่พยายามสื่อสารว่าทุกคนมีความงามในแบบฉบับของตนเอง ให้ยอมรับนับถือในสิ่งที่ตัวเองเป็น แต่สุดท้ายยังไม่สามารถสู้กับอิทธิพลที่มาจากสื่อและคนส่วนใหญ่ได้
คนที่ถูก BS ไม่ใช่แค่จะเสียสุขภาพจิต แต่ยังส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น บางคนพยายามที่จะอดข้าวลดน้ำหนักจนขาดสารอาหาร (malnutrition) เข้ารับการผ่าตัดหรือทำหัตถการต่างๆ เพิ่มความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากการดมยาหรือผลไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการผ่าตัดนั้น เพื่อให้สวยในแบบที่สังคมต้องการ
ทำไมคนเราถึงเหยียดกัน?
จากทฤษฎีอัตลักษณ์ทางสังคม (Social Identity Theory) ได้กล่าวถึงการสร้างความเป็นคนใน (In-group) และความเป็นคนนอก (Out-group) ขึ้นมา โดยมาจากธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาเองอย่างรวดเร็วของคนเราที่มักจะเกิดความรู้สึกเห็นใจ ชอบ และรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันกับคนที่เป็นคนใน
ยกตัวอย่างเช่น ในการแข่งขันวอลเล่ย์บอลไทย vs ตุรกี ก็จะมีโอกาสน้อยมากหรือไม่มีโอกาสเลยที่คนไทยจะเลือกเชียร์ทีมตุรกี เป็นต้น ความรู้สึกอคติแบบคนใน-คนนอก มักนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ และเป็นจุดเริ่มต้นของการกลั่นแกล้ง (Bullying), การเหยียดเชื้อชาติ (Racist) เพราะคนเรามีแนวโน้มที่จะแสดงออกในทางบวกกับสิ่งที่เรามองเป็น In-group มากกว่าสิ่งที่เรามองว่าเป็น Out-group นั่นเอง ซึ่งในเรื่องนี้ปัจจัยทางด้านสังคมวัฒนธรรมถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องมากทีเดียว
โดยจากการศึกษาของ Fiske พบว่า หากสังคมวัฒนธรรมนั้น ๆ ไม่มีบรรทัดฐานทางสังคมว่า “ชาติเรายิ่งใหญ่ที่สุด” คนในสังคมก็จะไม่มีมุมมองต่อคนชาติอื่นว่าด้อยกว่า ยิ่งใหญ่น้อยกว่า
การเหยียดนำไปสู่ปัญหาอะไรบ้าง?
กลุ่มคนที่ถูกเหยียดมีปัญหาสุขภาพ ยกตัวอย่างของประเทศแถบที่มีการจัดแบ่งคนเอาไว้เป็นกลุ่ม ๆ แต่ละกลุ่มได้รับการยกย่องให้คุณค่าลดหลั่นกันตั้งแต่ยกย่องให้คุณค่าสูงไปจนถึงถูกมองว่าไม่มีคุณค่าเลย กลุ่มคนที่ถูกเหยียดก็จะไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่ดีได้ เมื่อเกิดความเจ็บป่วยก็อาจจะไม่มีสถานพยาบาลไหนที่รับให้การรักษา ซึ่งอาจนำไปสู่สภาวะเครียดจนเกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมาได้
การเหยียดทำให้มีการเลือกปฏิบัติมากขึ้น กลุ่มคนที่ถูกเหยียดมักถูกเลือกปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น ชาติที่มีการวางสถานะของผู้หญิงไว้ต่ำกว่าผู้ชาย ก็จะมีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้น เช่น ไม่รับผู้หญิงเข้าทำงาน ผู้หญิงไม่สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารได้ ยิ่งมีการเหยียดเกิดขึ้นมากเท่าไหร่
การเลือกปฏิบัติก็จะยิ่งเกิดขึ้นในหลายมิติมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนอกเหนือไปจากการเลือกปฏิบัติแล้ว ก็อาจนำไปสู่การคุกคามได้มากขึ้นอีกด้วย เช่น ในสถานประกอบการที่มีการเหยียดผู้หญิงก็อาจจะมีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นได้บ่อย เพราะผู้ชายในองค์กรมีความเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องให้เกียรติผู้หญิง ซึ่งจากผลสำรวจในปี 2018 พบว่า ผู้หญิง 59% เคยถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน
7 เรื่องที่ไม่ควรพูดเหยียดคนอื่น
1. เพศ
เรื่องเพศ เป็นความละเอียดอ่อนที่ถูกนำมาใช้ในการเหยียดกันมากที่สุด เนื่องจากสมัยก่อนเราใช้การแบ่งแยกกันเพียงเพศหญิงและชาย ผู้คนที่แสดงความแตกต่างจากเพศกำเนิดจึงมักถูกเหยียดหรือบูลลี่ เช่น ไอตุ๊ด, พวกผิดเพศ, ตัวประหลาด, เปลี่ยนทอมเป็นเธอ เป็นต้น
