สาว Gen Z ถูกเหยียดอายุจนต้องลาออก สะท้อนปัญหาชายเป็นใหญ่ในออฟฟิศ

สาว Gen Z ถูกเหยียดอายุจนต้องลาออก สะท้อนปัญหาชายเป็นใหญ่ในออฟฟิศ

สาว Gen Z ถูกเหยียดอายุ-เหยียดเพศ ในที่ทำงานจนต้องลาออก หลังทำงานได้เพียง 18 เดือน สะท้อนวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่ยังครองระบบการทำงานไปทั่วโลก

KEY

POINTS

  • วัยทำงานรุ่น Gen Z เพศหญิง มักไม่ได้รับความร่วมมือจากเพื่อนร่วมงานผู้ชายที่อายุมากกว่า ทำให้พวกเธอรู้สึกพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงในการทำงาน วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ขัดขวางการเติบโตทางอาชีพ
  • วิจัยใหม่ล่าสุดจาก LeanIn และ McKinsey & Co. เผยว่า 49% ของผู้หญิงวัย 20 ปี และ 37% ของผู้หญิงวัย 30 ปี เป็นสองกลุ่มวัยทำงานที่โดนเหยียดอายุ เหยียดเพศ มากที่สุด ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่ออาชีพการงาน
  • คนรุ่น Gen Z มักจะมีความทะเยอทะยานสูงตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นทำงาน และต้องการเติบโตในอาชีพการงานเร็วกว่าคนรุ่นก่อนๆ  ทำให้วัยทำงานรุ่นใหญ่ มักเหยียดอายุกับวัยทำงานผู้หญิงอายุน้อย

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าแม้แต่ในยุคสมัยนี้ ก็ยังพบเห็นการ เหยียดเพศ เหยียดอายุ อยู่เสมอในสถานที่ทำงาน ยิ่งถ้าหากคุณเป็น “ผู้หญิง” และเป็น “วัยทำงานอายุน้อย” แล้วดันได้งานในออฟฟิศที่มีแต่ชายแท้รุ่นใหญ่ บางคนก็เป็นคนเก่าคนแก่ของบริษัทมายาวนาน ..สังคมแบบนี้คุณอาจเอาตัวไม่รอด!

ยกตัวอย่างเคสของ คอร์ตนีย์ แชตเตอร์ตัน (Courtney Chatterton) หญิงสาววัยทำงานรุ่น Gen Z วัย 27 ปี เปิดเผยถึงประสบการณ์การทำงานของเธอผ่านสำนักข่าว CNBC ว่า หลังเธอเรียนจบได้ไม่นาน ก็ได้งานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการการตลาด ที่บริษัทเทคโนโลยีสตาร์ทอัพเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา แต่เธอต้องเผชิญกับการเหยียดอายุและเพศของเธอในที่ทำงานมากมาย จนทำให้เธอมีภาวะหมดไฟ (Burnout) และลาออกจากงานในที่สุด

สังคมชายเป็นใหญ่ในที่ทำงาน กระทบคนรุ่น Gen Z เพศหญิง ไม่ก้าวหน้าในอาชีพ

“ฉันทำงานกับคนที่อายุมากกว่าฉัน 10-15 ปี บางครั้งหัวหน้ามอบหมายให้ฉันเป็นผู้นำโครงการหรือโปรเจกต์ใหม่ แต่เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ (ที่อายุมากกว่า) กลับเมินเฉยใส่ฉันอยู่เสมอ และการตัดสินใจเรื่องงานของฉันมักถูกตั้งคำถาม ไม่ได้รับความร่วมมือ ทำให้รู้สึกพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง” แชตเตอร์ตัน กล่าว

เธอมักรู้สึกว่าตัวเองถูกมองข้ามในที่ทำงาน เนื่องจากเหตุผลด้านอายุและเพศของเธอ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการที่เธอทำงานในสภาพแวดล้อมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ และเธอเป็นพนักงานที่อายุน้อยที่สุด หลังจากทำงานมาได้ 18 เดือน เธอก็ตัดสินใจลาออก

