work life balance เกิดขึ้นได้จริงไหม? เปิดมุมมองนักคิด-นักธุรกิจชื่อดัง

work life balance เกิดขึ้นได้จริงไหม? เปิดมุมมองนักคิด-นักธุรกิจชื่อดัง

ข้อถกเถียง work-life balance ยังร้อนแรงไม่หยุด ผู้คนต่างแลกเปลี่ยนและสะท้อนมุมมองผ่านโลกโซเชียล ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่? โดยเฉพาะในโลกการทำงานที่ต้นทุนชีวิตของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน

KEY

POINTS

  • ข้อถกเถียง work-life balance ยังร้อนแรงไม่หยุด ผู้คนในโลกโซเชียลต่างแลกเปลี่ยนกันว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่? เมื่อต้นทุนชีวิตของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน บริบททางสังคมก็ต่างกัน
  • ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ความสุขและเศรษฐศาสตร์การศึกษา มองว่า work-life balance เป็นเรื่องของคนมีทางเลือก 
  • ขณะที่ ‘ธนา เธียรอัจฉริยะ’ ผู้บริหารชื่อดังและเจ้าของเพจ ‘เขียนไว้ให้เธอ’ มองว่า work-life balance ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละคน แต่ละช่วงวัย ซึ่งวันนี้มนุษย์งานอาจต้องใช้ twists and turns ในโลกการทำงานมากกว่า

หลังจาก “กรุงเทพธุรกิจ” ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ “ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้งบิทคับ ซึ่งในบางช่วงตอนได้มีการกล่าวถึงเรื่อง work-life balance ไว้ว่า “..ผมยังไม่เคยเห็นใครที่ประสบความสำเร็จเกินค่าเฉลี่ยแล้วบอกว่า work-life balance ดีสักคน อย่างคริสเตียโน โรนัลโด (Cristiano Ronaldo) ก็ไปสนามคนแรกและออกจากสนามเป็นคนสุดท้าย หรือ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เขาก็ยังนอนในพื้นโรงงานของตัวเองอยู่เลย

ทั้งนี้ อย่าเปรียบเทียบเวลาของแต่ละคน เพราะมันไม่เหมือนกัน ช่วงชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทั้งหมดอยู่ที่เป้าหมาย และนิยามความสำเร็จของเราว่าคืออะไร..”

จากมุมมองการทำงานของเขาดังกล่าว ทำให้จุดประเด็นข้อถกเถียงถึงแนวคิด work-life balance ในโลกโซเชียลกันอย่างกว้างขวาง บ้างก็เห็นด้วยบ้างก็ไม่เห็นด้วย ขณะเดียวกันก็มีนักคิดนักเขียน นักเศรษฐศาสตร์ และนักธุรกิจชื่อดัง ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ในหลากหลายมุมมองเช่นกัน “กรุงเทพธุรกิจ” ได้รวบรวมความคิดเห็นเหล่านั้นในบางช่วงบางตอนมาให้อ่านกัน ดังนี้

‘ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี’ มอง work-life balance เป็นเรื่องของคนมีทางเลือก 

ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ความสุขและเศรษฐศาสตร์การศึกษาของ Nanyang Technological University ประเทศสิงคโปร์ ได้สะท้อนความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ไว้ว่า ชีวิตการทำงานที่สามารถเลือกได้ว่าจะมี หรือไม่มี work-life balance นั้น เป็นตัวแปรที่สำคัญมากว่าตัวแนวคิด work-life balance เองเสียอีก และบางครั้งอาจนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น

อาจารย์ณัฐวุฒิบอกว่า มีสมการง่ายๆ ของโลกการทำงานคือ 1.คนที่ใช้เวลาทำงานเยอะจะมีรายได้ที่สูงกว่าคนที่ใช้เวลาทำงานน้อยกว่าโดยเฉลี่ย และ 2.คนที่มี work-life balance จะมีความสุขและสุขภาพจิตที่ดีกว่าคนที่ไม่มี work-life balance โดยเฉลี่ย ซึ่งกลุ่มหลังค่อนข้างจะมีพื้นฐานที่ดีหรือต้นทุนชีวิตที่ดีอยู่แล้ว

work life balance เกิดขึ้นได้จริงไหม? เปิดมุมมองนักคิด-นักธุรกิจชื่อดัง  ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์