ปัจจุบัน เรื่องเพศได้เปิดกว้างมากขึ้น สังคมเริ่มยอมรับความหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่มคนเพศทางเลือก (LGBTQ) มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงวัยเด็ก- วัยรุ่น เป็นช่วงวัยที่ได้รับความรุนแรงจากการเหยียดเรื่องเพศมากที่สุด ผู้ใหญ่-ผู้ปกครอง นอกจากต้องเปิดใจยอมรับ ความแตกต่างอย่างเข้าใจเมื่อลูกเป็น LGBTQ แล้ว ยังควรสอนให้ลูกหลานหรือเด็กๆ เคารพในความแตกต่างด้านเพศ
2. รูปร่างหน้าตา สีผิว
รูปร่างหน้าตาและสีผิวของคนเรา เป็นเรื่องของพันธุกรรมตามธรรมชาติค่ะ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดที่เรามักจะชื่นชอบคนที่รูปร่างหน้าตาดี แต่การใช้รูปร่างหน้าตาและสีผิวมากำหนดกฎเกณฑ์จนกลายเป็นความลำเอียง, การกีดกันไม่ว่าจะด้านหน้าที่การงานหรือการเข้าถึงบริการด้านต่างๆ, การสร้างสิทธิพิเศษเฉพาะคนหน้าตาดี รวมถึงการแซว การเหยียด คนที่รูปร่างหน้าตา สีผิว ที่ไม่ตรงตามค่านิยมของสังคมนั้น เช่น อ้วน, ดำ, หน้าสิว, ผอมจัง, นมแบน ฯลฯ เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ
ที่ร้ายแรงกว่านั้น การถูกบูลลี่เรื่องรูปร่าง (Body shaming) อาจก่อให้เกิดเป็นโรคทางจิตเวชได้ เช่น โรควิตกกังวลเรื่องรูปร่างหน้าตา (Body Dysmorphic Disorder) โรคคลั่งผอม (Anorexia Nervosa) เป็นต้น ดังนั้น การเหยียดกันเรื่องรูปร่างหน้าตาจึงไม่ใช่แค่เพียงเรื่องตลกที่หลายคนอาจจะมองว่าไม่เป็นไร เพราะคนที่ถูกบูลลี่นั้นอาจเกิดผลกระทบทางจิตใจมากกว่าที่คิด
3. เชื้อชาติ-ศาสนา
ทุกเชื้อชาติ มีลักษณะของรูปร่างหน้าตา และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป ไม่ใช่สิ่งที่ควรนำมาเหยียดหรือเกลียดชังซึ่งกันและกัน รวมถึงการนับถือศาสนาซึ่งเป็นความความเคารพ ความเชื่อส่วนบุคคล
4. รสนิยม ความชอบ
รูปแบบการใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ รสนิยม ความชอบ เช่น การแต่งหน้า แต่งตัว งานอดิเรก อาหารการกิน ฯลฯ เป็นสิ่งเฉพาะบุคคลที่ไม่มีผิดหรือถูก หากสิ่งนั้นไม่ไปลิดรอนสิทธิ หรือสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น ในปัจจุบันเรื่องรสนิยม ความชอบ การใช้ชีวิตได้เปิดกว้างมากขึ้น อย่างเช่นแฟชั่นการแต่งตัวที่ไม่มีกรอบมาจำกัดอีกต่อไป ทุกคนมีสิทธิในร่างกายของตนเองที่จะทำตามความชอบโดยไม่ผิดกฎหมายหรือกาลเทศะ
5. การศึกษา
ต้นทุนชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนมีโอกาสได้เรียนสูง ได้เรียนในสิ่งที่ต้องการ แต่กับบางคนโอกาสอาจจะมีไม่มากนัก การนำระดับการศึกษาหรือสถาบันมาใช้เหยียดกันนับเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำค่ะ เพราะคุณภาพชีวิตของคนเราไม่ได้วัดแค่เพียงการศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยในการดำเนินชีวิตที่จะส่งผลให้คนคนหนึ่งประสบความสำเร็จ หรืออยู่อย่างมีความสุขได้ในสังคม
6. ฐานะ
หลายครั้งที่เรามักได้ยินการพูดเหยียดเรื่องฐานะ เช่น ไอลูกคนจน, ลูกคุณหนู, เด็กสลัม ฯลฯ เราไม่ควรใช้ชนชั้นฐานะและเงินทองมากำหนดลักษณะนิสัยของคนทั้งหมด ความรวยอาจสร้างโอกาสที่ดีในการดำเนินชีวิตได้มากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าคนจนจะมีคุณค่าความเป็นมนุษย์น้อยไปกว่าคนรวยเลย
7. อาชีพ หน้าที่การงาน
อาชีพและหน้าที่การงาน เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คนเรามักนำมาใช้เหยียดกัน ด้วยค่านิยมของการตัดสินว่าคนในระดับสูงหรืออาชีพที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถสูง ได้เงินมาก มักจะดีกว่า ส่วนลูกน้องระดับล่างหรืออาชีพที่ใช้ความสามารถต่ำได้เงินน้อย มักจะถูกดูแคลนอยู่เสมอ แต่แท้จริงแล้วไม่ว่าอาชีพหรือหน้าที่การงานในระดับไหน ต่างก็มีบทบาทหน้าที่สำคัญและมีคุณค่าเท่าเทียมกัน
ทำอย่างไรจึงจะลดการเหยียดลงได้?
