รู้ทัน ‘โลกร้อน’ นักวิจัยขั้วโลก จะเล่าให้ฟัง ทุกวันเสาร์ของเดือน ปี 68
อพวช. จัดโครงการ 'Research show by Naturalist 2025' พบนักวิจัยขั้วโลก นักธรรมชาติวิทยา มาให้ความรู้เท่าทันสภาพอากาศโลก ทุกวันเสาร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน ตลอดปี 68
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรมฉลองครบรอบ 10 ปี โครงการ Research show by Naturalist 2025 พบนักวิจัยขั้วโลกและนักธรรมชาติวิทยาชั้นนำ
โดย ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สุวรงค์ วงษ์ศิริ รองผู้อำนวยการ NSM, นักวิจัยขั้วโลก, นักธรรมชาติวิทยา
ร่วมกันเปิดตัวโครงการ Research show by Naturalist 2025 ฉลองครบรอบ 10 ปี กับ 2 หัวข้อพิเศษ Research Insight: ล้วงลึกงานวิจัยลับ และ Miracle of Polar: มหัศจรรย์แห่งขั้วโลก
เจาะลึกเรื่องราวของนักธรรมชาติวิทยาและนักวิจัยขั้วโลก ภายใต้โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริฯ ตัวจริงแบบใกล้ชิด ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนและประชาชนให้มาสนใจวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมากขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ กล่าวว่า ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาเจริญก้าวหน้า รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญจึงได้สนับสนุนโครงการวิจัยต่าง ๆ ให้นักวิจัยค้นคว้าหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ นำมาเสริมสร้างศักยภาพพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ เช่น ด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ
"ความรู้เหล่านี้ถูกนำมาถ่ายทอดไปสู่สาธารณะผ่านโครงการ Research show by Naturalist 2025 ในปีนี้ 2568 มีการถ่ายทอดความรู้จากนักธรรมชาติวิทยาของ อพวช. และมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ส่งนักวิจัยขั้วโลกมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนผ่านงานวิจัยขั้วโลก
นับเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากที่จะได้พบนักวิจัยขั้วโลกตัวจริง เป็นกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีคุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยาในหลากหลายมิติ เป็นแรงผลักดันให้ก้าวเข้าสู่เส้นทางนักธรรมชาติวิทยาต่อไปในอนาคต"
โครงการ Research Show by Naturalist 2025 มี 2 หัวข้อ ได้แก่
-
Research Insight: ล้วงลึกงานวิจัยลับ
มีวัตถุประสงค์กระตุ้นเยาวชนและประชาชนเห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยด้านธรรมชาติ ที่นักธรรมชาติวิทยาค้นพบ นำเสนอ 12 เรื่อง เช่น Echino & Friend, Fronds Insight, E-Sarn Frogs และ New Ginger, New Discovery ฯลฯ
-
Miracle of Polar: มหัศจรรย์แห่งขั้วโลก
ได้รับเกียรติจากนักวิจัยขั้วโลกภายใต้โครงการ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนและประชาชน
นำเสนอ 12 เรื่อง เช่น มหาสมุทรสุดขอบใต้ (Ocean at the South Edge) ผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อสัตว์ขั้วโลก (Impacts of global warming on polar animals) และหินขั้วโลก: เครื่องบันทึกเหตุการณ์โลก (Polar Rocks: An Earth Recorder) ฯลฯ"
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กล่าวว่า มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินโครงการวิจัยขั้วโลก ให้นักวิจัยไทยเข้าร่วมการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้
"เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ขั้วโลกของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาชาติ โดยมี นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยนักวิชาการของไทย เดินทางไปศึกษาและทำวิจัยภายใต้โครงการฯ ในพื้นที่ทวีปแอนตาร์กติก จำนวน 20 พระองค์/คน และอาร์กติก 2 คน
มูลนิธิฯ เล็งเห็นถึงความร่วมมือกัน กับ อพวช. ในการสนับสนุนนักวิจัยชั้นนำระดับประเทศ ได้ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเยาวชนและประชาชนผ่านงานวิจัยที่น่าสนใจ
ครบรอบ 10 ปีของการจัดกิจกรรม Research Show by Naturalist และครบรอบ 32 ปี ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินเยือนทวีปแอนตาร์กติก
นับเป็นโอกาสอันดีที่จะให้เยาวชนฯ รับทราบเรื่องราวประสบการณ์ที่ได้เดินทางไปทำวิจัยที่ขั้วโลก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ได้รู้จักขั้วโลกในมุมมองที่ไม่เคยเห็นผ่านการนำเสนอของนักวิจัย
และทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีต่อการศึกษาวิจัยในพื้นที่ขั้วโลก นำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ เผยแพร่ต่อสาธารณะเป็นวงกว้างต่อไป"
กิจกรรม Research Insight: ล้วงลึกงานวิจัยลับ จะจัดขึ้นทุกวันเสาร์ที่ 1 ของเดือนในปี 2568
กิจกรรม Miracle of Polar: มหัศจรรย์แห่งขั้วโลก จะจัดขึ้นทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือนตลอดปี 2568
เริ่มครั้งแรก วันเสาร์ที่ 4 มกราคม 2568 เรื่อง Echino & Friend นำเสนองานวิจัยในเชิงนิเวศ ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์กลุ่มดาวทะเล เม่นทะเล ปลิงทะเล กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกัน เกิดการได้ประโยชน์การอยู่ร่วมกัน โดย ดร.อารมณ์ มุจรินทร์
และ วันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2568 เรื่อง Impacts of global warming on polar animals ผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อสัตว์ขั้วโลก โดย ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์
ณ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ที่ Facebook: พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (Natural History Museum)