สิ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมคนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานส่วนใหญ่ ถึงมักจะคิดว่าความสำเร็จของเขานั้นมันมาจากความพยายามเพียงอย่างเดียว ทั้งที่ผู้ประสบความสำเร็จหลายๆ คน โชคดีเกิดมาในครอบครัวที่มี resources สูงๆ มีคนที่สนับสนุนผลักดันให้ประสบกับความสำเร็จในชีวิตได้

พวกเขาเหล่านี้มักจะมีหน้าที่การงานที่มี high control หรือมีความสามารถในการควบคุมเวลาของตัวเองสูง ว่าจะเลือกอะไรระหว่าง “การทำงานเยอะๆ เพื่อความสำเร็จ” หรือ “เลือกที่จะพักผ่อน” ซึ่งถ้าจะเลือกชีวิตที่ไม่มี work-life balance มันก็เป็นเรื่องที่เลือกเอง เพราะให้ความสำคัญต่อความสำเร็จในหน้าที่การงานมากกว่าสุขภาพจิต และถึงแม้ว่าจะมีความเครียดมากกว่าคนที่มี work-life balance อย่างน้อยมันก็เป็นความเครียดที่ตนเลือกเอง

แต่ส่วนคนที่โชคไม่ดีเท่านี้ พวกเขาเกิดมาโดยไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอที่จะผลักดันให้พวกเขาก้าวมามีหน้าที่การงานที่มี high control ได้ พวกเขาส่วนใหญ่ไม่สามารถเลือกได้ระหว่างชีวิตที่มี work-life balance กับชีวิตที่ไม่มี work-life balance ได้ มีเพียงแค่ว่าถ้าเขาไม่ทำงาน เขาก็จะไม่มีรายได้เพียงพอเข้ามาเลี้ยงดูชีวิต 

และถึงแม้ว่าเขาจะทำงานอย่างไม่มี work-life balance เลย รายได้ที่เขาได้ก็ยังไม่สามารถช่วยทำให้เขาขยับตัวไปยังจุดที่เขาสามารถเลือกระหว่าง “ชีวิตที่มี work-life balance” กับ “ชีวิตที่ไม่มี work-life balance” ได้อยู่ดี สำหรับพวกเขา การมีงานที่ได้ค่าตอบแทนดีประมาณหนึ่ง แต่เป็น “งานที่ไม่ไปทำลายชีวิตนอกการทำงานของเขา” จึงเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ

ในกลุ่มคนที่สามารถเลือกได้ว่าจะมีหรือไม่มี work-life balance นั้น ส่วนใหญ่มักจะลืมไปว่าโชคชะตานั้นสำคัญกว่าความพยายาม ที่ทำให้ตัวเขามายืนอยู่ ณ จุดที่ทำให้เขามีตัวเลือกตัวนั้นได้ เพราะฉะนั้นความเชื่อที่ว่า “ถ้าคุณเลือกชีวิตที่มี work-life balance ล่ะก็ คุณจะไม่ประสบกับความสำเร็จในหน้าที่การงาน” นั้น มันก็ไม่ต่างอะไรจากความเชื่อที่ว่า “ที่ฉันประสบกับความสำเร็จในชีวิตของฉันได้ก็เพราะฉันพยายาม ถ้าคุณจนหรือไม่ประสบกับความสำเร็จในชีวิต มันก็แสดงว่าคุณขี้เกียจหรือคุณยังพยายามไม่พอ” ซึ่งเป็นความเชื่อที่ทำให้ประเทศของเรายังคงมีความเหลื่อมล้ำที่สูงมากๆ ประเทศหนึ่งของโลก 

คงจะตรงไปตรงมามากกว่า ถ้าเรามีความเชื่อว่า "โอ้ เราโชคดีนะที่เกิดมามีทรัพยากรที่เพียงพอที่ช่วยทำให้ความพยายามของเรา translate มาเป็นความสำเร็จในชีวิตของเราได้ แต่มันมีอีกหลายคนมากๆ ที่เกิดมาโชคไม่ดี ที่ทำให้ความพยายามของเขาไม่สามารถ translate ไปเป็นความสำเร็จได้" เพราะฉะนั้น เราก็ควรจะทำอะไรก็ได้เพื่อที่จะลด opportunity gap ให้กับคนเหล่านั้น ประเทศของเราก็จะน่าอยู่ขึ้นเยอะกว่าที่เป็นอยู่นี้มาก

