Gen Z ทิ้งโซเชียลหลัก หันใช้ ‘แอปงานอดิเรก’ สร้าง Micro-Community
Gen Z หันมาใช้ ‘แอปงานอดิเรก’ แทนโซเชียลกระแสหลัก เช่น แอปชวนไปวิ่ง แอปสำหรับคนรักหนัง เลิกเสพติดความสมบูรณ์แบบบน Instagram มองหา Micro-Community กลุ่มคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน
ขณะที่โซเชียลมีเดียกระแสหลักกลายเป็นสนามรบทางความคิด และแหล่งรวมความขัดแย้ง มาพร้อมค่านิยม “ยึดติดความสมบูรณ์แบบในโลกออนไลน์” กลุ่มคน Gen Z กำลังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยการหันไปใช้ “แอปงานอดิเรก” เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออกถึงตัวตนที่แท้จริง และเชื่อมโยงกับผู้อื่นที่มีความสนใจคล้ายกันมากยิ่งขึ้น
ปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงวิธีการใช้โซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อวิธีการสร้างความสัมพันธ์ การแสดงออกทางตัวตน และการใช้เวลาออนไลน์ของคนรุ่นใหม่
จาก ‘ทาวน์สแควร์ดิจิทัล’ สู่ ‘ไมโครคอมมูนิตี้’
พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียนั้นเปลี่ยนตามยุคสมัย ย้อนไปประมาณ 5-10 ปีที่แล้ว หากจะทำความรู้จักคนใหม่ๆ เพื่อนใหม่ หรือแม้กระทั่งการเดทบน Tinder การขอโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, Twitter และ Instagram ถือเป็นการสำรวจไลฟ์สไตล์ของบุคคลเหล่านั้นผ่านสื่อที่พวกเขาเล่น
หากแต่ปัจจุบันเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มคน Gen Z คนรุ่นนี้กำลังหันมาใช้ “แอปงานอดิเรก” มากขึ้น แทนที่จะพึ่งพาโซเชียลมีเดียกระแสหลักอย่างเดียว เราอาจพบว่าคนกลุ่มนี้แลกเปลี่ยนบัญชี Strava เพื่อชวนกันไปวิ่ง หรือแชร์โปรไฟล์ Letterboxd เพื่อพูดคุยเรื่องภาพยนตร์ที่ชื่นชอบ มากกว่าการคอมเมนต์หรือกดไลก์
อย่างไรก็ดี ตัวเลขการเติบโตของแอปเหล่านี้สะท้อนความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
- Strava: ผู้ใช้เพิ่มขึ้น 20% ในเวลาเพียงปีเดียว สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของการออกกำลังกายและการแบ่งปันผลงานออนไลน์
- Ravelry: เครือข่ายสำหรับคนรักงานถักทอ มีผู้ใช้ทะลุ 9 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงการรวมตัวของชุมชนที่มีความสนใจเฉพาะทาง
- Goodreads: แพลตฟอร์มสำหรับนักอ่าน มีสมาชิกมากกว่า 150 ล้านคน ชี้ให้เห็นว่าการอ่านยังคงเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยม และผู้คนต้องการพื้นที่ในการแบ่งปันประสบการณ์การอ่าน
- Letterboxd: แอปสำหรับคนรักหนัง เติบโตจาก 1.8 ล้านคนในปี 2020 เป็นกว่า 14 ล้านคนในปี 2024 สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงการระบาดของโควิด-19 และความต้องการแบ่งปันความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพยนตร์
ทำไม Gen Z จึงหันหลังให้โซเชียลมีเดียกระแสหลัก?
1) หลีกหนีความขัดแย้ง: Gen Z ที่เติบโตมาพร้อมกับโซเชียลมีเดีย ตระหนักดีถึงผลกระทบด้านลบ โดยเฉพาะความขัดแย้ง และการถกเถียงที่ไม่จบสิ้น แอปงานอดิเรกจึงกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่พวกเขาสามารถแสดงออกได้อย่างเป็นตัวของตัวเอง โดยไม่ต้องกังวลกับการวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงหรือการเผชิญหน้ากับความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างรุนแรง
2) ต้องการความเชื่อมโยงที่มีความหมาย: แทนที่จะเป็นเพียงการกดไลก์หรือแชร์โพสต์ทั่วไป แอปงานอดิเรกช่วยให้ Gen Z ได้พบปะผู้คนที่มีความสนใจคล้ายกัน นำไปสู่การสนทนาที่มีคุณภาพ และมิตรภาพที่ยั่งยืน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือบน Goodreads หรือการวิจารณ์ภาพยนตร์บน Letterboxd สร้างโอกาสในการเรียนรู้ และเติบโตร่วมกัน
3) ลดการเสพติดโซเชียลมีเดีย: แอปงานอดิเรกช่วยให้ Gen Z ใช้เวลาออนไลน์อย่างมีเป้าหมายมากขึ้น แทนที่จะเลื่อนฟีดไปเรื่อยๆ พวกเขาสามารถใช้เวลาในการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ และพัฒนาตัวเองไปพร้อมกัน เช่น การบันทึกระยะทางวิ่งบน Strava ไม่เพียงแต่เป็นการแบ่งปันผลงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจในการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง
