Gen Z 75% อยากเป็น “เจ้านายตัวเอง” แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือน ไม่ง่ายอย่างที่คิด
Gen Z ราวๆ 75% อยากเป็น “เจ้านายตัวเอง” แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือน ไม่ง่ายอย่างที่คิด ที่แน่ๆ คือชีวิตจะไม่มี work-life balance อย่างที่คนรุ่นใหม่ชอบ
KEY
POINTS
- ผลสำรวจเผย 75% ของคนรุ่น Gen Z ทะเยอทะยานอยากเป็นนายตัวเอง ไม่ขอทำงานประจำไปตลอดชีวิต อีกทั้ง 77% ของพวกเขา มั่นใจว่าตนเองสามารถประสบความสำเร็จในธุรกิจได้
- โดยธรรมชาติของชาว Gen Z พวกเขาเป็นรุ่นที่เปิดรับประสบการณ์ใหม่อยู่เสมอ มีแนวคิดด้านนวัตกรรม จึงสามารถคิดค้นหรือเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ ได้ง่ายกว่าคนรุ่นก่อน
- ผู้เชี่ยวชาญ เตือน ไม่ใช่ Gen Z ทุกคนที่จะทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จ เพราะต้องเจอความท้าทายหลายอย่าง เช่น ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ไม่ได้พักผ่อน ความไม่มั่นคงทางการเงิน และแรงกดดันที่ต้องรักษาผลกำไร ฯลฯ
ค่านิยมหนึ่งของคนรุ่น Gen Z ที่เปิดเผยให้สังคมเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือการที่พวกเขามีความทะเยอทะยานในด้านอาชีพการงาน ส่วนใหญ่อยากเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจ หรืออยากเป็นนายตัวเอง แต่ผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งเตือนว่า การบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอาจไม่ง่ายอย่างที่พวกเขาคิด
Gen Z ทะเยอทะยาน อยากเป็นนายตัวเอง ไม่ขอเป็นลูกจ้างไปตลอดชีวิต
ไม่กี่วันก่อนสำนักข่าว CNBC รายงานอ้างถึงผลสำรวจล่าสุดจาก Santander UK ที่ได้สำรวจความเห็นของวัยรุ่นและวัยทำงานหลากหลายเจนเนอเรชันในอังกฤษ จำนวน 2,000 คน เกี่ยวกับความต้องการในอาชีพการงาน พบว่า กลุ่มคนรุ่น Gen Z มากถึง 75% มีความทะเยอทะยานที่จะเป็น “เจ้านายตัวเอง” และไม่ได้วางเป้าหมายไว้ว่าจะทำงานประจำ แบบเข้างาน 9.00 ออกงาน 17.00 น. ไปตลอดชีวิต
นอกจากนี้ 77% ของกลุ่มตัวอย่างชาว Gen Z ยังบอกว่า พวกเขามั่นใจในความสามารถของตนเอง ในการเปิดตัวธุรกิจใหม่และทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ขณะที่ 39% บอกว่า สมาร์ทโฟนคืออุปกรณ์เพียงอย่างเดียวที่พวกเขาต้องการใช้ เพื่อทำงานในฐานะผู้ประกอบการ
ในทางกลับกัน พบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างคนรุ่น Gen X และ Boomers มองว่า มีโอกาสน้อยกว่าในการเริ่มต้นธุรกิจของตนเองเมื่อพวกเขายังเด็ก เนื่องจากแรงกดดันในการแสวงหาการศึกษาสูงๆ และมองหาอาชีพแบบดั้งเดิมที่พ่อแม่คาดหวัง
คนรุ่นใหม่โตมากับเทคโนโลยี มีแนวคิดด้านนวัตกรรม จึงเริ่มทำธุรกิจได้ง่ายกว่ารุ่นก่อน
แซม โจนส์ (Sam Jones) ผู้ก่อตั้งบริษัท Gener8 ให้บริการคำแนะนำ ข้อมูล และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เผยถึงความคิดเห็นของเขาว่า Gen Z พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นเจเนอเรชันที่มีความเป็นผู้ประกอบการมากที่สุด และนั่นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ คนรุ่นนี้ต่างจากคนรุ่นก่อนๆ ตรงที่พวกเขาเติบโตมาพร้อมกับยุคดิจิทัล ที่ข้อมูล เครื่องมือ และการเชื่อมต่อระดับโลกนั้นทำได้ง่ายๆ แค่คลิกเดียว
ตามธรรมชาติของคนรุ่น Gen Z พวกเขาจะเปิดรับประสบการณ์ใหม่อยู่เสมอ ทำให้เกิดแนวคิดด้านนวัตกรรม พวกเขาสามารถคิดค้น วางแผน หรือเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ ได้ง่ายกว่าคนรุ่นก่อน และอาจก้าวแซงหน้าคนรุ่นก่อนๆ ด้วยซ้ำ ในแง่ของการเปลี่ยนแนวคิดให้กลายเป็นความจริง” เขากล่าวเสริม
