พนักงานในลอนดอนเข้าออฟฟิศแค่ 2.7 วัน/สัปดาห์ เหตุรถติด-อยากเซฟค่าเดินทาง

พนักงานในลอนดอนเข้าออฟฟิศแค่ 2.7 วัน/สัปดาห์ เหตุรถติด-อยากเซฟค่าเดินทาง

วัยทำงานชาวลอนดอนไม่ชอบไปทำงานในออฟฟิศ เพราะอยากประหยัดค่าเดินทาง และมองว่าการเดินทางฝ่ารถติดก็ยิ่งเสียเวลาทำงาน

KEY

POINTS

  • ศูนย์วิจัยเมือง (Centre for Cities) เผย วัยทำงานชาวลอนดอนเข้าทำงานในออฟฟิศน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของพนักงานในเมืองใหญ่แห่งอื่นๆ ในโลก
  • ปรากฏการณ์นี้อาจทำให้ลอนดอนขาดความน่าดึงดูดใจ ในฐานะจุดหมายปลายทางการลงทุนระดับนานาชาติ และทำให้เมืองนี้เสียเปรียบทางการแข่งขัน
  • สาเหตุที่ทำให้วัยทำงานชาวลอนดอนไม่อยากกลับเข้าทำงานในออฟฟิศ ก็คือ อยากประหยัดค่าเดินทาง และไม่อยากเสียเวลาไปกับการฝ่ารถติดหนักในย่านกลางเมือง

เทรนด์การทำงานแบบไฮบริดยังคงพบเห็นได้ทั่วไปในสถานที่ทำงานของเมืองใหญ่ทั่วโลก โดยทั่วไปมักจะให้พนักงานทำงานที่บ้านได้สัปดาห์ละ 1-2 วัน สลับกับต้องเข้าออฟฟิศ 3-4 วันต่อสัปดาห์ แต่สำหรับ ‘ลอนดอน’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเมืองใหญ่ศูนย์กลางธุรกิจโลก กลับพบว่า วัยทำงานชาวลอนดอนเข้าทำงานในออฟฟิศน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของพนักงานในเมืองใหญ่แห่งอื่นๆ ในโลก

ปรากฏการณ์นี้ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลทั้งในเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน และอาจส่งผลกระทบต่อความน่าดึงดูดใจของเมืองหลวงอังกฤษแห่งนี้ ในฐานะจุดหมายปลายทางการลงทุนระดับนานาชาติ

พนักงานในปารีส เข้าทำงานในออฟฟิสสูงสุด ส่วนลอนดอน-โตรอนโต ค่าเฉลี่ยต่ำสุด

ไม่กี่วันก่อนสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานอ้างถึงผลวิจัยของ ศูนย์วิจัยเมือง (Centre for Cities) ระบุว่า พนักงานที่ทำงานประจำในกรุงลอนดอน ใช้เวลาในออฟฟิศเพียงครึ่งสัปดาห์เท่านั้น แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ก็ยังคงถือว่าต่ำอยู่ดี เมื่อเทียบกับการทำงานแบบไฮบริดของบรรดาเมืองสำคัญอื่นๆ รวม 6 แห่ง ตามที่ทีมวิจัยได้นำมาวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบร่วมกัน ได้แก่ ปารีส นิวยอร์ก ซิดนีย์ และสิงคโปร์ โดยมีข้อมูลรายละเอียดดังนี้

พนักงานในลอนดอนเข้าออฟฟิศแค่ 2.7 วัน/สัปดาห์ เหตุรถติด-อยากเซฟค่าเดินทาง

"ปารีส" มีอัตราการเข้าทำงานในออฟฟิศสูงสุด เฉลี่ยอยู่ที่ 3.5 วันต่อสัปดาห์ 

"สิงคโปร์" มีอัตราการเข้าทำงานในออฟฟิศรองลงมา เฉลี่ยอยู่ที่ 3.2 วันต่อสัปดาห์ 

"นิวยอร์ก" มีอัตราการเข้าทำงานในออฟฟิศ เฉลี่ยอยู่ที่ 3.1 วันต่อสัปดาห์ 

"ลอนดอน" มีอัตราการเข้าทำงานในออฟฟิศเพียง 2.7 วันต่อสัปดาห์ 

"โตรอนโต" มีอัตราการเข้าทำงานในออฟฟิศเพียง 2.7 วันต่อสัปดาห์

ที่น่าสนใจคือ พนักงานรุ่นใหม่ชาว Gen Z ที่มีอายุระหว่าง 18 - 24 ปี พบว่า เข้าทำงานในออฟฟิศสูงกว่าเพื่อนร่วมงานที่มีอายุมากกว่า