4) หลีกหนีจากอัลกอริทึมที่ครอบงำ: ในขณะที่แพลตฟอร์มใหญ่ๆ พยายามผลักดันเนื้อหาด้วยอัลกอริทึม Gen Z รู้สึกว่าพวกเขาสูญเสียการควบคุมว่าอยากเห็นอะไรบนฟีด แอปงานอดิเรกให้อิสระมากกว่าในการเลือกเนื้อหาที่ต้องการรับชม ทำให้รู้สึกเป็นเจ้าของประสบการณ์การใช้งานมากขึ้น ผู้ใช้สามารถเลือกติดตามเฉพาะผู้ที่มีรสนิยมคล้ายกันหรือค้นหาเนื้อหาที่ตรงกับความสนใจได้โดยตรง
5) แสวงหาพื้นที่แสดงตัวตนที่แท้จริง: แทนที่จะต้องนำเสนอ “ภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์แบบ” บน Instagram หรือ TikTok แอปงานอดิเรกเปิดโอกาสให้ Gen Z ได้แสดงตัวตนที่แท้จริงผ่านสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่อ่าน ภาพยนตร์ที่ดู หรือกิจกรรมที่ทำ การแสดงออกเช่นนี้สร้างความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง และลดความกดดันในการต้องรักษาภาพลักษณ์ออนไลน์
6) มองหาความสัมพันธ์แบบใหม่: แอปงานอดิเรกกำลังกลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับการหาเพื่อนหรือคู่ ด้วยบรรยากาศที่ผ่อนคลายกว่าแอปหาคู่โดยตรง Gen Z รู้สึกว่าการเริ่มต้นความสัมพันธ์จากความสนใจร่วมกันเป็นเรื่องที่ธรรมชาติ และมีความหมายมากกว่า การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือหรือภาพยนตร์สามารถนำไปสู่การสนทนาที่ลึกซึ้ง และการค้นพบคนที่มีมุมมองคล้ายคลึงกัน
7) ต้องการพื้นที่เฉพาะกลุ่มมากขึ้น: Gen Z ชื่นชอบการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนขนาดเล็กที่มีความสนใจเฉพาะทาง แอปงานอดิเรกตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้ดี โดยสร้าง “Micro Community” ที่ทำให้สมาชิกรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง และมีตัวตนมากกว่าการหายไปในมหาสมุทรของผู้ใช้บนแพลตฟอร์มใหญ่
ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโซเชียลมีเดีย และแอปหาคู่
1) ผลกระทบต่อ Match Group เจ้าของ Tinder ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ยอดการดาวน์โหลดแอปลดลง 12% ทั่วโลก นับเป็น 4 ไตรมาสติดต่อกัน ส่วนในไตรมาส 2 ผู้ใช้ที่จ่ายเงินของ Tinder ลดลง 8% หรือคิดเป็น 9.6 ล้านคน และต้องประกาศลดพนักงานลง 6% สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการหาคู่หรือหาเพื่อนของคนรุ่นใหม่
2) การปรับตัวของแพลตฟอร์มใหญ่ โซเชียลมีเดียกระแสหลักอย่าง Facebook และ Instagram เริ่มปรับกลยุทธ์โดยเพิ่มฟีเจอร์ที่เน้นการสร้างชุมชนขนาดเล็กมากขึ้น เช่น Facebook Groups หรือ Instagram Close Friends เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในการมีพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น
3) การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มทางเลือก ที่นอกจากแอปงานอดิเรกแล้ว ยังมีการเติบโตของแพลตฟอร์มทางเลือกอื่นๆ เช่น Discord ที่เน้นการสร้างชุมชนเฉพาะกลุ่ม หรือ BeReal ที่พยายามนำเสนอประสบการณ์โซเชียลมีเดียที่จริงใจ และไม่ปรุงแต่งมากขึ้น
4) การลงทุนในเทคโนโลยี AI และ Machine Learning บริษัทเทคโนโลยีเริ่มลงทุนมากขึ้นในการพัฒนาระบบ AI และ Machine Learning ที่สามารถสร้างประสบการณ์การใช้งานที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ที่หลากหลาย
5) การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมโฆษณา แอปงานอดิเรกส่งผลให้นักการตลาดต้องปรับกลยุทธ์ โดยหันมาเน้นการทำ Micro-Influencer Marketing และการโฆษณาที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น แทนการโฆษณาแบบกว้างบนแพลตฟอร์มใหญ่
บทสรุป: อนาคตของการเชื่อมต่อออนไลน์
ท้ายที่สุดแล้ว ปรากฏการณ์ Micro-Community บนแอปงานอดิเรกสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของ Gen Z ในการสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ การแสดงออกซึ่งตัวตนที่แท้จริง และการใช้เวลาออนไลน์อย่างมีความหมายมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นการต่อต้านผลกระทบด้านลบของโซเชียลมีเดียกระแสหลัก
แนวโน้มนี้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในภูมิทัศน์ของโซเชียลมีเดีย และอาจเปลี่ยนโฉมหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารในหลายด้าน
อ้างอิง: The Guardian , Reuters , BBC , VML , linkedin และ Adjust
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์