1. ปลูกฝังให้คนในสังคมมี empathy ฝึกคิดและรู้สึกในมุมของคนที่แตกต่างไปจากตนเอง แม้ตนเองจะไม่เคยอยู่ในจุดนั้นและไม่เคยมีประสบการณ์เช่นเดียวกันนั้นมาก่อนเลยก็ตาม โดยอาจจะลองจินตนาการดูก็ได้ว่าถ้าเราเป็นเขาเราจะรู้สึกอย่างไรหากถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกคุกคามรังแก
2. จัดกิจกรรมทางสังคมให้คนที่มีความแตกต่างกันได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนมุมมองกัน ตัวอย่างเช่น กิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดจากไอเดียของกลุ่มคนที่ต้องการให้ ‘อคติ’ และ ‘ความคิดแบบเหมารวม’ ที่ส่งผลกระทบต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันหายไป โดยกิจกรรมนี้เริ่มต้นขึ้นที่ประเทศเดนมาร์กและดำเนินการมาแล้วเป็นเวลา 21 ปี
3. รณรงค์เกี่ยวกับการตระหนักรู้ในตนเอง สร้างสื่อหรือกระแสที่ชวนให้คนในสังคมฝึกสังเกตความคิดของตนเอง มีสติก่อนที่จะคิด-พูด-ทำอะไรออกไป และคอยสำรวจตรวจสอบว่าความคิดของตนเองมันสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่
4. ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับพฤติกรรมของคนในสังคมให้มีการเหยียดลดลง ปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมมากขึ้น
รับมืออย่างไร? เมื่อเราถูกเหยียด
1. ทบทวนหาข้อดีของตัวเอง สำคัญที่สุดคือความพอใจในตัวเราเอง ไม่มีใครที่จะสมบูรณ์แบบไปทุกอย่าง หากเรารักและยอมรับตัวเองอย่างที่เป็นอยู่ (Self-love/self-acceptance) มีสุขภาพที่ดี และรูปร่างหน้าตาของเรา อายุของเราไม่ได้สร้างความเดือดร้อนกับตัวเองหรือคนอื่น เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว หากยังไม่มั่นใจให้ลองคุยกับคนที่มองโลกตามความเป็นจริงเชื่อถือได้ พร้อมที่จะให้กำลังใจและคำแนะนำที่ช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้น เช่น ให้เขาบอกคุณสมบัติข้อดีของเรา เพื่อให้เราเห็นคุณค่าของตัวเอง
2. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับคนที่เป็นพิษ (toxic people) บางคนมีทัศนคติเป็นลบกับทุกเรื่อง และพร้อมที่จะทิ่มแทงให้คนอื่นต้องเจ็บปวด มีความสุขที่เห็นคนอื่นเป็นทุกข์ เข้าใกล้ทีไรทำให้เราเสีย self-esteem เราไม่สามารถไปเปลี่ยนเขาได้ สิ่งที่เราทำได้ คือ การเลี่ยง เพื่อไม่ให้ตัวเราเองต้องเจ็บปวดกับพิษที่เขาสาดใส่ ติดต่อกันเท่าที่จำเป็น หากถูกเขา BS จนเราทนไม่ได้ เรามีสิทธิที่จะปกป้องตัวเอง (assertive) ด้วยการบอกว่าเราไม่ชอบและสิ่งที่ต้องการให้เขาทำ
3. เอาใจเขามาใส่ใจเรา หากเราไม่อยากถูกเหยียด เราเองต้องไม่ทำแบบนั้นกับคนอื่นเช่นเดียวกัน หัวข้อที่เราสามารถนำมาคุยกันมีตั้งหลายเรื่อง ไม่จำเป็นต้องคุยกันเรื่องรูปร่างหน้าตา หรืออายุ ก็ได้