‘ธนา เธียรอัจฉริยะ’ ผู้บริหารชื่อดัง มองว่า work-life balance ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละคน แต่ในอนาคตมนุษย์งานอาจต้องใช้ twists and turns มากกว่า

ธนา สะท้อนมุมมองส่วนตัวผ่านเพจ ‘เขียนไว้ให้เธอ’ ว่า หากเป็นคนวัยใกล้เกษียณ มีเงินเก็บประมาณหนึ่ง และมีเป้าหมายเรื่องสุขภาพอย่างตนเอง ก็คงเลือก Life มากกว่า Work แต่ขณะที่คนหนุ่มสาววัยทำงานที่ยังเปี่ยมด้วยฮอร์โมน มีความฝัน มีความทะเยอทะยาน หรือยังปากกัดตีนถีบอยู่ ก็ต้อง work หนักเพื่อเอาตัวรอด เพื่อก้าวหน้า หรือเพื่อยกสถานะตัวเองให้อยู่รอดได้ในระยะยาว 

work life balance เกิดขึ้นได้จริงไหม? เปิดมุมมองนักคิด-นักธุรกิจชื่อดัง   ธนา เธียรอัจฉริยะ ผู้บริหารบลูบิค และเจ้าของเพจ ‘เขียนไว้ให้เธอ’

แต่ขณะเดียวกัน การทำงานและการใช้ชีวิตของเด็กรุ่นนี้ยากกว่าคนรุ่นก่อนมาก เพราะเกิดมาในยุคที่เศรษฐกิจไม่ดี แล้วยังเจอ tech disruption เจอการแข่งขันจากต่างชาติอีก การหางานก็ยาก การเติบโตก็ยาก ค่าครองชีพก็สูงขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

หลายคนไม่อยากมีครอบครัว ไม่อยากมีลูก เพราะไม่รู้ว่าจะหารายได้พอได้ยังไง บางคนมีภาระทางบ้านเยอะมาก ไม่มีใครคิดหรือตั้งคำถามเรื่อง work-life balance เลย เพราะยังไม่มีทางเลือกอะไรนอกจากจะพยายามไต่บันไดบริษัทและหาทางได้เงินเดือนมากขึ้นอีกนิดเพื่อเอาตัวรอด work-life balance จึงอยู่ในบางบทสนทนาของคนบางคนและไม่อยู่ในบทสนทนาของคนอีกหลายคน

ส่วนตัวมองว่าในโลกการทำงานในอนาคต อาจต้องใช้ทักษะ twists and turns มากกว่า เพราะโลกในวันนี้และวันข้างหน้าจะมีการหักมุม หักศอก จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ 3 เรื่องหลัก คือ AI และเทคฯ, เรื่องสภาวะโลกร้อน, เรื่องสงครามในรูปแบบใหม่ๆ วัยทำงานจึงต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวและรับมือได้รวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมไว้เสมอ เพื่อช่วยในการตัดสินใจเมื่อชีวิตถึงทางแยก ดังนั้น work-life balance จึงอาจไม่ตอบโจทย์ในตอนนี้ 

‘สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์’ นักคิดนักเขียน เจ้าของนามปากกา ‘นิ้วกลม’ มองว่า work-life balance เปลี่ยนไปตามยุคสมัย และไม่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน

สราวุธ อธิบายว่า ช่วงที่สถานการณ์​โลกยากลำบาก ความคิดแบบ work-life balance ไม่ถูกพูดถึงนัก คนในเจเนอเรชันหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มีฐานะยากจนถึงกลางๆ เน้น 'work' เพื่อเอาตัวรอด ทำงานหนัก เก็บออม เลี้ยงครอบครัว เริ่มทำงานตั้งแต่วัยรุ่นจนแก่ เกิดเป็นวัฒนธรรม​ที่เน้นการทำงานและความขยัน แต่ต่อมาวัฒนธรรม​นี้ก็คลายความเคร่งลงไปตามกาลเวลา 

