10 ประเด็น 'สาธารณสุข' ยกให้เป็น 'ไฮไลท์แห่งปี 2567'

10 ประเด็น 'สาธารณสุข' ยกให้เป็น 'ไฮไลท์แห่งปี 2567'

กรุงเทพธุรกิจพิจารณา 10 เรื่องสาธารณสุขแห่งปี 2567 ทั้งเรื่องที่ดี เรื่องที่น่ากังวล และเรื่องที่จะส่งผลให้ต้องติดตามต่อในปี 2568 

KEY

POINTS

  • กรุงเทพธุรกิจพิจารณา 10 เรื่องสาธารณสุขแห่งปี 2567 ทั้งเรื่องที่ดี เรื่องที่น่ากังวล และเรื่องที่จะส่งผลให้ต้องติดตามต่อในปี 2568
  • “30 บาทรักษาทุกที่ ทั่วประเทศ”นับเป็นบริการแห่งปี ขณะที่การ “ฉ้อโกง”จากการเข้ารับบริการตามสิทธิบัตรทอง 30บาทรักษาทุกที่ ก็นับเป็นการ “โกงแห่งปี”
  • อีเวนต์แห่งปี ,นวัตกรรมแห่งปี ,โรคระบาดแห่งปี,กังวลแห่งปี ,สับสนแห่งปี,ท้าทายแห่งปี,เศรษฐกิจสุขภาพแห่งปี และความหวังแห่งปี  เป็นสิ่งที่ชวนติดตาม

ในปี 2567 ที่ผ่านมา แวดวงสาธารณสุขมีเรื่องราวที่นับว่าเป็นประเด็น “แห่งปี” เกิดขึ้นมากมาย “กรุงเทพธุรกิจ” พิจารณารวบรวมมาส่งท้ายปี 10 เรื่อง ได้แก่

1.บริการแห่งปี  30 บาทรักษาทุกที่ ทั่วประเทศ

รัฐบาลเริ่มต้นปีด้วยการประกาศ “ยกระดับ” 30 บาทรักษาทุกโรค ให้เป็น “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ดำเนินการทั้งหมดแบ่งเป็น 4 ระยะ โดยนำร่องเดือนม.ค. 4 จังหวัด และขยับเพิ่มจังหวัดมาตามไทม์ไลน์

ก่อนปิดท้ายปีเมื่อ 25 ธ.ค.2567 นายกฯแพรทองธาร ชินวัตร คิกออฟอีก  31 จังหวัดที่เหลือเริ่ม 1 ม.ค.2568 ทำให้นโยบายนี้ปิดจ็อบครอบคลุมทั่วประเทศ
นับเป็น “บริการแห่งปี” เนื่องจากเป็นการขับเคลื่อนต่อยอดการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาท ไม่จำกัดอยู่เฉพาะรพ.ตามสิทธิแบบเดิมเท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้สะดวกมากขึ้น

2. โกงแห่งปี ตระเวนรับยาฟรี นำมาขายต่อออนไลน์

ก่อนสิ้นปีไม่นาน ปรากฎการ “ฉ้อโกง” รักษาฟรีสิทธิ บัตรทอง 30 บาท เข้ารับบริการตามโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ เพื่อรับบริการตรวจรักษาและนำยาที่ได้รับการจ่ายนั้นมาขายทางออนไลน์

ช่วงปี 2567 ตรวจสอบพบ กรณีที่คิดว่าน่าจะเข้าข่ายการเบิกยาผิดปกติ และกำลังดำเนินคดี จำนวน 3 ราย

  • รายที่ 1 เป็นชาย มีการเบิกยาไป 118 ครั้ง จากโรงพยาบาล 31 แห่ง รวมจำนวนทั้งสิ้น 318 ขวด
  • รายที่ 2 เป็นหญิง มีการตระเวนเบิกยา 98 ครั้ง ในโรงพยาบาล 14 แห่งรวมจำนวน 147 ขวด
  • และรายที่ 3 ตระเวนเบิกยา 30 ครั้ง ในโรงพยาบาล 8 แห่งรวมจำนวน 55 ขวด

3.รมว.สธ.สอนนับคาร์บ อีเวนต์แห่งปี 

“สมศักดิ์ เทพสุทิน”รมว.สาธารณสุข ประกาศนโยบายสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปีงบประมาณ 2568 คือ “ลดผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” (โรคNCDs)

ตลอดช่วงเวลานับจากนั้น จึงปรากฎการจัด “อีเว้นต์”ไปใน  ภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ เพื่อให้ “สมศักดิ์”เดินสายสอน “นับคาร์บ”ให้กับอสม. หวังจะให้นำไปส่งต่อถึงลูกบ้านที่ดูแลในการ “กินคาร์บ” เพื่อให้บริโภคคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เพียงพอเหมาะสม เป็นจุดเริ่มต้นของการป้องกันโรค NCDs