“การเหยียดเพศ-เหยียดอายุ” ไม่ใช่เพิ่งจะมีในยุคสมัยนี้แต่มีมานานแล้ว เพียงแต่ในยุคก่อนๆ กลุ่มวัยทำงานที่เป็นผู้หญิงสูงวัย มักจะถูกเหยียดมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ในสถานที่ทำงาน พวกเธอต้องเผชิญกับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมตามอายุมากที่สุด อย่างไรก็ตาม มีการวิจัยใหม่ล่าสุดจาก LeanIn และ McKinsey & Co. แสดงให้เห็นว่า “ในยุคนี้ผู้หญิงอายุน้อยมีแนวโน้มที่จะถูกเหยียดอายุในที่ทำงานมากกว่าวัยทำงานรุ่นก่อนๆ ”  

สาว Gen Z ถูกเหยียดอายุจนต้องลาออก สะท้อนปัญหาชายเป็นใหญ่ในออฟฟิศ

วิจัยเผย ผู้หญิงอายุน้อยเกือบ 50% ถูกเหยียดอายุในที่ทำงาน

ในรายงานผลวิจัยดังกล่าวระบุอีกว่า การเลือกปฏิบัติทางอายุส่งผลกระทบต่อพนักงานในอัตราที่ใกล้เคียงกันทั้งผู้หญิงและผู้ชาย อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้หญิงในวัย 20-30 ปี มักจะถูกเลือกปฏิบัติทางอายุมากกว่า กลุ่มเพื่อนร่วมงานผู้หญิงที่มีอายุมาก และกลุ่มเพื่อนร่วมงานผู้ชายอายุน้อย ในที่ทำงานบริษัทเดียวกัน

โดยผู้หญิงที่มีอายุ 20 ปี ในสัดส่วนสูงถึง 49% และ ผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปี ในสัดส่วน 37% รายงานว่า อายุของตนส่งผลกระทบเชิงลบต่ออาชีพการงานของตน เมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปี และผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปี อีกทั้งพวกเธอมักถูกเพื่อนร่วมงานคนอื่นเหยียดใส่มากกว่ากลุ่มวัยทำงานผู้ชายในรุ่นเดียวกันอีกด้วย

สาเหตุที่ทำให้วัยทำงานผู้หญิง Gen Z ช่วงวัย 20-30 ปี โดนเหยียดเพศ-เหยียดอายุ มากกว่าวัยทำงานกลุ่มอื่น จนทำให้พวกเธอไม่ได้รับโอกาสเป็นผู้นำทีม หรือผู้นำโครงการ สถานการณ์นี้ทีมวิจัยมองว่าอาจเกิดจากความเชื่อดั้งเดิมที่ฝังรากลึกว่า “ผู้หญิงอายุน้อยยังไม่พร้อมที่จะทำงานนั้น” บางครั้งอาจรวมถึงการล้อเลียนรูปร่างหน้าตาและล้อเลียนประสบการณ์ที่ไม่เพียงพอของพวกเธอด้วย

Gen Z มีความทะเยอทะยานมากขึ้น แต่กลับมีผู้สนับสนุนน้อยลง

เอพริล ลิตเติ้ล (April Little) วัย 37 ปี จำได้ว่าในอดีตช่วงที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ เธอทำงานในฝ่าย HR ตำแหน่งผู้สรรหา เธอเคยถูกเพื่อนร่วมงานหาว่าเธอทะเยอทะยานมากเกินไป หลังจากที่เธอพยายามจะไต่เต้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นในวัย 20 ปี โดยตอนนั้นเธอขอโอกาสพัฒนาตนเองในสายงานหรือขอเปลี่ยนตำแหน่ง แต่เธอกลับถูกเจ้านายปฏิเสธและบอกว่าเธอต้อง “พิสูจน์ความสามารถ” ของตัวเอง ในทางกลับกัน เพื่อนร่วมงานชายของเธอที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเธอ กลับได้รับตำแหน่งนั้นไปแทน

“ฉันจำได้ว่าพนักงานชายหลายคนที่ฉันเคยทำงานด้วย พวกเขาเข้าทำงานในบริษัทแห่งนั้นได้เพราะมีคนแนะนำ และมีเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ชายอายุมากกว่าคอยเป็นที่ปรึกษาให้ การสนับสนุนดังกล่าวสามารถช่วยปกป้องพวกเขาจากการถูกเลือกปฏิบัติหรือจากการเหยียดอายุได้” ลิตเติ้ล (ปัจจุบันเป็นโค้ชด้านการสื่อสารระดับผู้บริหาร) บอกเล่าถึงประสบการณ์ของเธอ