ในสังคมที่ 'กำลังพัฒนา'​ มักเป็นกลุ่มที่มีค่านิยม 'work hard' ส่วนสังคมที่ทำงานหนักจนซึมเศร้า​ สโตรก หัวใจวาย ก็หันมาให้ความสำคัญ​กับ 'balance' ซึ่งส่วนมากก็คือสังคม 'พัฒนา​แล้ว'​ ที่พูดเรื่องสมดุลกันเยอะขึ้น เพราะความเป็นอยู่ดีแล้ว คนในชนชั้นที่มีเงินจะพูดเรื่องสมดุลมากกว่าคนปากกัดตีนถีบ

work life balance เกิดขึ้นได้จริงไหม? เปิดมุมมองนักคิด-นักธุรกิจชื่อดัง  สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักคิดนักเขียน เจ้าของนามปากกา ‘นิ้วกลม’

ยิ่งหากแยกย่อยรายละเอียดชีวิตและการทำงานของคนแต่ละเจนเนอเรชัน (Boomer / Gen X / Gen Y/ Gen Z) ก็จะเห็นว่ามีบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และความเปลี่ยนแปลงของโลกที่คนแต่ละรุ่นเจอมาไม่เหมือนกัน กล่าวคือ รุ่น Boomer ที่รวยมาได้จากการทำงานหนัก ก็มักคาดหวังและพร่ำสอนคนที่ยังไม่รวย ยังไม่สำเร็จ ให้ทำงานหนักจะได้พลิกชีวิตแบบตนเองได้ ซึ่งไม่แปลก ในเมื่อพวกเขาพิสูจน์​มาแล้วด้วยประสบการณ์​ส่วนตัว 

ขณะที่ Gen X จะมองหา work-life balance เยอะขึ้น เพราะมองว่าจะทำงานหนักไปทำไม ที่บ้านก็พอมีกินมีใช้แล้ว โลกก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงเร็ว แต่พอมาถึง Gen Y เป็นรุ่นที่อยากบาลานซ์ให้ได้แบบ X แต่โลกเปลี่ยนเร็วมาก เลยต้องเรียนรู้หนักขึ้นแบบ life long learning แน่นอนว่าเหนื่อย อยากหยุด work แต่ทำไม่ได้ เศรษฐกิจ​ก็ไม่ดีเท่าคนรุ่น X 

ส่วนคนรุ่น Z เกิดมาเจอโลกคนละใบกับคนรุ่นก่อนๆ โครงสร้างเศรษฐกิจ​สังคมการเมืองแข็งตัวมาก สร้างความเหลื่อมล้ำไปทั่ว โอกาสของคนไม่เท่ากันแบบเห็นชัดๆ ลูกคนรวย ชาติตระกูลดี มีเส้นสาย ต่อให้ทำงานหนักน้อยกว่าก็สำเร็จในชีวิตได้ ส่วนคนจนทำงานสายตัวแทบขาดก็ไม่เจริญ​ก้าวหน้าในชีวิตมากเท่า บางส่วนอาจ burnout เหนื่อยล้าจากความพยายาม ไม่เชื่อในการทำงานหนักอีกต่อไป 

เมื่อสังคมซับซ้อน​ขึ้น ลำพังค่านิยมเดียวจึงไม่ตอบโจทย์คนทุกรุ่น ทุกฐานะ ทุกวัย ทุกชนชั้น อีกต่อไป สุดท้ายจึงน่าคิดว่า เวลาเราพูดถึง work-life balance เรากำลังพูดในจุดที่ยืนอยู่ในสถานะไหน ยุคไหน ในสังคมแบบไหน ในเมื่อโลกวันนี้กำลังหมุนไวมาก คนที่หมุนตามโลกทัน มีโอกาสดีกว่า ก็จะกอบโกยโอกาสนี้เข้าตัวได้ แต่คนที่ไม่มีโอกาส เข้าไม่ถึงโอกาส ต่อให้ทำงานหนักก็อาจตกขบวนอยู่ดี

ความกดดันนี้จึงอาจเป็นอีกเหตผลที่ work-life balance ถูกพูดถึงอีกครั้ง แต่มันจะถูกพูดในเชิงว่า สิ้นหวังกับการสร้างสมดุลชีวิตและการงานมากขึ้นเรื่อยๆ 

work-life balance    เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้ง Amazon

