Gen Z ทั่วโลกเกือบ 70% เลือกทำงานอิสระ บางคนไม่คิดจะสมัครงานประจำเลย
วัยทำงานชาว “Gen Z” จำนวนมากถึง 70% จากทั่วโลก หันหน้าไปหางานอิสระ หรือ 'ฟรีแลนซ์' มากกว่าจะมองหางานประจำในตลาดงาน
KEY
POINTS
- Gen Z เกือบ 70% จากทั่วโลก ชี้ว่า พวกเขาเลือกทำงานฟรีแลนซ์หรือวางแผนที่จะทำ บางคนบอกว่า “ไม่เคยคิดที่จะสมัครงานประจำเลย”
- เหตุผลที่พวกเขาส่วนใหญ่เลือกทำงานฟรีแลนซ์ คือต้องการความสะดวกสบายทางการเงิน, ทำงานได้จากทุกที่, อยากเป็นเจ้านายตัวเอง, อยากเกษียณก่อนกำหนด
- การก้าวเข้าสู่โลกการทำงานหลังการแพร่ระบาดโควิด ของชาว Gen Z พวกเขารู้สึกถึงความไม่แน่นอนมากขึ้น แต่การทำงานฟรีแลนซ์ทำให้พวกเขารู้สึกว่าควบคุมชีวิตตนเองได้
เมื่อพูดถึง “ตลาดงาน” กับวัยทำงานชาว “Gen Z” (ผู้ที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2540-2555 หรือผู้ที่มีอายุ 12-27 ปี) หลายคนคงทราบดีว่าประชากรรุ่นนี้กำลังก้าวเข้าสู่โลกการทำงานจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่งานในระบบตลาดงานหรืองานประจำ แต่พวกเขาหันหน้าไปหางานอิสระหรือการเป็นฟรีแลนซ์มากกว่า
จากการสำรวจด้านการวางแผนทำงานของชาวเจนซี ของ Fiverr (แพลตฟอร์มหางานและจ้างงานฟรีแลนซ์แห่งหนึ่ง) ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ทีมวิจัยได้สำรวจกลุ่มประชากรรุ่นนี้จำนวน 10,033 คนจากทั่วโลกพบว่า ในปัจจุบันคนรุ่น Gen Z ส่วนใหญ่ถึง 70% เลือกทำงานอิสระ (ฟรีแลนซ์) หรือวางแผนที่จะทำงานอิสระในอนาคต
พวกเขามองว่างานฟรีแลนซ์ เป็นงานที่บุคคลลงมือทำงานนั้นเพื่อตนเอง ไม่ใช่เพื่อบริษัทใดบริษัทหนึ่ง โดยมากกว่าครึ่งหรือ 53% ของวัยทำงานชาว Gen Z ทำงานฟรีแลนซ์แบบเต็มเวลา
นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจล่าสุดตามรายงาน Freelance Forward Report ของ Upwork ที่เผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ทำการสอบถามกลุ่ม Gen Z จำนวน 1,070 คน ก็พบผลการสำรวจชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ชาว Gen Z เป็นรุ่นที่มีแนวโน้มจะทำงานในลักษณะนี้มากที่สุด
สำหรับเหตุผลที่พวกเขาส่วนใหญ่เลือกทำงานฟรีแลนซ์มากกว่าการทำงานประจำในตลาดงาน ตามข้อมูลของ Fiverr ได้แก่
- 44% ต้องการความสะดวกสบายทางการเงิน
- 30% ต้องการเดินทางไปด้วยทำงานไปด้วย หรือทำงานได้จากทุกที่
- 25% ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง
- 20% ต้องการเกษียณก่อนกำหนด
ยุคนี้ความหลงใหลในบางสิ่ง สามารถเปลี่ยนเป็น ‘งาน’ ได้อย่างง่ายดาย
โซฟี รีเกล (Sophie Riegel) วัย 23 ปี ผู้ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Duke ในเดือนพฤษภาคม 2023 ด้วยปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา เธอทำกำไรจากการ “ขายเสื้อผ้ามือสอง” ทางออนไลน์ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เธอยังได้รับค่าจ้างจากการเป็นโค้ชส่วนตัวด้านสุขภาพจิต รวมถึงการขึ้นเวทีพูดในที่สาธารณะเกี่ยวกับสุขภาพจิตของ Gen Z อีกด้วย
รีเกล สามารถสร้างรายได้สูงถึงหกหลักต่อปี จากการค้าขายเสื้อผ้ามือสองออนไลน์ของเธอเพียงอย่างเดียว หลังจากที่เรียนจบ เธอเล่าว่า ตนเองไม่เคยคิดที่จะสมัครงานประจำหรืองานในระบบตลาดงาน