4.Health Link นวัตกรรมแห่งปี  

 “ระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างรพ.ข้ามสังกัด" เพื่อประโยชน์ในการเข้ารับบริการรพ.ใดก็ได้ของผู้ป่วย   

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีการพัฒนา “Health Link” เพื่อเป็นระบบสำหรับเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ให้แพทย์สามารถเข้าดูข้อมูลสุขภาพของคนไข้จากโรงพยาบาลอื่นได้ โดยคนไข้จะสามารถกำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของตนเองได้

การมี “Health Link” คนไข้จะได้รับความสะดวกสบาย ไม่ต้องไปขอข้อมูลจากโรงพยาบาลเอง ประหยัดเวลาของคนไข้ได้เป็นอย่างมาก โดยที่ยังสามารถควบคุมการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้ และอาจสามารถช่วยชีวิตของคนไข้ในกรณีฉุกเฉินและถูกนำส่งโรงพยาบาลที่ยังไม่เคยมีประวัติของคนไข้อีกด้วย

ส่วนแพทย์สามารถประหยัดเวลาในการวินิจฉัยคนไข้ ในขณะเดียวกันแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลคนไข้ที่ครบถ้วนขึ้น ทำให้สามารถตัดสินใจหรือวินิจฉัยอาการได้รวดเร็วและถูกต้องแม่นยำขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและช่วยชีวิตคนไข้ได้

 

ทั้งนี้ "30 บาทรักษาทุกที่พื้นที่กทม." ได้มีการนำระบบมาเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพประชาชนของหน่วยบริการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย รพ. สังกัดกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่น ร้านยาคุณภาพ คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ คลินิกทันตกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกแพทย์แผนไทย และคลินิกเวชกรรมที่เข้าร่วมโครงการ

ขณะที่รพ.สังกัดสธ.นั้นมีการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยบริการและเชื่อมต่อประชาชนผ่าน Digital Health Platform ของกระทรวงสาธารณสุข (ระบบหมอพร้อม)ในการดำเนินการรองรับ 30 บาทรักษาทุกที่

5.อหิวาตกโรค /ไข้หวัดนกโรคระบาดแห่งปี  

2 โรคระบาดสำคัญในปี 2567 และสืบเนื่องต่อจนปี 2568 แม้จะยังไม่มีรายงานการระบาดในประเทศไทย แต่ก็เป็นโรคที่ไทยจำเป็นต้องเฝ้าระวังและเตรียมการรับมือ คือ “ไข้หวัดนก” และ “อหิวาตกโรค”

“ไข้หวัดนก” มีรายงานการพบการระบาดในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศใกล้ไทยอย่างเวียดนาม ลาว กัมพูชา อีกทั้ง มีการรายงานการพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ไม่เฉพาะจากสัตว์ปีกเท่านั้น อย่างใน สหรัฐอเมริกา ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2567 รายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกในปี 2567 จำนวน 64 ราย เชื่อมโยงกับการสัมผัสโคนม สัตว์ปีก สัตว์อื่นๆ และไม่ระบุแหล่งที่มาของการติดเชื้อ
ปลายปี 2567 กรมควบคุมโรค(คร.) ของประเทศไทย จึงมีการเตือนเฝ้าระวังผู้ป่วยที่อาการเข้าข่ายสงสัยโรคไข้หวัดนก จะต้องแจ้งประวัติการสัมผัส “โคนม”กับเจ้าหน้าที่ด้วย จากเดิมมีการระบุให้แจ้งเฉพาะประวัติสัมผัสสัตว์ปีก
ส่วน “อหิวาตกโรค”ประชิดติดแนวชายแดนใดไทยทางตะวันตก เมื่อเกิดการระบากขึ้นในเมืองฉ่วยโก๊กโก่ จังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา ทำให้สธ.ต้องมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ส่วนหน้า จังหวัดตาก เพื่อยกระดับการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อหิวาตกโรค โดยมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก เป็นศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า

ล่าสุดปลายเดือนธ.ค.2567  องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้ออกแถลงการณ์เตือน เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยโรค “อหิวาตกโรค” กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังมีการควบคุมโรคมานานหลาย 10 ปี แม้แต่ในประเทศที่ไม่พบโรคนี้มานานหลายปี ซึ่งการระบาดของโรคในหลายประเทศทั่วโลก ถือเป็นภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่ ที่จำเป็นต้องดำเนินการทันที

