'เอไอคัดกรองเบาหวานเข้าจอตา' รู้ผลทันที ผลศึกษาแม่นยำ 95%

'เอไอคัดกรองเบาหวานเข้าจอตา' รู้ผลทันที ผลศึกษาแม่นยำ 95%

กรมการแพทย์ร่วมมือกับ “กูเกิล”พัฒนา “AI DR Screening” เอไอคัดกรองเบาหวาเข้าจอตา ผลศึกษาวินิจฉัยแม่นยำราว 95% อยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์กับอย. ก่อนขยายผลใช้ในรพ.สธ.ทั่วประเทศ  ช่วยผู้ป่วยทราบผลทันที ลดความเสี่ยงตาบอด ทลายข้อจำกัดจำนวนจักษุแพทย์

KEY

POINTS

  • เบาหวานเข้าจอตา ช่วงแรกจะไม่มีอาการ ปล่อยไว้จะทำให้จอประสาทตาเสื่อม จอตาหลุด จนถึงตาบอด ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่จักษุแพทย์ไทยมีจำกัด
  • กรมการแพทย์ร่วมมือกับ “กูเกิล”พัฒนา “AI DR Screening” เอไอคัดกรองเบาหวานเข้าจอตา ผลศึกษาวินิจฉัยแม่นยำราว 95% อยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์กับอย.
  • เอไอคัดกรองเบาหวาเข้าจอตา เมื่อผ่านอย. จะขยายผลใช้ในรพ.สธ.ทั่วประเทศ  ช่วยผู้ป่วยทราบผลทันที ลดความเสี่ยงตาบอด ทลายข้อจำกัดจำนวนจักษุแพทย์

ประเทศไทยมีป่วยโรคเบาหวาน 6.5 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และ 40 % ที่ไม่ทราบว่าตัวเองป่วย ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อค้นหาเบาหวานเข้าจอตา
เนื่องจากในช่วงแรกจะไม่มีอาการ ปล่อยไว้จะทำให้จอประสาทตาเสื่อม จอตาหลุด จนถึงตาบอด แต่หากสามารถตรวจเจอและรักษาทันเวลา จะป้องกันตาบอด

ร่วมมือกูเกิลพัฒนาเอไอ

ขณะที่จำนวนจักษุแพทย์ในประเทศไทยมีจำกัด ประมาณ 2,000 คน ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยเบาหวานที่มีประมาณ 9% ของประชากรประเทศ และแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้การคัดกรองเบาหวานเข้าจอตา ไม่สามารถครอบคลุมผู้ป่วยได้ทั่วถึง

เป็นจุดเริ่มให้ “กรมการแพทย์”พัฒนาระบบเทคโนโลยี เพื่อรองรับการให้บริการผู้ป่วยได้มากขึ้น กระทั่ง ได้ร่วมมือกับ “กูเกิล”พัฒนา “เอไอคัดกรองเบาหวานเข้าจอตา”

นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า   ก่อนหน้านี้กรมได้มีการพัฒนาหลักสูตรอบรมสำหรับพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้สามารถถ่ายภาพจอประสาทตา และอ่านผลภาพจอประสาทตา คัดกรองผู้ป่วยที่มีเบาหวานเข้าจอตา และมีความเสี่ยงต่อตาบอด เพื่อส่งต่อรับการรักษาจากจักษุแพทย์ได้ทันเวลา และมีการใช้ทั่วประเทศให้บริการคัดกรองราว 1 ล้านคนต่อปี จึงมี “คลังภาพจอประสาทตา”จำนวนมาก
\'เอไอคัดกรองเบาหวานเข้าจอตา\' รู้ผลทันที ผลศึกษาแม่นยำ 95%

ราว 4-5 ปีที่ผ่านมา เมื่อยุคของเอไอทางการแพทย์เข้ามา กรมได้ลงนามความร่วมมือกับกูเกิลพัฒนาต่อยอดเอไอด้วยเทคโนโลยีที่สูงขึ้นที่เรียกว่า Deep Learning ซึ่งทำได้ด้วยข้อมูลมหาศาล big data  

เอไอคัดกรองเบาหวานเข้าจอประสาทตานี้ พัฒนาขึ้นมาจากภาพถ่ายจอประสาทตาของผู้ป่วยเบาหวานจำนวนมากกว่า 100,000 ภาพ  โดยให้เอไอเรียนรู้ทั้งภาพที่ปกติและภาพที่มีเบาหวานเข้าจอประสาทตาที่มีความรุนแรงระดับต่างๆ รวมทั้งภาวะจุดภาพชัดบวมจากเบาหวาน สาเหตุลำดับ1 ที่ทำให้เกิดตาบอดจากเบาหวาน