‘เจฟฟ์ เบซอส’ ผู้ก่อตั้ง Amazon ไม่เชื่อในแนวคิด work-life balance

เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้ง Amazon แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับโลก คัดค้านแนวคิด work-life balance มาแต่ไหนแต่ไร เขาไม่ให้ความสำคัญกับคำกล่าวนี้ แต่เขากลับเชื่อในแนวคิด “การทำงานและชีวิตเป็นวงกลม” หรือที่เรียกว่า Work-Life Harmony ซึ่งมีความหมายว่า “ชีวิตและการทำงานผสมผสานเป็นหนึ่งเดียวกัน” มากกว่า

“ผมมักถูกถามเกี่ยวกับความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน และมุมมองของผมคือ Work-life Balance นั้นเป็นวลีที่บั่นทอนกำลังใจ เป็นความพยายามแบ่งเวลางานออกจากเวลาส่วนตัว และมันแสดงถึงการแลกเปลี่ยนที่เข้มงวด” 

ผู้ก่อตั้งบริษัทอเมซอน มองว่า ชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวทำงานประสานกัน มีผลต่อกันและกัน โดยที่ไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ เมื่อคนคนหนึ่งสามารถมีความสุขในการทำงานทุกวัน เขาก็จะกลับบ้านอย่างมีความสุข ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ และยิ่งเขามีความสุขมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานดีเยี่ยมขึ้นมากเท่านั้น นั่นจึงเป็นการผสานรวมกันระหว่างเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว มันคือชีวิตที่ประสานกันเป็นวงกลม ไม่ใช่การสร้างสมดุล

work-life balance  อีลอน มัสก์ ซีอีโอบริษัท Tesla, SpaceX, The Boring Company และ X (ทวิตเตอร์)

‘อีลอน มัสก์’ มหาเศรษฐีเจ้าของแบรนด์รถไฟฟ้า TESLA เชื่อใน “การทํางานหนักเหมือนตกนรก” 

อีลอน มัสก์ นักลงทุนและผู้บริหารผู้มั่งคั่ง ซึ่งเป็นซีอีโอของบริษัท Tesla, SpaceX, The Boring Company และ X (ทวิตเตอร์) ได้แชร์หลักการทำงานของเขาเพื่อให้ประสบความสำเร็จไว้หลายอย่าง แต่แนวคิดหลักๆ ที่สำคัญที่สุดนั้น เขาบอกว่า หากคุณเป็นผู้ร่วมก่อตั้งหรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) คุณต้องทํางานทุกประเภทที่คุณอาจจะไม่อยากทำ ไม่เช่นนั้นบริษัทก็จะไม่ประสบความสำเร็จ และเสริมว่า “แค่ทํางานให้หนักเหมือนตกนรกเข้าไว้” 

โดยมัสก์ ระบุอีกว่า ถ้าคนอื่นทํางานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง ขณะที่คุณทํางานสัปดาห์ละ 100 ชั่วโมง แม้ว่าจะทําสิ่งเดียวกัน แต่รับรองได้เลยว่าคุณจะใช้เวลาเพียงแค่ 4 เดือนในการประสบความสำเร็จ ส่วนคนอื่นอาจใช้เป็นปี “สิ่งหนึ่งที่เราทุกคนควบคุมได้คือความพยายามของเราเอง”

นอกจากนี้เขายังบอกอีกว่า การทำงานให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องสร้างเป้าหมายที่น่าดึงดูดใจในการจะพัฒนาบริษัทไปในทางนั้น ต้องเชื่อว่าตัวเองมีศักยภาพที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อบริษัท และต้องสร้างกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น อย่านำระบบหรือแบบแผนมาใช้มากเกินไป เมื่อติดอยู่กับระบบ ก็จะไปบั่นทอนความคิดและไอเดียต่างๆ ลดลง “กระบวนการหรือระบบบางอย่างเป็นตัวยับยั้งไม่ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ ในองค์กร”

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงความคิดเห็นจากนักวิชาการ นักคิดนักเขียน และนักธุรกิจเพียงบางส่วนเท่านั้น สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะมี work-life balance หรือไม่ ก็คงเป็นเรื่องส่วนบุคคล และไม่สามารถจะใช้เป็นสูตรสำเร็จในการดำเนินชีวิตของทุกๆ คนได้เหมือนกัน