6.ประกันสุขภาพภาครัฐงบฯเสี่ยง กังวลแห่งปี

ตลอดปี 2567 “กรุงเทพธุรกิจ” มีการติดตามเรื่อง “ประกันสุขภาพภาครัฐ” ทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท และประกันสังคมมาอย่างต่อเนื่อง พบปัญหาหนึ่งที่สอดคล้องกันนั่นคือ “งบประมาณกองทุน”

กองทุนบัตรทอง 30 บาท รับงบฯ100 % จากภาครัฐ แต่ก็พบว่าแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี และมีคำถามถึงความยั่งยืนของกองทุน ซึ่งมีหลายภาคส่วนเสนอแนะแนวทางช่องทางที่จะเพิ่มเงินเข้าระบบ เช่น การให้ประชาชนร่วมจ่าย  ,การให้รัฐจัดสรรงบฯสนับสนุนเพิ่มเติม ,การจัดเก็บภาษีสุขภาพเพิ่มขึ้น เป็นต้น
แต่ที่สุดดูเหมือน “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.สธ.ในฐานประธานบอร์ดสปสช.จะเลือกแนวทาง “ลดคนป่วย” ที่จะส่งผลต่องบฯรักษาพยาบาล
ขณะที่กองทุนประกันสังคม มีความหวาดหวั่นว่า “จะล้ม” ในอีก 30 ปีข้างหน้า หากไม่มีการดำเนินมาตรการใด จากมูลเหตุ “โครงสร้างประชากรไทย” ซึ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และอัตราเกิดใหม่น้อย ทำให้กำลังแรงงานวัยทำงานลดลง “คนจ่ายเงินเข้าสมทบน้อยกว่าคนรับบเงินบำนาญ”
10 ประเด็น \'สาธารณสุข\' ยกให้เป็น \'ไฮไลท์แห่งปี 2567\'

ช่วงปีที่ผ่านมา จึงมีการวางแนวทางเพื่อสร้าง “เสถียรภาพกองทุน” พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ข้อเสนอแนะ และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการลงทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิผลการบริหารการลงทุนของกองทุนประกันสังคม 3 เรื่อง
1.ผลักดันให้รัฐบาลเพิ่มอัตราเงินสมทบ จาก 2.75% ในปัจจุบัน เป็น 5 % ให้เท่ากันกับอัตราเงินสบทบจากผู้ประกันตนและนายจ้าง ตลอดจนปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบของทั้ง 3 ฝ่าย ให้เทียบเท่ากับประเทศชั้นนำของโลก

2.เพิ่มอายุเกษียณสำหรับบางสาขาอาชีพที่คนสามารถทำงานได้แม้จะมีอายุมากกว่า 55 ปี 
3. ปรับสัดส่วนการลงทุนของกองทุนประกันสังคม 

7.มะเร็งรักษาทุกที่ ใช้-ไม่ใช้ใบส่งตัว สับสนแห่งปี  

โครงการ “มะเร็งรักษาทุกที่” สิทธิบัตรทอง 30 บาท สปสช.มีการประกาศบังคับใช้หลักเกณฑ์ใหม่ในการเบิกจ่าย ให้มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.2568  โดยกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าใช้จ่ายกรณีค่ายาเคมีบำบัดหรือฮอร์โมน ค่ารังสีรักษาโรคมะเร็ง และค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อประกอบการสั่งใช้ ยารักษาโรคมะเร็ง ทำให้รพ.โรงเรียนแพทย์หลายแห่ง ต้องออกประกาศ ตั้งแต่ 1ม.ค.2568 ผู้ป่วยในโครงการนี้ที่ส่งต่อเข้ามารักษาจะต้องมีใบส่งตัวรับรองการจ่ายค่ารักษาจากรพ.ตามสิทธิด้วยหลังจากที่สปสช.มีการปรับเกณฑ์การเบิกจ่ายให้กับรพ.

กระทั่ง ต้องมีการหารือร่วมระหว่างสปสช.และรพ.โรงเรียนแพทย์ และเห็นพ้องตรงกันที่จะ “ชะลอ”การบังคับใช้ประกาศฉบับนี้ออกไปก่อน ต่อมาสปสช.ได้ออกประกาศเลื่อนการบังคับใช้และย้ำว่า “ผู้ป่วยในโครงการนี้ ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว” แต่รพ.โรงเรียนแพทย์หลายแห่งก็แจ้งว่า “ยังจำเป็นต้องใช้ใบส่งตัว” เพราะ "ใบส่งตัว" ต้องดูข้อมูลทางด้านการรักษาให้เกิดประสิทธิภาพ ลดความแออัดในโรงเรียนแพทย์ นับเป็นเรื่องที่สร้างความสับสนอย่างมากให้กับผู้ป่วยจนตอนนี้ จากการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูล “ขัดแย้ง”กัน