ผลศึกษาแม่นยำ 95 %

รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ ได้มีนำมาพัฒนาต่อ เป็นการการศึกษาวิจัยแบบย้อนหลัง เพื่อให้เป็นข้อมูลภาพถ่ายจอประสาทตาของคนไทย  เป็นการวิจัยแบบย้อนหลัง ด้วยการทดสอบกับภาพถ่ายของผู้ป่วยเบาหวานไทยที่อยู่ในระบบเขตสุขภาพจำนวนกว่า 20,000 ภาพ ซึ่งเป็นภาพที่ได้รับการถ่ายไว้ก่อนแล้ว พบว่าระบบเอไอสามารถอ่านภาพจอประสาทตา ค้นหาภาพจอประสาทตาของผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อตาบอด ได้อย่างแม่นยำถึง 95%

และมีการรศึกษาวิจัยแบบไปข้างหน้าเพื่อสร้างความมั่นใจอีกระดับหนึ่ง ในผู้ป่วยเบาหวานไทยอีกเกือบ 8,000 คน ที่ศูนย์คัดกรองระดับปฐมภูมิจำนวน 9 แห่งในไทย เป็นภาพถ่ายของรายใหม่ พบว่า สามารถวินิจฉัยได้แม่นยำประมาณ 95% เช่นเดียวกับการวิจัยแบบย้อนหลัง จึงเป็น versionใช้ในคนไทยได้จริง

 นอกจากนี้ มีการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล อยู่บน web browser เพื่อใช้ร่วมกับเอไอ ซึ่งอยู่ใน cloud ในระบบอินเตอร์เน็ต เพื่อให้เอไออ่านภาพแบบเรียลไทม์ ให้กับผู้ป่วยที่มารับการคัดกรอง ผู้ป่วยจะทราบผลการคัดกรองได้ทันที โดยสามารถเชื่อมกับกล้องถ่ายภาพจอประสาทตาที่มีอยู่แล้วทั่วประเทศ จำนวนมากกว่า 800 เครื่อง และยังสามารถพัฒนาให้เชื่อมกับข้อมูลผู้ป่วยในระบบข้อมูลของโรงพยาบาล

ผู้ป่วยรู้ผลคัดกรองทันที 

เนื่องจากระบบสามารถทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต การนำ “ AI DR Screening” มาใช้จึงเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยช่วยให้ผู้ป่วยสามารถคัดกรองโรคได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง ครอบคลุมทุกพื้นที่ สามารถคัดกรองแจ้งผลได้ทันที ลดระยะเวลาในการรอคอยผลจากอาจจะ 1-2 วัน

ลดความเสี่ยงตาบอดจากเบาหวานขึ้นจอตา ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาผู้ป่วยทั้งของผู้ป่วย  ญาติผู้ดูแล และระบบสาธารณสุขโดยรวม นอกจากนี้  ช่วยลดภาระงานการคัดกรองของแพทย์ จึงสามารถนำเวลาไปใช้รักษาผู้ป่วย หรือการบริการที่จำเป็นต้องใช้แพทย์ได้มากขึ้น   

ขั้นตอนการรับบริการ

สำหรับขั้นตอนการทำงานของระบบเอไอ คือ หน่วยบริการลงทะเบียนผู้ป่วยในระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล ,ถ่ายภาพจอประสาทตาของผู้ป่วย ,อัปโหลดภาพเข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล และ cloud server ที่มีเอไอ จากนั้นระบบเอไอทำการประมวลผล แปลผลภาพ และส่งผลการอ่านมาที่แพลตฟอร์ม

ทำให้พยาบาลอ่านผล และแจ้งผลการตรวจคัดกรองด้วย ให้ผู้ป่วยทราบได้ทันที  โดยกรณีที่พบภาพที่เสี่ยงต่อตาบอด พยาบาลจะส่งต่อข้อมูลผ่านระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลนี้ ไปยังโรงพยาบาลเครือข่ายระดับตติยภูมิ เพื่อทำการตรวจสอบ และรับผู้ป่วยเข้ารักษาต่อไป
\'เอไอคัดกรองเบาหวานเข้าจอตา\' รู้ผลทันที ผลศึกษาแม่นยำ 95%

ขยายผลใช้ทั่วประเทศ

ขณะนี้อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)  อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566 - 30 ก.ย.2567 มีการศึกษาวิจัยนำร่องใช้ระบบเอไอในรพ.สธ.ทั้งระดับรพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป จนถึงรพ.ประจำอำเภอแล้ว 48 แห่ง อาทิ รพ.ฝาง ,รพ.พุทธชินราช,รพ.ราชบุรี,รพ.เต่างอย,รพ.พยัคฆภูมิพิสัย,รพบ้านนาสารและรพ.ป่าพะยอม  เป็นต้น  

และในปีงบประมาณ 2568 ตั้งเป้าหมายให้มีหน่วยงานหรือสถานพยาบาลที่ใช้ระบบ เพิ่มขึ้น 50 % และมีแผนขยายครอบคลุมทั่วประเทศภายหลังได้รับการขึ้นทะเบียนจากอย.

