Gen Z รุ่นของคนวิตกกังวล? เกิดการเปรียบเทียบ ไม่หลับไม่นอน บ่มเพาะความเหงา

Gen Z รุ่นของคนวิตกกังวล? เกิดการเปรียบเทียบ ไม่หลับไม่นอน บ่มเพาะความเหงา

โซเชียลมีเดียทำให้ Gen Z เป็นรุ่นของคนขี้กังวล?! เกิดการเปรียบเทียบทางสังคม ไม่หลับไม่นอน บ่มเพาะความเหงา นักจิตวิทยาเผยวิธีลดความวิตกโดยไม่ต้องเลิกเล่นโซเชียล

Gen Z กลายเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อภาวะ “วิตกกังวล” มากกว่าคนรุ่นอื่นๆ จนถูกนิยามว่าเป็นเจนเนอเรชันของคนขี้กังวล (Anxious generation) ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่พวกเขาเติบโตมาในยุคสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดีย

เป็นเวลาเกือบ 20 ปีที่เราอยู่ในยุคของสมาร์ทโฟน พ่วงด้วยการเกิดขึ้นของสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลาย ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาหลายคนออกมาเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการ “ติดจอ” เสพสื่อโซเชียลทุกที่ทุกเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาว Gen Z วัยเยาว์ที่สมองยังอยู่ในช่วงพัฒนา ทั้งนี้ประชากรรุ่น Gen Z คือกลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2540-2555 หรือผู้ที่มีอายุ 12-27 ปี ณ ปี 2567 

อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบระดับความสุขของผู้คนแต่ละเจนเนอเรชันในสหรัฐ ตามรายงานของ Year’s World Happiness Report 2024 ซึ่งทีมวิจัยได้เก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2021-2023 พบว่า ประชากรชาวอเมริกันที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี มีระดับความสุขของพวกเขาต่ำกว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี

Gen Z รุ่นของคนวิตกกังวล? เกิดการเปรียบเทียบ ไม่หลับไม่นอน บ่มเพาะความเหงา

ติดเล่นโซเชียลแบบไม่พัก ทำให้ Gen Z เกิดการเปรียบเทียบทางสังคม นำไปสู่ภาวะวิตกกังวล

โจนาธาน ฮายด์ (Jonathan Haidt) นักจิตวิทยาสังคมจาก Stern School of Business แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า สมาร์ทโฟนที่เราใช้เพื่อเล่นสื่อโซเชียลกันอยู่ทุกวัน ทุกที่ ทุกเวลา เป็นตัวการหลักโดยตรงที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีความสุขลดลง 

อีกทั้งเขายังได้พูดถึงประเด็นนี้ในหนังสือเล่มใหม่ของเขา “The Anxious Generation: How the Great Rewiring of Childhood is Causing an Epidemic of Mental Illness” ไว้ด้วยว่า การเข้าถึงโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่องจากสมาร์ทโฟน ทำให้ประชากรรุ่น Gen Z เกิดการเปรียบเทียบทางสังคม การขาดการนอนหลับ และเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเหงา

อย่างไรก็ตาม มีนักวิจารณ์บางคนโต้แย้งว่าแนวคิดของหนังสือเล่มนี้เป็นการกล่าวโทษสมาร์ทโฟนนั้นเกินจริง และไม่มีหลักฐานรองรับอย่างเต็มที่

ขณะที่ แซค เราช์ (Zach Rausch) หัวหน้าทีมวิจัยและเป็นนักวิจัยร่วมที่ NYU-Stern School of Business อธิบายเพิ่มเติมว่า เด็กๆ รุ่น Gen Z ที่เข้าถึงโซเชียลมีเดียและสมาร์ทโฟนในช่วงชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น จะเกิดภาวะความวิตกกังวลมากกว่าคนรุ่นอื่น ทำให้ประสิทธิผลในการเรียนลดลง

“เป้าหมายของการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาก็คือ เราใช้มันเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ในทางกลับกัน ถ้าเราไม่ได้ใช้มันเพื่อทำประโยชน์ให้กับเราเป็นหลัก และปล่อยให้มันมีอิทธิพลกับชีวิตมากเกินไป ก็มีโอกาสที่มันจะกลืนกินเราแทน” เขากล่าว

Gen Z รุ่นของคนวิตกกังวล? เกิดการเปรียบเทียบ ไม่หลับไม่นอน บ่มเพาะความเหงา

3 คำแนะนำลดผลกระทบเชิงลบจากโซเชียลมีเดีย เริ่มจากต้องลดการติดจอให้ได้!