ลอนดอนอาจเสียเปรียบทางการแข่งขันให้กับเมืองเศรษฐกิจอื่นๆ ระดับโลก

ร็อบ จอห์นสัน (Rob Johnson) และ ออสก้า เซลบี้ (Oscar Selby) ตัวแทนผู้เขียนวิจัยฉบับนี้ อธิบายเพิ่มเติมว่า การที่หลายๆ บริษัทในลอนดอน เรียกพนักงานกลับเข้าออฟฟิศค่อนข้างช้ากว่าเมืองใหญ่แห่งอื่นๆ ในโลกนั้น ถือเป็นการส่งสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ลอนดอนยังคงตามหลังเมืองคู่แข่งระดับโลกอยู่มาก 

“การที่พนักงานในใจกลางลอนดอนมีการโต้ตอบแบบพบหน้ากันน้อยลง จะทำให้เมืองนี้เสียเปรียบในด้านผลงานเมื่อเทียบกับเมืองเศรษฐกิจใหญ่ระดับโลกเมืองอื่นๆ” พวกเขาวิเคราะห์

ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการระบาดใหญ่ได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานของชาวลอนดอนไปตลอดกาล หลังจากการระบาดโควิด-19 จบลง พนักงานส่วนใหญ่เคยชินกับการทำงานที่บ้าน และไม่เต็มใจที่จะกลับไปทำงานในออฟฟิศตามปกติ

ยกตัวอย่างเคสของ “เจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งที่ทำงานในสำนักงานสถิติแห่งสหราชอาณาจักร” รวมตัวกันหยุดงานประท้วง (เมื่อกลางเดือน ส.ค. 67 ที่ผ่านมา) หลังจากได้รับแจ้งนโยบายให้พนักงานเข้าทำงานในออฟฟิศอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน โดยสหภาพแรงงานยืนกรานว่า การทำงานจากที่บ้านไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อประสิทธิภาพการทำงาน

พนักงานในลอนดอนเข้าออฟฟิศแค่ 2.7 วัน/สัปดาห์ เหตุรถติด-อยากเซฟค่าเดินทาง

พนักงานในลอนดอน 42% มองว่าการทำงานที่บ้านช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

สำหรับสาเหตุที่ทำให้วัยทำงานชาวลอนดอนไม่อยากกลับเข้าทำงานในออฟฟิศ ก็คือ ภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ค่อนข้างสูง โดยพนักงานในลอนดอนสัดส่วนมากถึง 42% ระบุว่า การทำงานที่บ้านช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางลดลง (มากกว่าค่าเฉลี่ยของพนักงานในเมืองใหญ่อื่นๆ ที่ให้เหตุผลเรื่องนี้อยู่ที่เพียง 34%) รวมไปถึงพวกเขามองว่าการไม่ต้องเดินทางฝ่ารถติดหนักเพื่อเข้าออฟฟิศ ก็ช่วยให้ประหยัดเวลาได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยเมืองฯ มีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการผ่อนปรนกฎเกณฑ์การกลับเข้าทำงานในสำนักงานอันแสนเข้มงวดเหล่านั้น โดยเฉพาะกับเมืองใหญ่ทุกแห่งในโลก แต่ถ้าองค์กรอยากให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศมากขึ้นกว่านี้ ควรมีสวัสดิการที่ดึงดูดใจ เช่น การช่วยเหลือในการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือการวัดผลกระทบของการทำงานแบบไฮบริดว่ามีข้อดีข้อเสียต่อผลิตผลในระดับประเทศแค่ไหน เป็นต้น 

ข้อมูลสรุปของรายงานชิ้นนี้เน้นย้ำว่า การที่พนักงานชาวลอนดอนไม่เต็มใจจะกลับเข้าออฟฟิศให้มากขึ้น อาจมีผลกระทบเกิดขึ้นต่อประสิทธิภาพการทำงานทั้งหมดในภาพรวม ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะทำให้เมืองใหญ่อย่างลอนดอนน่ากังวลมากขึ้นในแง่ของภาวะเศรษฐกิจของเมือง