4. เข้าหากลุ่มที่ให้การช่วยเหลือเรื่องการเหยียด ที่ต่างประเทศมีองค์กรที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือคนที่ถูก BS หรือการเหยียด โดยตรง
วิธีทำงานกับคนที่ชอบเหยียดคนอื่น
1. รักษาระยะห่าง
เรื่องแย่ๆ มันมีมากมายถมเถจนแทบอยากจะทรุด แต่ไม่ว่าคุณจะซวย ถึงขั้นโดนมอบหมายงานให้ทำ กับคนที่ไม่อยากแม้กระทั่งอยู่ใกล้ๆ แค่ไหน ก็ต้องมีการรับมือที่ดี หาทางออกเพื่อประคองความสัมพันธ์ในงานที่ตัวเองรับผิดชอบให้ดี การรักษาระยะห่าง จึงเป็นเรื่องหลักที่ช่วยให้ สมองรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น
เพราะมีงานวิจัยว่า การรักษาระยะห่างที่ 25 ฟุต (7.6 เมตร) สามารถช่วยให้หลุดพ้นจากอาการเหยียด หรือเกลียดได้ เช่นเดียวกับการหลับตา ไม่ว่าจะใกล้แค่ไหน แต่ช่างปะไร เพราะไม่เห็นอะไรซะอย่าง
2. ทำใจให้เป็นกลาง ปล่อยวางเข้าไว้
คนเหล่านี้ มักจะมีรสนิยมแปลกๆ ที่ชอบเห็นความเดือดร้อน หัวเราะเยาะในขณะที่คนอื่นกำลังตกที่นั่งลำบาก ยิ่งดิ้นทุรนทุรายมากเท่าไหร่ยิ่งดี วิธีรับมือที่ดีที่สุดไม่ใช่การนิ่งเฉย แต่เป็นการละเลย สิ่งไร้สาระที่อยู่ตรงหน้าให้มากที่สุด พูดคุยให้น้อย ติดต่อกันเฉพาะเหตุจำเป็น ในส่วนของงาน (หลีกเลี่ยงการคุยงานโดยผ่านช่องแชท) เพราะอาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันในเจตนา ที่จะสื่อออกไป และอาจกระทบต่องานได้ นอกนั้นหลังเลิกงานก็มองเป็นอากาศธาตุ ปลิวไปเหมือนกับทานอสดีดนิ้วได้เลยจ้า
3. อย่าวู่วาม
มันก็แปลกดีนะที่จะบอกว่า เกลียดใครต้องใช้เวลา ไม่ว่าพฤติกรรมแย่ๆ ที่เราเจอจะเป็นวันนี้ หรืออาทิตย์ก่อนก็ตาม ปล่อยให้มันผ่านไปทำเป็นหูทวนลม สงบจิต สงบใจทำงานที่ได้รับมอบหมายให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด แล้วเก็บข้อมูลทุกอย่างไว้เป็นหลักฐานอย่างดี หลังจากนั้น ก็รวบรวมพรรคพวกให้เยอะๆ เอาจำนวนเข้าว่า อย่างน้อยจะได้ไม่พลาด หากงูพิษแว้งกัดขึ้นมาจะได้ไหวตัวทัน
4. เปิดใจคุยแบบไร้อคติ
หรือจริงๆ แล้ว เขาอาจจะกลายเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีคนหนึ่งก็เป็นได้ สังเกตง่ายๆ คนเหล่านี้ชอบที่จะเป็นจุดสนใจ และอยากให้ทุกคนยอมรับ แต่มาพลาดเอาตรงเลือกใช้วิธีผิดๆ ในการเข้าหาคน
จนติดเป็นนิสัย แต่กลับกัน ถ้าใครที่เป็นเพื่อนหรือถูกยอมรับโดยคนที่มีนิสัยแปลกๆ เหล่านี้ ก็จะไม่มีท่าที หรือแสดงพฤติกรรมแย่ๆ กับคนคนนั้นอีก แรกๆ ก็อาจจะทำใจลำบากหน่อย คิดซะว่าทำความรู้จักเพื่อนใหม่ก็แล้วกันนะ อาจจะช่วยให้อะไรๆ ในสถานที่ทำงานเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความเท่าเทียมอาจจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้ยาก แต่อย่างน้อยก็ไม่ควรปล่อยให้ในสังคมมีการเหยียดเกิดขึ้นจนเกิดผลกระทบต่าง ๆ ตามมา
อ้างอิง: iSTRONG Mental health, fwd ,โรงพยาบาลมนารมย์ , BBC, NZ Business, The Story Exchange