ด้าน แดน ชอว์เบล (Dan Schawbel) ผู้เชี่ยวชาญด้านอนาคตของการทำงานที่ Workplace Intelligence กล่าวว่า จิตวิญญาณการเป็นผู้ประกอบการของคนรุ่น Gen Z นั้นปรากฏชัดเจน และขับเคลื่อนโดยความปรารถนาที่อยากเป็นอิสระ ซึ่งรวมถึงความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น ต้องการความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานที่ดีขึ้น และทำงานอย่างมีจุดมุ่งหมาย การเกิดมาในยุคดิจิทัล และเติบโตมาพร้อมกับเศรษฐกิจโลกท่ีไม่มั่นคง ทำให้ Gen Z มักจะผิดหวังกับโครงสร้างที่เข้มงวด และข้อจำกัดของระบบการทำงานแบบเดิมๆ
“ในขณะที่ การเป็นผู้ประกอบการหรือการเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นดึงดูดคนรุ่น Gen Z ได้มากกว่า เนื่องจากทำให้พวกเขาสามารถควบคุมงานและชีวิตของตนเองได้มากขึ้น เปิดโอกาสให้ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และมีศักยภาพในการใช้ประโยชน์จากทักษะทางเทคโนโลยี นอกจากนี้ การเป็นผู้ประกอบการยังเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหาทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาใส่ใจ ขณะเดียวกันก็อาจมอบผลตอบแทนทางการเงินและความเป็นอิสระที่มากขึ้นด้วย” เขากล่าวเสริม
แม้ Gen Z จะเก่งเทคโนโลยี แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จ
แม้ว่าจุดแข็งสำคัญของคนรุ่น Gen Z ก็คือ พวกเขาเป็นคนดิจิทัลโดยกำเนิด และสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ได้อย่างรวดเร็ว มีความเชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดียต่างๆ พวกเขาจึงสามารถทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย เมื่อเปรียบเทียบกับคนรุ่นก่อน แต่ แดน ชอว์เบล มองว่า แค่ความเชี่ยวชาญด้านนี้เพียงอย่างเดียว ไม่อาจทำให้คนรุ่น Gen Z ประสบความสำเร็จในธุรกิจได้ทุกคน บางคนอาจจะยังไม่พร้อมที่จะดำเนินธุรกิจในหลายๆ ด้าน
“คนรุ่น Gen Z อาจยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับความท้าทายของการเป็นผู้ประกอบการ แม้ว่าพวกเขาจะมีข้อได้เปรียบบางประการ เช่น ความรู้ด้านดิจิทัลและการคิดสร้างสรรค์ แต่หลายคนอาจประเมินงานบริหารธุรกิจต่ำเกินไป เพราะการจะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จนั้น ต้องทุ่มเทชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ต้องเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงทางการเงิน และแรงกดดันอย่างต่อเนื่องในการรักษาผลกำไร” เขากล่าว
ความท้าทายหลายๆ ข้อดังกล่าว ทำให้เจ้าของธุรกิจต้องทำงานแทบจะตลอดเวลา จนหาเวลาพักผ่อนได้ยากมาก สิ่งเหล่านี้คือ ‘ข้อเท็จจริง’ ที่คนรุ่นใหม่ (ที่อยากเป็นเจ้านายตัวเอง) ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งวิถีการทำงานแบบนี้ อาจขัดแย้งกับความต้องการความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน (work-life balance) ซึ่งเป็นค่านิยมหลักของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ามีผู้ประกอบการชาว Gen Z ส่วนหนึ่งที่ทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จจริงๆ (แม้จะเป็นส่วนน้อย) เทียบกับผู้ประกอบการชาว Gen Z รายอื่นๆ ส่วนใหญ่ ที่ต้องเผชิญกับความเป็นจริงที่ว่า พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จและอาจผิดหวังกับการเลือกเส้นทางนี้