เปลี่ยนงานบ่อยรวยเร็วกว่า วิจัยเผย Gen Z มองความภักดีอาจไม่จำเป็น?!
เปลี่ยนงานใหม่รวยเร็วกว่า วิจัยเผย คนรุ่นมิลเลนเนียล หรือ Gen Y รวมถึงชาว Gen Z ไม่ขอทำงานที่เดิมนานๆ สมัยนี้ความภักดีต่อองค์กรอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป?!
KEY
POINTS
- ความภักดีต่อองค์กรอาจไม่สำคัญต่อวัยทำงานรุ่นใหม่อีกต่อไป เมื่อหนุ่มสาวชาว Millenial และ Gen Z นิยมเปลี่ยนงานบ่อย เพราะได้เงินเดือนสูงเร็วกว่าอยู่ที่เดิม
- วิจัยเผย มีพนักงานคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 30 ปีหรือน้อยกว่าเพียง 18% เท่านั้น ที่แสดงความสนใจอย่างยิ่งที่จะทำงานกับบริษัทในระยะยาว
- ผู้เชี่ยวชาญด้าน HR ชี้ ความภักดีต่อองค์กรอาจไม่คุ้มค่าต่อวัยทำงานที่เพิ่งเริ่มต้นอาชีพ การย้ายงานบ่อยทำให้ได้เงินเดือนสูงกว่า แต่ขณะเดียวกันหากเปลี่ยนบ่อยเกินไปก็อาจกลายเป็นดาบสองคม
ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคล (HR) หลายคนเห็นตรงกันว่า ค่านิยมใหม่ในโลกทำงานยุคนี้ ความภักดีต่อองค์กรอาจไม่สำคัญต่อวัยทำงานรุ่นใหม่อีกต่อไป เมื่อหนุ่มสาวชาว Millenial และ Gen Z นิยมเปลี่ยนงานบ่อยขึ้นเรื่อยๆ เพราะพวกเขามองว่าเป็นวิธีที่จะได้เงินเดือนสูงขึ้นเร็วกว่า
ยืนยันจากข้อมูลการศึกษาวิจัยของ WorkProud แพลตฟอร์มแชร์ประสบการณ์ในที่ทำงานและวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 พบว่า มีพนักงานคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 30 ปีหรือน้อยกว่าเพียง 18% เท่านั้น ที่แสดงความสนใจอย่างยิ่งที่จะทำงานกับบริษัทในระยะยาว นั่นก็แปลว่า พนักงานคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่กว่า 8 ใน 10 ไม่สนใจที่จะทำงานกับบริษัทเดิมในระยะยาวเลย
ในทำนองเดียวกัน มีรายงานข้อมูลจาก Wealth & Wellbeing Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Endowus และ Intellect (บริษัทด้านฟินเทคในสิงคโปร์ร่วมกับแพลตฟอร์มให้บริการดูแลสุขภาพจิตของพนักงาน) พวกเขาสำรวจพนักงานกลุ่มตัวอย่าง 1,000 คน และพบว่า
พนักงานกลุ่ม Gen Z และ Millennial มากถึง 43% ในฮ่องกงและสิงคโปร์ มีความคิดที่จะลาออกจากงานบ่อยครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะลาออกอย่างมีนัยสำคัญ
เนื่องจากพนักงานรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน (work-life balance) และวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อความสมดุลนั้นมากขึ้น นายจ้างยุคนี้จึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการ-ความคาดหวัง ที่เปลี่ยนไปของวัยทำงานกลุ่มนี้
ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ Gen Y Gen X มองว่าความภักดีต่อองค์กรไม่คุ้มค่า
แล้วความภักดีต่อองค์กรยังคุ้มค่าอยู่ไหมในโลกการทำงานสมัยนี้? ผู้เชี่ยวชาญอย่าง เจอโรม ซาปาต้า (Jerome Zapata) ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ Kickstart Ventures ให้คำตอบสั้นๆ ว่า “ไม่คุ้ม”
เขาอธิบายเพิ่มว่า พนักงานที่เปลี่ยนงานบ่อยมักจะได้รับค่าตอบแทน (จากบริษัทใหม่) ที่ดีกว่าแบบก้าวกระโดด เพราะอยู่ในจุดที่สามารถเจรจาต่อรองเงินเดือนได้ มีค่าประสบการณ์ในการทำงานมาจากที่อื่นแล้ว เมื่อเทียบกับพนักงานที่ยังทำงานอยู่ในบริษัทเดิมพบว่า การปรับขึ้นเงินเดือนแต่ละปีจะได้เงินเพิ่มแค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น
“คนทำงานยุคก่อนๆ หากคุณภักดีต่อองค์กร ทำงานที่เดิมนานหลายสิบปี องค์กรจะดูแลคุณไปตลอดชีวิต แต่ตัดภาพมาในตอนนี้ สวัสดิการเกษียณของคนยุคนี้กลับไม่เพียงพอที่จะดูแลพวกเขาได้แล้ว” ซาปาตากล่าว