8.นโยบายลดผู้ป่วยNCDs ท้าทายแห่งปี

จากการที่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ โรคNCDs เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลกและประเทศไทย สร้างการสูญเสียทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมราว 1.6 ล้านล้านบาท และมีผู้ป่วยโรคนี้จำนวนมาก

  •  ผู้ป่วยเบาหวาน 6.5 ล้านคนเพิ่มปีละ 3 แสนคน   
  • ความดัน 14 ล้านคน
  • ไตทุกระยะกว่า 1 ล้านคน
  • และมะเร็ง 4.4 แสนคน รายใหม่ 1.4 แสนคนต่อวัน ตายปีละ 83,000 คน 

ทำให้ “การลดโรคNCDs” เป็นนโยบายสำคัญที่ “รมว.สธ.”นามว่า “สมศักดิ์” ประกาศเป็นเรื่องหลักที่จะขับเคลื่อนในปีงบประมาณ 2568 
นับเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง เพราะหัวใจสำคัญ อยู่ที่การ “ปรับพฤติกรรมของคน” เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงได้ หากคนมีพฤติกรรมการออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่เหมาะสม ซึ่งมีการตั้งเป้าหมาย “ลดผู้ป่วยรายใหม่ลง”
10 ประเด็น \'สาธารณสุข\' ยกให้เป็น \'ไฮไลท์แห่งปี 2567\'

9.Wellness economy เศรษฐกิจสุขภาพแห่งปี 

นโยบายรัฐบาลระยะกลาง และระยะยาวที่รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แถลงต่อรัฐสภา ประเด็น “ส่งเสริมโอกาสในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” คือ รัฐมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ (Care and Wellness Economy) และบริการทางการแพทย์ (Medical Hub) 

อาศัยพื้นฐานจิตวิญญาณการบริการของคนไทย ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ต่อยอดจากธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการแพทย์แผนไทยที่เป็นจุดแข็ง เพื่อรองรับความต้องการด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นจากการที่ประชากรโลกเข้าสู่สังคมสูงวัย

แม้ปี 2567 จะยังไม่มีมาตรการใดเป็นพิเศษที่ออกมารองรับเรื่องนี้ แต่ในปี 2568 คงเป็นโอกาสของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Wellness economy อย่างมากที่จะขยายการเติบโต ภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ

สำหรับ Wellness Economy ในปี 2022 ทั่วโลกมีมูลค่า ราว 5.6 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเป็นส่วนของ Wellness Tourism ซึ่งเป็นการเดินทางของคนที่ไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วย แต่เลือกเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ ทำให้สุขภาพดีขึ้น หรือแม้กระทั่งป้องกันโรคได้ด้วย มูลค่า 651 พันล้านดอลลาร์ หรือ 22 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่า Global Medical Tourism

โดยภูมิภาค Asia-Pacific  เป็นตลาด Wellness ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจาก อเมริกาเหนือ  ขณะที่ประเทศไทยมีมูลค่า Wellness Economy อยู่ที่  34.6 พันล้านดอลลาร์ เป็นอันดับ 9 ของภูมิภาคAsia-Pacific รองจากหลายประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย โดยมีมูลค่าใกล้เคียงกับมาเลเซีย

10.แยกสธ.จากก.พ. / พรบ.อสม. ความหวังแห่งปี  

ปิดท้ายที่ความหวังแห่งปี  2567 ที่เป็นการขับเคลื่อนมาช้านานนับ 10 ปี แม้ว่าปี 2567 จะยังไม่มีผลออกมาบังคับใช้ และต้องติดตามต่อในปี 2568 แต่ก็นับเป็นความ “ก้าวหน้าที่สุด” คือ “การแยกสธ.ออกจากก.พ.” ที่มีการยกร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างการนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.

สาระของร่างพ.ร.บ.มุ่งสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล อัตรากำลัง และค่าใช้จ่ายภาครัฐ ลดข้อจำกัดต่างๆที่เป็นปัญหาคาราคาซังมาเป็นเวลานาน โครงสร้างการบริหารงานจะปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่เพื่อสามารถบริการประชาชนรวดเร็วขึ้น 
เช่นเดียวกับ “กฎหมายอสม.”ที่จะเป็นการผนวกเรื่อง “ค่าป่วยการอสม.”ไว้ในกฎหมาย เป็นการการันตีว่าอสม.จะได้รับเงินส่วนนี้ ต่างจากเดิมที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)จะต้องเสนอเรื่องเข้าครม.พิจารณาเป็นคราวๆ
10 ประเด็น \'สาธารณสุข\' ยกให้เป็น \'ไฮไลท์แห่งปี 2567\'