“ปัจจุบันถือลิขสิทธิ์ร่วมกันระหว่างกรมและกูเกิล เมื่อจะเอามาใช้ในวงกว้าง จึงแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ  1.การนำไปใช้ในรพ.ภาครัฐเป็นลิขสิทธิ์กรมการแพทย์ และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ ซึ่งกรมก็จะนำมาใช้ในรพ.โดยเฉพาะของสธ.ได้ใช้ ลดภาระแพทย์ และ2.กูเกิลมอบให้ผู้ประกอบการรายหนึ่ง นำไปต่อยอดใช้ในภาคเอกชน”นพ.สกานต์กล่าว 

คลังภาพทางการแพทย์

ในการพัฒนาต่อยอดจากเอไอตัวนี้ นพ.สกานต์ กล่าวว่า  กรมจะใช้การอ่านภาพจอประสาทตา เพื่อคัดกรองโรคจอประสาทตาอื่น หรือโรคต้อกระจก รวมถึง  แผนจะพัฒนา “เอไอ”ให้เรียนรู้ในการคัดกรองโรคที่ไม่ใช่โรคตา ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เพื่อตรวจหาภาวะความผิดปกติอื่น ๆ จากการแปลผลภาพจอประสาทตา เช่น โรคทางหลอดเลือดสมอง  และโรคไต เป็นต้น เนื่องจากภาพถ่ายจอประสาทตา สามารถแสดงให้เห็นอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย เช่น เส้นประสาท เส้นเลือด ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกาย
ทั้งนี้ การพัฒนาเอไอภาพใหญ่ของประเทศ สิ่งที่สำคัญต้องมีภาพถ่ายให้เอไอเรียนรู้ ยิ่งมีภาพความผิดปกติต่างๆยิ่งมาก สามารถสอนเอไอเรียนรู้ได้มา ก็เก่งขึ้นเรื่อยๆ 

"กรม เนคเทคและรพ.รามาธิบดี กำลังร่วมกันทำคลังภาพทางการแพทย์ หรืออิมเมจแบงก์ ทั้งเอกซเรย์ปอด ภาพถ่ายตา และภาพถ่ายทางการแพทย์อื่นๆ ถ้าสำเร็จสามารถรองรับภาพทางการแพทย์จากแหล่งต่างๆ เพื่อให้เอไอมาเรียนรู้ สามารถพัฒนาเอไอได้อีกหลายโครงการ อย่างที่กรมมีแผนเรื่อง การใช้เอไออ่านผลมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก”นพ.สกานต์กล่าว 

สิ่งต้องระวังในการใช้เอไอ

ท้ายที่สุด นพ.สกานต์ กล่าวด้วยว่า เอไอเข้ามาในแง่ทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างแน่นอนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตั้งแต่การช่วยประเมินความเสี่ยง การให้คำแนะนำรายบุคคล  จนถึง ช่วยวินิจฉัยและแนะนำแนวทางการรักษา  แต่สิ่งที่ต้องระวังสูงมาก คือ ในเรื่องการช่วยวินิจฉัยและแนะนำแนวทางการรักษา เพราะมีผลกับการจัดการโรคอย่างมาก หากเป็นการแนะนำเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ถ้ามีความผิดพลาดก็ไม่ได้รุนแรงมาก แต่ถ้าวินิจฉัยและแนะนำการรักษาพลาด จะมีผลกระทบมาก 

“คนทั่วไปอาจจะมีจำนวนมาก ที่ยังเข้าใจผิดว่า เอไอคือของวิเศษ เป็นผู้รู้ทุกอย่าง แต่ความจริงไม่ใช่  เพราะเอไอเหมือนเด็กสมองดีคนหนึ่ง โดยจะมีความรู้ที่ถูกต้องหรือผิด ขึ้นกับว่าได้รับข้อมูลอะไรเข้าไป ถ้าข้อมูลที่ใส่ไปให้เรียนรู้ผิด ก็อาจจะผิดได้  และเป็นเด็กฉลาดที่บางครั้งก็พูดจาค่อนข้างจะเนียน ดูน่าเชื่อถือ หากผู้รับข้อมูลไม่รู้เบื้องหลังและไม่ตรวจสอบ จึงไม่ได้แปลว่าเอไอทุกตัวดี หรือถูกต้องเสมอไป ดังนั้น ประชาชนต้องมีวิจารณญาณในการใช้เอไอด้วย”นพ.สกานต์กล่าวย้ำ