อย่างไรก็ตาม มีวิธีที่จะลดผลกระทบเชิงลบเหล่านี้ได้ นี่คือคำแนะนำ 3 ข้อที่เด็กๆ หรือผู้ปกครองสามารถทำได้ เพื่อถอยห่างจากหน้าจอสมาร์ทโฟนออกมาอีกสักหน่อย ปรับสมดุลการใช้งานมันเพื่อเพิ่มความสุขให้ชีวิต สร้างสมาธิ และมีสติกับสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น

1. ใช้นาฬิกาปลุกทดแทนการตั้งปลุกจากมือถือ

หลายคนรู้ดีว่าการติดหน้าจอก่อนเข้านอน หรือตื่นนอนมาพร้อมกับหยิบสมาร์ทโฟนเป็นสิ่งแรกนั้น ส่งผลเสียต่อการนอนหลับ และเพิ่มระดับความเครียดได้

ดังนั้น การปรับพฤติกรรมเล็กน้อยด้วยการวางมือถือให้ไกลมือก่อนเข้านอน (วางไว้นอกห้องนอนหรือโต๊ะที่ห่างจากเตียงนอน) ช่วยปรับปรุงการนอนหลับให้ดีขึ้นได้ ขณะเดียวกันสำหรับการตั้งนาฬิกาปลุกตอนเช้า แนะนำให้ซื้อนาฬิกาปลุกตั้งโต๊ะมาใช้แทนการตั้งปลุกจากมือถือ เพื่อสร้างระยะห่างทางกายภาพและทางจิตใจจากโซเชียลมีเดียได้

2. ใช้โทรศัพท์ของคุณเพื่อนัดเจอเพื่อนแบบพบปะกันจริงๆ บ้าง

แทบจะเป็นปกติที่ผู้คนยุคนนี้พูดคุยกันผ่านสื่อโซเชียล ไม่ว่าจะคุยผ่านการส่งข้อความ คุยด้วยการโทรผ่านแอปฯ ในโซเชียลมีเดีย หรือใช้ FaceTime คุยแบบเห็นหน้าไปด้วย ในแง่หนึ่งเทคโนโลยีนี้มีข้อดีคือช่วยให้ผู้คนเชื่อมต่อหากันได้แบบไร้พรมแดน แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อเสียคือ มันตัดทอนการพบปะกันและกันทางกายภาพ ตัดการเข้าสังคมของมนุษย์ ซึ่งนั่นทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกเหงามากกว่าคนรุ่นก่อนๆ 

“สมัยก่อนผู้คนใช้โทรศัพท์เพื่อคุยติดต่อสื่อสารกันสั้นๆ แต่เน้นนัดเจอหรือพบปะพูดคุยแบบตัวต่อตัว เมื่อเทียบกับโลกออนไลน์สมัยนี้ค่อนข้างตรงกันข้าม เราเชื่อมต่อกันได้ทุกที่ทุกเวลาแต่ตัวเรายังคงอยู่ห่างไกลกันเหมือนเดิม ซึ่งนั่นไม่เพียงพอกับการปฏิสัมพันธ์ทางสัมคมของมนุษย์” แซค เราช์ บอก

ลอรี ซานโตส (Laurie Santos) ศาสตราจารย์ด้านความสุข ผู้สอนหลักสูตร “The Science of Wellbeing” จากมหาวิทยาลัยเยล มีความเห็นสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน เธอบอกว่า งานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาเกี่ยวกับคนที่มีความสุข แสดงให้เห็นตรงกันว่า คนที่มีความสุขมักเข้าสังคมมากขึ้น ใช้เวลาอยู่กับคนอื่นๆ มากขึ้น ใช้เวลาอยู่กับเพื่อนและคนในครอบครัวมากขึ้น”

Gen Z รุ่นของคนวิตกกังวล? เกิดการเปรียบเทียบ ไม่หลับไม่นอน บ่มเพาะความเหงา

3. ปิดเสียงการแจ้งเตือนบ้าง โดยเฉพาะเวลาเรียน/ทำงาน ที่ต้องใช้สมาธิสูง

จากการศึกษาวิจัยในปี 2023 ซึ่งสำรวจวัยรุ่นอายุระหว่าง 11-17 ปี จำนวน 203 คน พบว่า วัยรุ่นได้รับการแจ้งเตือนผ่านสมาร์ทโฟนมากถึงวันละ 237 ครั้ง โดยเกือบหนึ่งในสี่หรือประมาณ 23% ของเด็กนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง พบว่าพวกเขายังคงเปิดการแจ้งเตือนแม้กระทั่งตอนอยู่ในโรงเรียน ซึ่งสิ่งนี้เป็นตัวการรบกวนสมาธิในการเรียนอย่างมาก ดังนั้น การปิดเสียงการแจ้งเตือนบ้างในระหว่างวัน สามารถช่วยให้มีสมาธิและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด

นักวิจัยจาก NYU เน้นย้ำว่า การกำจัดสมาร์ทโฟนหรือการงดเล่นโซเชียลไปเลย ไม่ใช่วิธีรักษาโรคซึมเศร้าหรือลดภาวะวิตกกังวล แต่การใช้โทรศัพท์อย่างมีสติมากขึ้นต่างหาก ที่ช่วยให้คนเราใช้ชีวิต ทำงาน เรียน หรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างสมดุลและมีความสุขมากขึ้น 

“ไม่ได้หมายความว่าเราต้องปฏิเสธเทคโนโลยีโดยสิ้นเชิง แต่เนื่องจากเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราอย่างรวดเร็ว เราจึงจำเป็นต้องหยุดและถอยมาสักก้าว แล้วคิดว่าเราต้องการให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเราอย่างไร เทคโนโลยีทำให้เรารู้สึกเติมเต็มหรือไม่ เทคโนโลยีช่วยให้เราเจริญรุ่งเรืองหรือไม่ เทคโนโลยีช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายหรือไม่ และหากไม่เป็นเช่นนั้น เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเปลี่ยนการใช้งานเทคโนโลยีให้เหมาะสมกว่าเดิม” นักวิจัยจาก NYU กล่าวทิ้งท้าย