นอกจากนี้ ในรายงานวิจัยของ LeanIn และ McKinsey ยังพบอีกว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการน้อยกว่าผู้ชาย ซึ่งมักเกิดจากการขาดผู้สนับสนุนของเพื่อนร่วมงานรุ่นใหญ่ ที่จะช่วยให้ผู้หญิงอายุน้อยได้ตำแหน่งงานสำคัญเหล่านี้

เรเชล โทมัส (Rachel Thomas) ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ LeanIn อธิบายว่า ผู้ใหญ่ในองค์กรมักจะส่งเสริมผู้ชายตามศักยภาพของพวกเขา และส่งเสริมผู้หญิงตามสิ่งที่พวกเขาประสบความสำเร็จแล้ว บ่อยครั้งที่ผู้หญิงวัยรุ่นต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายที่ขัดขวางความก้าวหน้าในอาชีพการงาน

สาว Gen Z ถูกเหยียดอายุจนต้องลาออก สะท้อนปัญหาชายเป็นใหญ่ในออฟฟิศ

การเหยียดเพศ เป็นปัญหาที่ผู้หญิงรุ่น Gen Z มักต้องเผชิญในที่ทำงาน

โทมัส อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้หญิงต้องเผชิญกับปัญหาการเหยียดเพศในทุกช่วงวัยตลอดอาชีพการงานของพวกเธอ โดยเฉพาะผู้หญิงวัยรุ่นอาจเผชิญกับอุปสรรคในการเลื่อนตำแหน่งมากที่สุด เพราะผู้จัดการมองว่าพวกเธอไม่มีประสบการณ์เพียงพอ ในขณะที่ผู้หญิงวัยกลางคนก็ถูกเหยียดอายุเช่นกัน โดยมักถูกมองว่ามีความรับผิดชอบในการดูแลทางบ้าน (สามี,ลูก,พ่อแม่วัยชรา) มากเกินไป แต่สำหรับหญิงรุ่นใหญ่วัย 40-50 ปีขึ้นไป ถูกเลือกปฏิบัติน้อยกว่ารุ่นอื่นๆ เพราะพวกเธอมีประสบการณ์สูง มีความอาวุโส และมีเครือข่ายทางอาชีพที่มากกว่า ซึ่งสามารถปกป้องพวกเธอจากอคติเหล่านี้ได้

ด้าน เอมิลี เลวีน (Emily Levine) รองประธานบริหารบริษัทจัดหางานและที่ปรึกษา Career Group Cos. กล่าวว่า การโดนเหยียดอายุของกลุ่มผู้หญิงที่อายุน้อย ที่มีอัตราสูงกว่ากลุ่มผู้หญิงอายุมากนั้น อาจเป็นผลมาจากความคิดและทัศนคติของคนแต่ละเจนเนอเรชันมีความแตกต่างกัน

“คนรุ่น Gen Z มักจะมีความทะเยอทะยานสูงตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นทำงาน และต้องการเติบโตในอาชีพการงานเร็วกว่าคนรุ่นก่อนๆ มาก นั่นเป็นปัจจัยที่ทำให้วัยทำงานรุ่นใหญ่ มักเหยียดอายุใส่กลุ่มวัยทำงานผู้หญิงอายุน้อย และเมื่อสาว Gen Z ถูกปฏิเสธโอกาสที่จะเติบโตในหน้าที่ พวกเธออาจคิดว่าเป็นเพราะอายุ แทนที่จะเป็นเพราะความสามารถ” เลวีนกล่าว

ทางออกของปัญหานี้ เรเชล โทมัส ให้ความเห็นว่า บริษัทควรเปิดกว้างและสร้างความเท่าเทียมเรื่องเพศและอายุของพนักงาน อาจเริ่มจากการจับคู่วัยทำงานหญิงอายุน้อยกับที่ปรึกษาในองค์กร และสร้างวัฒนธรรมที่สนับสนุนความร่วมมือของพนักงานทุกๆ เจนเนอเรชัน สิ่งนี้จะช่วยลดการเลือกปฏิบัติทางอายุในที่ทำงานได้ในที่สุด