นอกจากนี้ การเปลี่ยนงานบ่อยในช่วงเริ่มต้นอาชีพ ทำให้วัยทำงานหนุ่มสาวมีความ “ได้เปรียบ” มากกว่า เพราะพวกเขายังอยู่ในวัยที่กระตือรือร้น มีความรับผิดชอบสูง หรือมุมมองการทำงานใหม่ๆ มากกว่าคนรุ่นก่อน
ระวัง! การเปลี่ยนงานบ่อยๆ อาจกลายเป็นดาบสองคม
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนงานบ่อยๆ อาจกลายเป็นดาบสองคมได้ แม้ว่าการเปลี่ยนงานบ่อยครั้งจะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในหมู่วัยทำงานหนุ่มสาว Gen Y Gen Z ที่เพิ่งเริ่มต้นอาชีพได้ไม่นาน แต่สำหรับวัฒนธรรมองค์กรของหลายๆ แห่ง (โดยเฉพาะองค์กรที่เก่าแก่) ผู้บริหารระดับสูงมักจะต้องการพนักงานที่มีความภักดีที่พิสูจน์ได้ นี่ถือเป็นคุณสมบัติสำคัญที่พวกเขามองหา
สุมิตะ ทันดอน (Sumita Tandon) ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Linkedin ให้ความเห็นผ่าน CNBC Make It ว่า พนักงานคนรุ่นใหม่ควรชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสียของการเปลี่ยนงานบ่อยๆ แม้ว่าจะช่วยให้ปรับฐานเงินเดือนสูงได้อย่างก้าวกระโดด แต่หากทำบ่อยเกินไปก็อาจเสี่ยงที่จะไม่ได้งาน เพราะหลายๆ บริษัทมองว่าหากรับเข้ามาก็จะอยู่ไม่นาน และพวกเขาไม่อยากลงทุนกับบุคคลากรประเภทนี้
เอาเป็นว่าก่อนที่จะตัดสินใจลาออกจากบริษัทเดิมเพื่อไปหางานบริษัทใหม่ ทันดอน ให้คำแนะนำกับวัยทำงานรุ่นใหม่ว่า ควรตรวจสอบดูก่อนว่าตัวเรานั้นสามารถเติบโตในอาชีพการงานจากภายในองค์กรปัจจุบันได้หรือไม่ เช่น การรับงานโปรเจ็กต์ใหม่ในกรอบเนื้องานที่แตกต่างจากเดิม หรือการรับตำแหน่งที่ปรึกษาหรือหัวหน้าทีมได้หรือไม่ เป็นต้น
เปิดเคสสาว Gen Z ย้ายงาน 3 บริษัทภายใน 5 ปี เพราะงานแรกได้เงินเดือนไม่พอใช้
แต่ในมุมของวัยทำงานคนรุ่นใหม่อย่าง เวร่า เลา (Vera Lau) วัย 27 ปี ผู้ซึ่งเปลี่ยนสถานที่ทำงานมาแล้ว 3 บริษัทในช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เรียนจบ เธอเป็นส่วนหนึ่งของคนรุ่นที่ท้าทายแนวคิดเรื่องความภักดีต่อองค์กร เธอเล่าว่าทัศนคติของคนรุ่นเธอต่อการทำงานเปลี่ยนไปจากคนรุ่นก่อนๆ ชีวิตของพวกเธอไม่ได้ขึ้นอยู่กับงานอีกต่อไป และเงินเดือนเริ่มต้นที่ได้มายังไม่พอจ่ายบิลต่างๆ รายเดือนหรือผ่อนบ้านด้วยซ้ำ
“ฉันไม่คิดว่าความภักดีต่อองค์กรจะคุ้มค่า มันเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน คุณจะมีค่าก็ต่อเมื่อพวกเขาเห็นว่าคุณมีค่าเท่านั้น หากคุณไม่ได้เรียนรู้อะไรจากที่นั่นและไม่ได้รับผลตอบแทนที่ดี ก็ถึงเวลาที่จะต้องไป” เวร่า เลา อธิบาย แล้วบอกอีกว่า การที่เธอตัดสินใจเปลี่ยนงานบ่อยถึง 3 งานนั้น ตอบโจทย์ตัวเธอทั้งในทางวิชาชีพและในความต้องการเรื่องเงินเดือน มันทำให้เธอมีรายได้มากขึ้น เป็นคนทำงานที่ดีขึ้น มีมุมมองที่กว้างไกลมากขึ้น มั่นใจมากขึ้น เป็นต้น
แต่ในด้านอารมณ์และสังคม คนที่เปลี่ยนงานบ่อยต้องทำใจไว้เลย เพราะจะมีคนดูถูกและตัดสินตัวเรามากมาย เช่น ไม่สู้งานบ้าง อ่อนแอบ้าง เปราะบางเกินไปบ้าง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จึงส่งผลกระทบเชิงลบต่อจิตใจได้ แต่อย่างไรก็ตาม เวร่า เลา มองว่าเทรนด์นี้จะกลายเป็นกระแสหลักในอนาคต คนรุ่นใหม่จะเข้ามาเปลี่ยนวิถีการทำงานแบบใหม่ๆ สุดท้ายแล้วคนรุ่นก่อนก็ต้องเกษียณออกไปพร้อมกับแนวคิดแบบดั้งเดิม
ท้ายในสุด ในมุมของผู้เชี่ยวชาญด้าน HR ทันดอนเสริมว่า ในโลกที่วัฒนธรรมองค์กรกำลังถูกกำหนดความหมายใหม่โดยคนรุ่นใหม่ที่มองว่าความภักดีต่อองค์กรไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อพวกเขา บริษัทต่างๆ สามารถรักษาบุคลากรที่มีความสามารถไว้ได้โดยเสนอสิ่งที่ดีกว่าให้กับพนักงานของตน ตั้งแต่การจ่ายค่าตอบแทนที่แข่งขันได้ ไปจนถึงการให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานด้วยการเสนอความยืดหยุ่นมากขึ้น