“การสมัครงานประจำเป็นความคิดที่แปลกสำหรับฉัน ฉันไม่มีแม้กระทั่งเรซูเม่เลย ฉันเชื่อว่าสำหรับคนรุ่น Gen Z จำนวนมาก ความดึงดูดใจในการทำงานอิสระมาจากการได้ทำสิ่งที่พวกเขารัก ซึ่งความหลงใหลนั้นสามารถเปลี่ยนเป็นงานได้อย่างง่ายดาย และฉันคิดว่าผู้คนเริ่มตระหนักว่าพวกเขาสามารถควบคุมชีวิตของตนเองได้ในแบบที่พวกเขาไม่เคยคิดว่าจะทำได้มาก่อน” เธอกล่าว
Gen Z ซาบซึ้งกับคุณค่าเรื่องเวลาของพวกเขาอย่างแท้จริง
อีกหนึ่งความเห็นของชาว Gen Z อย่าง ฮาร์ลาน แรปพาพอร์ต (Harlan Rappaport) อายุ 25 ปีซึ่งอาศัยอยู่ในนิวยอร์ก มองว่า ข้อดีของงานฟรีแลนซ์คือความสามารถในการสร้างตารางงานของตัวเองได้
แรปพาพอร์ตเริ่มทำงานด้านการตลาดทางอีเมลให้กับบริษัทจัดหารอยสักของเพื่อนบ้านในปี 2559 (ขณะนั้นเขาเพิ่งเรียนระดับอุดมศึกษา) และตระหนักว่าเขาอาจขยายฐานลูกค้าได้ ต่อมาในปี 2563 ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนในสาขาบริหารธุรกิจ เขาเริ่มหาลูกค้าได้เพิ่มบนแพลตฟอร์ม Fiverr ในปีนั้นเขายังเริ่มทำงานประจำเต็มเวลาในด้านการจัดการสินทรัพย์ แต่ยังคงทำงานฟรีแลนซ์เสริมที่ Fiverr ในเวลาว่าง แต่ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 เขาลาออกจากงานไปทำงานอิสระเต็มเวลา
ตอนนี้เขาทำงานอิสระทั้งบนแพลตฟอร์ม Fiverr และแพลตฟอร์ม Upwork งานของเขาใน Fiverr เพียงอย่างเดียวสร้างรายได้ประมาณ 15,000 ดอลลาร์ในเดือนเมษายนปีนี้
“ผมรู้สึกซาบซึ้งในคุณค่าของเวลาและสามารถควบคุมมันได้ ผมทำงานสักสองสามชั่วโมงในตอนเช้าแล้วพักช่วงเที่ยงวันยาวๆ บางวันผมจะทำงานตอนกลางคืน และบางวันก็หยุดงานได้ตามต้องการ หลังการแพร่ระบาดผู้คนเริ่มตั้งคำถามถึงสถานะปัจจุบันของการมาทำงานในสำนักงานในรูปแบบ 5 วันต่อสัปดาห์ วันละ 8 ชั่วโมง แทนที่จะสร้างตารางเวลาของตัวเองขึ้นมา” เขากล่าว
งานฟรีแลนซ์มาพร้อมกับอิสรภาพมากมาย
ขณะที่ เคท บรูนอตต์ (Kate Brunotts) นักเขียนอิสระและโปรดิวเซอร์เพลงจากนิวยอร์ก วัย 24 ปี กล่าวว่า เธอคิดว่าผู้คนจำนวนมากในวัยเดียวกันกับเธอ หรือผู้ที่เพิ่งจะเรียนจบใหม่ๆ ได้ก้าวเข้าสู่โลกการทำงานหลังการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งทำให้รู้สึกถึงความไม่แน่นอนมากขึ้นกว่าเดิม ในบรรดาคนรุ่นเดียวกันหลายๆ คน พูดตรงกันว่า การดำดิ่งสู่โลกแห่งงานฟรีแลนซ์ถือเป็นการทำงานที่พวกเขาสามารถควบคุมชีวิตตนเองได้
บรูนอตต์ ทำงานด้านโปรดิวซ์เพลงให้ลูกค้าที่แตกต่างกันประมาณ 8 ราย ซึ่งเธอสร้างเนื้อหาที่หลากหลาย ตั้งแต่การผลิตเสียงไปจนถึงการเขียน โดยรวมแล้วงานอิสระของเธอทำรายได้ประมาณ 57,000 ดอลลาร์ในปี 2023 และมีลูกค้ากลุ่มนี้ที่เป็นส่วนหนึ่งของการงานที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ
เธอไม่ได้พึ่งพาลูกค้าเพียงรายเดียวในการดำรงชีวิต คนทำฟรีแลนซ์จะต้องขยันหางานหาลูกค้าให้ได้จำนวนไม่น้อย เพื่อที่จะสร้างรายได้ให้พอเลี้ยงตัวเอง เธอบอกว่างานฟรีแลนซ์มาพร้อมกับความท้าทายบางอย่างอย่างแน่นอน แต่มันก็มาพร้อมกับอิสรภาพมากมายเช่นกัน
“การที่วัยทำงานสามารถควบคุมเวลางานของตัวเองได้ นั่นเป็นจุดเด่นสำคัญที่สุดที่งานฟรีแลนซ์มอบให้ ซึ่งนั่นดึงดูดใจวัยทำงานรุ่นใหม่หลายคนรวมถึงตัวฉันเองด้วย” บรูนอตต์ กล่าวในที่สุด